ศักดิ์สยาม ให้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าพบ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง และสร้างโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทยและคณะเข้าพบ เพื่อหารือประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง ระหว่างไทย - กัมพูชา - เวียดนาม และการขอเพิ่มจำนวนเครื่องบิน (Fleet Application) ของสายการบินเวียดเจ็ท แอร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เข้าร่วมการหารือ ในวันที่ 16 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเทศไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาช้านานในหลายระดับทั้งทางด้านการค้าการลงทุน และด้านการคมนาคมขนส่ง แม้ว่าจะไม่มีพรมแดนที่ติดกัน แต่มีการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และมีการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศในปริมาณมาก ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับเวียดนามจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งกระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการคมนาคมขนส่ง โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงาน คือ “พัฒนาระบบขนส่งอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” รวมถึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทุกรูปแบบการขนส่ง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งดังนี้

1.การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก ด้วยการแพร่ระบาดของโรค Covid -19 ทำให้การคมนาคมหยุดชะงักลง ซึ่งในปัจจุบันเวียดนามได้เปิดประเทศแล้ว ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยและเวียดนามจะกลับมาพัฒนาความร่วมมือด้านคมนาคมทางบกต่อไปโดยทางกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะดำเนินการทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ทั้งการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนมพร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงด้านการคมนาคมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS และภูมิภาค ASEAN ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่าการผลักดันพัฒนาพิธีการศุลกากรให้เป็นมาตรฐานเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกของรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาการขนส่งทางบกให้มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

2.การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง (Coastal Shipping) ระหว่างไทย - กัมพูชา - เวียดนาม ฝ่ายเวียดนามได้ประสงค์ให้มีการขยายเส้นทางการเดินเรือจากเกาะฟูก๊วก (เวียดนาม) มาถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งการส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่งดังกล่าว เป็นความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีไทยและเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมสามฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการเดินเรือชายฝั่ง และได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่ายไปแล้ว 4 ครั้ง โดยที่ประชุมฯ ได้กำหนดเส้นทางการขนส่งและการท่องเที่ยวเบื้องต้นในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ คือ เส้นทางคลองใหญ่ (ไทย) - สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) - กัมปอต (กัมพูชา) - ฮาเตียน (เวียดนาม) - ฟูก๊วก (เวียดนาม) โดยระยะแรกการเดินเรือขนส่งชายฝั่งจะเข้าเทียบท่าเฉพาะท่าเรือขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคตะวันออกของไทย ภาคใต้ของกัมพูชา และภาคใต้ของเวียดนาม เพื่อเปิดโอกาสให้เรือขนาดเล็กสามารถขยายเส้นทางการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อันจะช่วยพัฒนามิติการการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทางฝ่ายไทยมีความพร้อมที่จะร่วมประชุมคณะทำงานร่วสามฝ่าย ครั้งที่ 5 ผ่านทางระบบการประชุมทางไกล เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางการเดินเรืออย่างเป็นรูปธรรม

3.ความร่วมมือด้านการบิน ไทยและเวียดนามเป็นประเทศสมาชิกตามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศ และความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ซึ่งกำหนดให้สายการบินที่ได้รับการจัดสรรสิทธิการบินและได้รับการแต่งตั้งเป็นสายการบินที่กำหนดของไทยภายใต้ความตกลงดังกล่าวแล้ว สามารถทำการบินตามสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3, 4 และ 5 อย่างไม่จำกัด ซึ่งสายการบินเวียตเจ็ท แอร์ ได้เสนอขอเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่จะทำการบินมายังประเทศไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนและเมื่อเรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย

กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR - Map) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย นอกจากจะเป็นโครงข่ายคมนาคมสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและเชื่อมโยงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเป็นการบูรณาการที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาการจราจรและการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเจริญเติบโตของภูมิภาคอย่างเป็นระบบ รวมถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยหรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างภูมิภาคอย่างครบถ้วน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลพร้อมดูแลช่วงปีใหม่มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง

'ศศิกานต์' ย้ำรัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนช่วงปีใหม่ 2568 มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง คาดปริมาณการจราจรเข้า - ออกกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาล 17.37 ล้านคัน

’เจือ ราชสีห์‘ ลุยต่อ! ยื่นหนังสือเร่งโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

ที่กระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่าง อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา