ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความยั่งยืน

ความพยายามในการประหยัดพลังงานระดับครัวเรือนนั้นเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการกระตุ้นจิตสำนึกต่อประชาชนสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ภาคส่วนที่จะส่งเสริมให้การประหยัดพลังงานเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม กลับกลายเป็นภาคอุตสาหกรรม เพราะเป็นภาคส่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าต่อปีจำนวนมหาศาล จนกระทั่งเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมมีมากน้อยเพียงใด

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นในกระบวนการทางอุตสาหกรรม การขนส่ง และอาคาร อาจนำไปสู่การลดความต้องการพลังงานของโลกลง 30% ภายในปี 2050 ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านพลังงานชั้นนำของประเทศไทย มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นฐานความมั่นคงแก่ภาคเศรษฐกิจของประเทศ (Prosperity) ขอพาท่านสำรวจประเด็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมว่ามีมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลต่อความยั่งยืนด้านพลังงานมากน้อยเพียงใดในอนาคต

ต้องยอมรับว่า พลังงาน นับเป็นส่วนสำคัญสำหรับต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เพราะภาคอุตสาหกรรมคือผู้ที่ใช้พลังงานต่อปีในปริมาณที่สูง โดยมีการประมาณการว่าเฉพาะในส่วนภาคอุตสาหกรรม มีการใช้พลังงานต่อปีเท่ากับหนึ่งในสี่ของการใช้พลังงานทั่วโลก และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 40% ฉะนั้นการที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดสัดส่วนการใช้พลังงานลงได้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อโลกใบนี้อีกด้วย

ประภัสสร์ วังศกาญจน์ จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ทำวิจัยสำรวจสถานประกอบการโรงงานและอาคารธุรกิจในประเทศไทยที่ได้ประสบกับภัยพิบัติอุทกภัยอย่างร้ายแรงในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้โรงงานและอาคารธุรกิจในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้รับความเสียหายและไม่สามารถดำเนินการได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคกลางของประเทศ

ในครั้งนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานจึงได้ดำเนินโครงการให้คำปรึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่ประสบอุทกภัย (กลุ่มภาคกลาง) เพื่อช่วยเหลือสถานประกอบการเหล่านั้น โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่ การจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาและตรวจสอบอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย วางแผนฟื้นฟูและดำเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสม และสุดท้ายได้จัดทำรายงานและสรุปผลการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของสถานประกอบการทุกแห่ง ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่า สามารถส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานเทียบเป็น 2,722 toe ต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 18,068 ตันต่อปี ซึ่งทำให้สถานประกอบการในโครงการทั้งหมดประหยัดเงินได้ถึง 53,510,282.22 บาทต่อปีเลยทีเดียว (อ้างในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2559)

นอกจากการสำรวจในประเทศไทยแล้ว การวิจัยในต่างประเทศก็พบข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน สมาคมฉนวนแห่งสหรัฐอเมริกา (NIA- National Insulation Association) ได้ประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม 700 แห่ง โดยทำการประเมินค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษา และการเพิ่มประสิทธิภาพของฉนวนกันความร้อน ซึ่งสามารถช่วยให้โรงงานต่างๆ ประหยัดเงินได้ถึง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 43 ล้านเมตริกตันต่อปี

ด้านยุโรปก็เช่นกัน กลุ่มฉนวนภาคอุตสาหกรรมในยุโรป ได้ทำการตรวจสอบสมรรถนะทางเทคนิคของฉนวนกันความร้อน (TIPCHECK) จำนวน 180 ครั้ง และระบุว่า ฉนวนกันความร้อนสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 750,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 500,000 ตัน รวมถึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีระยะเวลาการคืนทุนโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 1 - 2 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนปรับปรุงฉนวนกันความร้อน

จะเห็นได้ว่า การปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น หากสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างโรงงาน การใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น นอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่อากาศได้ในปริมาณที่สูงกว่าภาคครัวเรือนถึง 100 เท่าแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้จำนวนมากต่อปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินการปรับตัวสำหรับภาคอุตสาหกรรม คงต้องอาศัยนโยบายระดับมหภาคของรัฐบาล เป็นตัวขับเคลื่อนจึงจะเห็นผลและจับต้องได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา - ปตท. ขยายความร่วมมือ ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมการเกษตรสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สู่สังคม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการศึกษาตลอด 10 ปี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี