ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 มีการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563’ ที่ตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง การพัฒนาคุณภาพชีวิต เวทีวิชาการ การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวละว้า การจำหน่ายสินค้าชุมชน ฯลฯ
ที่สำคัญ คือ การ ‘kick off’ ซ่อม-สร้างบ้านมั่นคงชนบทหลังแรกในตำบลห้วยขมิ้นให้กับชาวบ้านที่มีรายได้น้อยสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม โดยมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ และผู้ว่าราชการ จ.สพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ให้เกียรติเป็นประธาน มีเป้าหมายซ่อมสร้างบ้านเรือนให้กับครอบครัวที่ยากจนจำนวน 269 หลัง โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณไม่เกินหลังละ 40,000 บาท
ผ่านไป 1 ปี การซ่อมสร้างบ้านเรือนเสร็จไปแล้วเกือบ 200 หลัง ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่แข็งแรงมั่นคงขึ้น บางหลังเจ้าของบ้านควักทุนเพิ่มสร้างใหม่ทั้งหลัง ทำให้ได้บ้านใหม่ที่สวยงามน่าอยู่ และไม่เพียงแต่จะชาวห้วยขมิ้นจะได้บ้านใหม่เท่านั้น พวกเขายังได้เพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย การทำงานเป็นกลุ่ม การแก้ไขปัญหาต่างๆ และยังร่วมกันจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยขึ้นมา มีเงินกองทุนเกือบ 300,000 บาท
ตัวตนคนห้วยขมิ้น
อำเภอด่านช้างตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตถือเป็นตำบลที่ไกลปืนเที่ยง หนทางทุรกันดาร พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา มีสัตว์ป่าต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย โดยเฉพาะโขลงช้างป่าที่มักจะลงมากินน้ำในลำห้วยกระเสียว พวกมันเดินย่ำจนเป็นเส้นทางหรือเป็น ‘ด่านช้าง’ ภายหลังเมื่อมีการตั้งบ้านเรือนจึงตั้งชื่อตามนั้น ต่อมาจึงยกฐานะเป็นตำบลและกิ่งอำเภอ และเป็นอำเภอในปี 2524
ประชากรดั้งเดิมแถบนี้เป็นชาวกะเหรี่ยงและ ‘ละว้า’ ดังปรากฏในนิราศสุพรรณบุรีที่สุนทรภู่กวีเอกแต่งราวปี พ.ศ. 2379 (สมัยรัชกาลที่ 2 หรือเมื่อ 185 ปีก่อน) เมื่อครั้งเดินป่ามาเมืองสุพรรรณบุรีเพื่อหาแร่ธาตุ (เพื่อนำไป ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ หรือหาปรอทเพื่อเอาไปทำเป็นทองคำตามความเชื่อโบราณ) โดยมีชาวกะเหรี่ยงนำทางบุกป่าฝ่าดงเข้าเขตแดนชาวละว้า ดังนิราศตอนหนึ่งว่า.....
“เกรี่ยงเราเป่าหลอดโหล้ง โหว่งดัง
สำเหนียกเรียกรว้าฟัง ฝ่ายบ้าน
ข้างเขาเป่ารับรวัง วิเวกโร่ โหร่แฮ
รู้ชัดลัดเข้าหญ้าน หย่อมลว้ามาคอย”
(เกรี่ยง = กะเหรี่ยง, รว้า ลว้า = ละว้า, หญ้าน = ย่าน)
นอกจากนี้ยังมีชาวลาวครั่งที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนเข้ามาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่จะตั้งรกรากอยู่ในภาคกลางหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม ฯลฯ
ส่วนตำบลห้วยขมิ้น ประชากรปัจจุบันมีประมาณ 9,400 คน มีทั้งคนสุพรรณบุรี อุทัยธานี ชาวอีสานที่อพยพเข้ามาเพื่อบุกเบิกที่ดินทำกินเมื่อ 30-40 ปีก่อน มีชาวลาวครั่ง และชาวละว้าซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่เหลือเชื้อสายละว้าแท้ๆ ไม่กี่ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะแต่งงานผสมปนเปกันกลายเป็นลูกครึ่ง เช่น ละว้า-ลาวครั่ง ละว้า-อีสาน ละว้า-สุพรรณฯ
อาชีพส่วนใหญ่ของชาวห้วยขมิ้น คือ ปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง หมาก เลี้ยงแพะ วัว รับจ้างทำงานในไร่ ฯลฯ ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางจนถึงยากจน เนื่องจากราคาพืชไร่ตกต่ำหรือไม่เคยขยับขึ้น (โดยเฉพาะหัวมันสำปะหลัง ตลอด 30-40 ปีจนถึงปัจจุบัน ราคายังไม่เคยถึง 3 บาท/ กก.) ขณะที่ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้นตลอด
สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ปลูกสร้างมานานมีสภาพทรุดโทรม เพราะไม่มีเงินซ่อมแซม ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ อิฐบล็อค มุงหลังคาด้วยสังกะสี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย บางส่วนอยู่ในที่ดินป่าไม้ เขตทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติพุเตย ที่ดินนิคมสร้างตนเองกระเสียว กรมชลประทาน รวมทั้งที่ดิน สปก.
“BOQ หรือบาร์บีคิว อีหยังวะ ? ”
สมพร สาลีอ่อน ประธานโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น เล่าว่า จากสภาพปัญหาความยากจน บ้านเรือนทรุดโทรม นายก อบต.ห้วยขมิ้นที่รู้ข่าวว่ามีโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง ซึ่ง พอช.สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย บ้านเรือนทรุดโทรม (ดำเนินการในปี 2562 จำนวน 318 ครัวเรือน) จึงได้พากำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลห้วยขมิ้นไปดูตัวอย่างเพื่อศึกษาโครงการในช่วงปลายปี 2562 หลังจากนั้นจึงกลับมาปรึกษาหารือกันเพื่อเตรียมจัดทำโครงการ มีตัวแทนแต่ละหมู่บ้านร่วมเป็นคณะทำงาน
“เมื่อตกลงกันว่าจะทำโครงการบ้านมั่นคงเหมือนที่ตำบลกระเสียว เราจึงให้ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านสำรวจข้อมูลครอบครัวที่มีฐานะยากจน อาชีพ รายได้ หนี้สิน สภาพบ้านเรือน รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ใช้เวลาสำรวจประมาณ 1 เดือนจึงได้ข้อมูลทั้งตำบล พบครอบครัวผู้ที่มีความเดือดร้อนทั้งหมด 269 ครัวเรือน จากทั้งหมด 16 หมู่บ้าน” สมพรบอกความเป็นมา
ประมาณเดือนมีนาคม 2563 โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีการจัดประชุมประชาคมตำบล โดยเชิญครอบครัวที่เดือดร้อนทั้ง 269 ครัวเรือนมาประชุม มีผู้แทนหน่วยงานเจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยเข้าร่วมประชุม เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินสุพรรณบุรี (ที่ดิน ส.ป.ก.) ป่าไม้ อุทยานฯ นิคมสร้างตนเองกระเสียว ฯลฯ เพื่อให้อนุญาต
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดสุพรรณบุรีในฐานะพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วม มีเจ้าหน้าที่ พอช.มาชี้แจง สร้างความเข้าใจ กระบวนการ ขั้นตอนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโครงการ ฯลฯ
หลังจากนั้น พอช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่และสถาปนิกชุมชนเข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการถอดแบบการก่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน เรียกสั้นๆ ว่า “BoQ” (Bill of Quantities) เพื่อถอดแบบว่า บ้านหลังนี้จะต้องซ่อมแซมอะไรบ้าง ใช้วัสดุอะไร จำนวนเท่าไหร่ แล้วนำรายการทั้งหมดมาคำนวณกับราคาจำหน่ายวัสดุ เพื่อให้ได้ราคาหรืองบประมาณในการสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ไม่รวมค่าแรง
“เจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาสอนเรื่องการถอดแบบบ้านหรือบีโอคิว (BoQ) ประมาณ 3-4 ครั้งจนชาวบ้านเข้าใจ ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยรู้หรอกว่าบีโอคิวคืออะไร แม้แต่คนที่เป็นช่างก่อสร้างในหมู่บ้านก็ยังไม่รู้จัก บางคนยังนึกว่า พอช.จะมาสอนทำบาร์บีคิวขาย พวกปิ้งๆ ย่างๆ เหมือนในโฆษณา แต่ตอนนี้ทำบีโอคิวเป็นกันแล้ว” สมพรบอก
การถอดแบบ BoQ ทำให้รู้งบประมาณซ่อมแซมบ้านแต่ละหลัง หรือบางหลังที่ผุพัง ทรุดโทรม เพราะก่อสร้างมานาน ปลวกกิน สังกะสีผุกร่อน หากรื้อก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องก่อสร้างใหม่ โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณตามราคาวัสดุที่ต้องใช้จริง และจำเป็นจริง (ซ่อมเพื่อความสวยงามจะไม่ได้รับการอนุมัติ) แต่ไม่เกินหลังละ 40,000 บาท หากเกินกว่านั้นเจ้าของบ้านจะต้องสมทบเงินซื้อวัสดุเอง รวมทั้งหาแรงงานหรือเพื่อนบ้านมาช่วยกันซ่อม-สร้าง โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีช่างชุมชนมาช่วยถอดแบบหมู่บ้านละ 2 คน
โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณซ่อม-สร้าง เฉลี่ยหลังละ 8,000-40,000 บาท (ไม่ได้ให้เป็นเงินสด ใช้วิธีจัดซื้อวัสดุก่อสร้างร่วมกัน) จำนวน 269 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งหมด 7,867,031 บาท เริ่มก่อสร้างบ้านหลังแรกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ขณะนี้ (ตุลาคม 2564) ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว 199 หลัง ส่วนที่เหลืออีก 70 หลังจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2565
ลุงแสวง รังสิมากูล อายุ 67 ปี อยู่หมู่ที่ 10 กับภรรยา มีที่ดิน 1 ไร่ มีอาชีพทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงกบ และปลาในบ่อ พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ไม่มีเงินที่จะซ่อมแซมบ้าน สภาพบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียว หลังคาสังกะสีและกระเบื้อง ปลูกสร้างมานานหลายสิบปี สภาพทรุดโทรม เพราะกระเบื้องมุงหลังคาหลังแตกร้าว สังกะสีผุ ทำให้น้ำฝนสาดเข้ามา นานวันเข้าจึงทำให้โครงสร้างหลังคาที่ทำด้วยไม้ผุพัง เวลาฝนตกต้องเอาถัง เอากะละมังมารอง ไม่ให้ฝนสาดเปียกข้าวของในบ้าน
“ผมได้งบซ่อมบ้านจาก พอช.เกือบ 40,000 บาท แต่ยังไม่พอ เพราะต้องรื้อและซ่อมหลังคาใหม่ ต้องกู้เงินมาอีก 20,000 บาท แต่ก็ทำให้ดีขึ้น เวลาฝนตกก็นอนหลับสบาย ไม่ต้องนอนแช่น้ำฝนเหมือนเมื่อก่อน” ลุงแสวงบอก
สิ่งที่ได้มากกว่าบ้าน
โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นเป็นตัวอย่างของการพัฒนาชุมชนร่วมกันทั้งตำบล และเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน จากเดิมที่ชาวบ้านแต่ละหมู่จะทำกิจกรรมเฉพาะหมู่ของตนเอง (ส่วนใหญ่เป็นงานบุญประเพณี หรือทางการสั่งให้ทำ) ทำให้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกัน มองเห็นปัญหาและโอกาสในการพัฒนาทั้งตำบล
พานิช โรจน์บุญ เลขานุการโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น บอกว่า เมื่อก่อนเธอเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 ทำงานเฉพาะในหมู่บ้าน เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงฯ มีการจัดตั้งคณะกรรมการโครงการขึ้นมา มีตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คนเป็นคณะทำงาน รวม 20 คน จึงได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน มีการแบ่งคณะกรรมการออกเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายสืบราคาวัสดุก่อสร้าง มีฝ่ายจัดซื้อเพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณภาพและประหยัดงบ ฝ่ายตรวจสอบ จัดทำเอกสาร บัญชี เบิกจ่าย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจรับโครงการที่มาจากเครือข่ายบ้านมั่นคง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.สุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่ พอช. เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส เป็นไปตามแผนงาน ได้คุณภาพ และสามารถตรวจสอบได้
“เมื่อก่อนไม่เคยทำบัญชี ไม่เคยรู้เรื่อง BoQ แต่ตอนนี้ทำเป็นแล้ว และได้ทำงานพัฒนาทั้งตำบล แม้ว่าจะเหนื่อย แต่เมื่อได้เห็นชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็รู้สึกภูมิใจ หายเหนื่อย” เธอบอก
นอกจากนี้การจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นยังทำให้เกิดกองทุนขึ้นในตำบลด้วย โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีข้อตกลงร่วมกัน คือ 1.จัดตั้งกองทุนเงินออมบ้านมั่นคง โดยให้สมาชิกทั้ง 269 ราย ออมเงินร่วมกันรายละ 50 บาท/ เดือน ปัจจุบันมีเงินรวมกันออมประมาณ 208,000 บาท (หลังจาก 3 ปี อาจนำมาให้สมาชิกกู้ยืมหรือช่วยเหลือสมาชิกตามความจำเป็น)
2.กองทุนหมุนเวียน โดยให้สมาชิกที่ได้รับการช่วยเหลือทั้ง 269 ราย ออมเงินเข้ากองทุนจำนวน 10 % ของเงินที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อม-สร้างบ้าน เช่น ได้รับเงินช่วยเหลือ 40,000 บาท จะต้องออมเงินเข้ากองทุน 4,000 บาท ภายในระยะเวลา 3 ปี (ถ้าออมเดือนละ 200 บาทจะครบ 4,000 บาทภายในเวลา 20 เดือน) ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 88,000 บาท (หลังจากครบ 3 ปี จะนำมาช่วยเหลือสมาชิกในการซ่อม-สร้างบ้าน หรือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป)
ก้าวต่อไปของคนห้วยขมิ้น
เกรียงไกร ธรรมสิทธิ คณะกรรมการ หมู่ที่ 4 บอกว่า การทำงานโครงการบ้านมั่นคงทำให้มองเห็นว่าตำบลของเรายังสามารถพัฒนาเรื่องต่างๆ ได้อีกเยอะ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่แบบ ‘โคก หนอง นา’ เพราะชาวบ้านห้วยขมิ้นส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย ถ้าทำแบบโคกหนองนา คือ ขุดบ่อ สร้างแหล่งน้ำ เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ ปลูกผักสวนครัว สมุนไพร ผลไม้ ปลูกข้าว ฯลฯ ก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ พึ่งพาตัวเองได้
“นอกจากนี้ตำบลของเราอยู่ติดกับเขื่อนกระเสียว มีแหล่งปลา สามารถเอามาแปรรูป เป็นปลาส้ม ปราร้า ปลาแห้ง มีหน่อไม้ รวมทั้งยังมีผ้าทอของชาวละว้า เอามาทำเป็นสินค้า ทำตลาดชุมชนได้ ตอนนี้ผมกำลังทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนจาก อบต.เพื่อเอามาทำเรื่องนี้” เกรียงไกรบอกถึงแผนพัฒนาชุมชนต่อไป
ขณะที่ สมพร สาลีอ่อน ประธานโครงการบอกว่า หากการซ่อมสร้างบ้านเสร็จหมดทั้ง 269 ครัวเรือนแล้ว คณะกรรมการก็จะพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดิน การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีแผนงานต่างๆ ดังนี้
การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 1.สำรวจข้อมูลที่ดินและที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมและพัฒนาข้อมูลให้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 2.หนุนเสริม สนับสนุน เพื่อให้มีติดตามผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและรายได้เพิ่ม 1.รวบรวมข้อมูลกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล 2.ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน (แปรรูปปลา หน่อไม้ ปลูกอ้อย-น้ำตาลอินทรีย์ ผ้าทอละว้า ลาวครั่ง ฯลฯ) 3.ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เพื่อลดการใช้สารเคมี
การท่องเที่ยวโดยชุมชน 1.ประชุมวิเคราะห์แลกเปลี่ยน สถานการณ์ จุดท่องเที่ยวของแต่ละหมู่บ้าน และแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 2.จัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงแผนกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง 3.การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ในชุมชน เพื่อให้มีส่วนร่วมการท่องเที่ยวคู่กับการอนุรักษ์ชุมชน
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.รวบรวมและจัดทำข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาจิตอาสา โดยให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าชุมชนเป็นคณะทำงานในระดับชุมชน 3.ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน เช่น พัฒนาพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียว และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในการจัดหาพันธุ์ไม้มาปลูกในพื้นที่ป่าชุมชน ที่สาธารณะหมู่บ้าน ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างก้าวย่างการพัฒนาของชาวตำบลห้วยขมิ้น จากเดิมที่ไม่เคยร่วมกันทำงานพัฒนาทั้งตำบล ค่อยๆ เรียนรู้ สร้างสมประสบการณ์จากการทำงาน เริ่มต้นจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่การสร้างกองทุนในตำบล และเตรียมขยับแผนสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งตำบล เป็นการสร้างบ้านที่ได้มากกว่าบ้านจริงๆ !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ