วว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย ด้วย วทน.

การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4  สาขายุทธศาสตร์ คือ 1. เกษตรและอาหาร  2. สุขภาพและการแพทย์  3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยรัฐบาลกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG  พ.ศ. 2564-2569  ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1  สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ  ด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2  การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง  ด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3  ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

ยุทธศาสตร์ที่ 4  เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก  เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ  มีภารกิจสำคัญในการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.)  ปัจจุบันดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 60  ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  โดยนำนโยบายเศรษฐกิจ  BCG   เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของ วว. ประสบผลสำเร็จในการผลิตผลงาน ดังนี้

โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล   สนับสนุนทุนวิจัยจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้โครงการตาม พ.ร.ก. กู้เงิน  1 ล้านล้านบาท  ดำเนินงานจำนวน  2  โครงการ คือ

โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM)   เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000  ชนิด  สร้างผู้ประกอบการได้  41  ราย  ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30%  ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  380  ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม 110  ล้านบาท   ประสบผลสำเร็จ  ดังนี้  1)  ขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ 25,000 ลิตรต่อปี  2) พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่โดดเด่น 15 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกกับ อย.  จำนวน 8 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน 7 สายพันธุ์  3) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมโพรไบโอติก  ได้แก่  ไอศกรีม  นมอัดเม็ด ปลาร้าผง  น้ำพริกพร้อมทาน เครื่องดื่มชงเย็น  jelly  และอาหารเสริมสูตรฟังก์ชั่นสำหรับลดน้ำหนัก  สร้างภูมิคุ้มกัน  ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน  กระตุ้นการทำงานของสมอง และปรับสมดุลร่างกาย  4) พัฒนานวัตกรรมการยืด Shelf  life ของโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ   5) นวัตกรรมลดต้นทุนการผลิตโพรไบโอติกเพื่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ   และ 6) นวัตกรรม synbiotics และ post-biotics  เพื่อเสริมภูมิสุขภาพและป้องกันโรค NCDs

โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล  ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวน  370   ล้านบาท  ดังนี้  1) ผลิตสารชีวภัณฑ์จำนวน  5  สายพันธุ์   นำไปสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด”  รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการและลดการนำเข้าสารเคมี  โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  นครปฐม  และอยุธยา ครอบคลุม   4  กลุ่มพืชเศรษฐกิจ  ได้แก่   ไม้ผล  พืชไร่ (ข้าว  อ้อย  มันสำปะหลัง)  พืชสมุนไพรและพืชผัก    2) พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน  3) จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร (Innovative  Center  for  Production  of   Microorganisms  Used  in Agro- Processing Industry, ICAP) มีกำลังการผลิต  115,000  ลิตรต่อปี

นอกจากนี้ วว. ยังประสบผลสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ในสาขาอื่นๆ ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นรูปธรรม  ดังนี้ 

โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.   สนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ  พร้อมทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ นำร่องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลยและลำปาง  สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน  6  กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า  90  ล้านบาทต่อปี

โครงสร้างพื้นฐานธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน   (Community  Seed  Bank)   ณ สถานีวิจัยลำตะคอง  จังหวัดนครราชสีมา  มีศักยภาพอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช  20-50  ปี  เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพืชสูงสุด 10,000 ตัวอย่าง  มุ่งขับเคลื่อน  3  มิติ   คือ  สำรวจ-อนุรักษ์  วิจัย-นำไปใช้ประโยชน์และให้บริการชุมชน

 โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย   ประสบผลสำเร็จพัฒนาและทดสอบ  “ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า”  มีคุณสมบัติเด่นช่วยต้านอนุมูลอิสระ  สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  พร้อมต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพร “ชาใบข้าว”   เพื่อสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดด้านบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและลดความสูญเสียสินค้า  รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน   เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้า

โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ  ประสบผลสำเร็จพัฒนานวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “น้ำตาลพาลาทีน” ให้แก่ บริษัทน้ำตาลราชบุรี  โดยมีกำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และมีแผนการส่งออกในอนาคต

โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพของไทยระดับห้องปฏิบัติการ  โดยร่วมกับบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำหรับผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่นสู่เชิงพาณิชย์ (Plant  Based  Meat) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม

โครงการพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น  โดยการทดสอบคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตรีผลา มีมูลค่าการตลาด  50 ล้านบาทต่อปี และส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากทรัพยากรภายในประเทศ

โครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ    (การสกัดแยกกลิ่นและศึกษา Male Pheromone จากขนแพะเหลือทิ้ง)  สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนานวัตกรรมการสกัดขนแพะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์มีกลิ่นเฉพาะตัว  โดดเด่น  และลอกเลียนแบบยาก  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต  เป็นการส่งเสริมนโยบาย BCG  ในการเป็น Circular  Economy  ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ มีคุณค่า

โครงการพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง  เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยและลดการนำเข้าเมทานอล 100%  โดย บริษัท BLCP นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน ณ ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย  จังหวัดสระบุรี ภายใต้ “ตาลเดี่ยวโมเดล”  เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี  ชลบุรี  เชียงราย และหนองคาย  สร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10  ล้านบาทต่อปี พร้อมมุ่งขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

การดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของ วว. ดังกล่าว เป็นผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมและนำไปใช้จริงทั้งในบริบทเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม  มุ่งมั่นขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและมุ่งวิจัยพัฒนาผลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศไทย

วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  โทร. 0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์  www.tistr.or.th  อีเมล  : [email protected]  line@TISTR  IG : tistr_ig

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทรวง อว. - บพค. จัดงานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2024 ภายใต้แนวคิด “Unlocking the Potential of Ignite Thailand: ปลดล็อกศักยภาพคนไทยจุดประกายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

“ศุภมาส” จัดเต็ม ! ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขนทัพมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศรวมไว้ในที่เดียว พร้อมเปิดงาน One Stop Open House 2024 มหกรรมการศึกษาครั้งยิ่งใหญ่

วันที่ 27 พ.ย.67 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “One Stop Open House 2024”

เดินหน้าต่อเนื่อง! "ศุภมาส" ประกาศจัดงาน "One Stop Open House 2024" สานต่อความสำเร็จของ "อว.แฟร์"

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวประกาศความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของการจัด งาน "อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมประกาศการเตรียมจัดงาน "One Stop Open House 2024" ภายใต้แนวคิด "อนาคตของคุณเริ่มต้นที่นี่:

อว.หนุนเต็มที่ ! "ศุภชัย" เปิดประชุมนานาชาติด้านชีววิทยาสังเคราะห์ SynBio Consortium 2024

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี

ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !

ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง