เรียนรู้และอยู่กับ PM 2.5 ให้ได้!

แม้ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (มีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์) ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอีกครั้ง เพราะในการดีเบตหาเสียงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการตั้งคำถามในประเด็นนี้เพื่อถามผู้สมัครทุกคนว่าจะมีแนวทางในการจัดการอย่างยั่งยืนอย่างไร เพราะแม้ว่าฝนจะเริ่มตกมาบ้างและทำให้ปัญหานี้บางเบาไปชั่วขณะ แต่เมื่อถึงช่วงต้นปีของทุกปี ปัญหานี้ก็จะวนกลับมาเป็นลูปทุกปีไป

ถามว่ามันน่าเบื่อหรือไม่ ทุกคนจะตอบว่าใช่ แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ทว่าเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพียงแต่ความหนักหน่วงของปัญหานั้น ในกรุงเทพฯ จะหนักกว่าทุกพื้นที่ เนื่องจากมีความแออัดของจำนวนประชากรในระดับสูง พื้นที่สีเขียวน้อย และจำนวนรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักมีปริมาณที่สูงมาก (ปัจจุบันบ้านเรายังมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 3 ซึ่งมีค่ากำมะถันสูง ก่อให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อยู่จำนวนมาก) จึงทำให้หัวข้อฝุ่น PM2.5 กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ในสมการการแก้ปัญหานี้ มนุษย์อย่างเราๆ ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนต่างจังหวัดก็ตามที มักจะตำหนิรัฐบาล รวมถึงผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ เราลืมไปหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว พวกเรานั่นแหละที่เป็นคนร่วมกันก่อและสร้างปัญหาทั้งสิ้น เพียงแต่สาเหตุของปัญหาในแต่ละพื้นที่อาจจะต่างกันไป เช่น ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ สภาพการจราจรที่แออัดผนวกกับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่เสถียร และการก่อสร้างที่หนาแน่น เป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดในหลายพื้นที่ การเผาไร่อ้อย (รวมถึงการเผาจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง) หรือแม้กระทั่งไฟป่า ก็ล้วนซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงทั้งสิ้น

เท่ากับว่า ทุกครั้งที่เราพร่ำบนว่าสิ่งนู้นไม่ดี สิ่งนั้นทำให้เกิดปัญหา เรามักจะมองตัวเองเสมอว่า “เราในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาเหล่านี้ไม่มากก็น้อย” จะมีส่วนร่วมในแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง? เพื่อตัวเราเองล้วนๆ อย่างที่เราทราบกันดีว่า “ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มันสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าใครที่มีปัญหาภูมิแพ้อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่อยากจะสาธยายเลยเชียวว่าอาการจะหนักกว่าคนทั่วไปมากขนาดไหน”  

เราจะมีส่วนร่วมในแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง? ในเมื่อสาเหตุของฝุ่น PM2.5 มาจาก เช่น การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ หรือการเผาไร่เลื่อนลอยจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงมหภาคที่คนตัวเล็กๆ อย่างเรายากจะสั่งการหรือจัดการปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหารอบตัวเล็กๆ เราสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งยังเป็นการใช้พลังงานให้คุ้มค่าอีกด้วย (อย่าลืมว่าการใช้พลังงานที่ถูกต้องไม่ใช่การประหยัดจนเกินเหตุ หรือเลิกใช้พลังงาน หากแต่เป็นการใช้พลังงานให้คุ้มค่าและพอเหมาะพอดีต่างหากที่จะเป็นการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย)

อันดับแรก ในเมื่อรถยนต์คือสาเหตุหลัก อีกทั้งสภาวะการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นมาก การตรวจสภาพรถยนต์ส่วนบุคคลของเรา ทั้งระบบขับเคลื่อน หม้อน้ำ ระบบไฟ ยางรถยนต์ ฯลฯ  ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และยังช่วยประหยัดน้ำมัน

อันดับสอง ถ้ารถยนต์ของคุณใช้มานานเกิน 10 ปี และถึงเวลาที่ควรจะต้องเปลี่ยน ลองพิจารณารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังจะเป็นยานยนต์แห่งอนาคตไว้เนิ่น ๆ เพราะรถยนต์ไฟฟ้านอกจากจะให้พลังงานที่สะอาดแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็มีมาตรการสนับสนุนอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องราคาที่น่าสนใจ รวมถึง ปตท. ก็มีแนวทางรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ โดยการเตรียมขยายสถานีบริการอัดประจุ on-ion EV Charging Station อีกกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2565  นอกจากนี้ยังมีบริการติดตั้ง PTT EV Charger ในที่พักอาศัยให้อีกด้วย

แต่หากว่ายังไม่พร้อมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็อาจจะลองหาวิธีใช้รถยนต์ส่วนตัวร่วมกับรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ที่สิ้นปีนี้จะเปิดดำเนินการอีกหลายสาย หรือที่ต่างประเทศเรียกระบบ ‘Parks and Rides’ จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปได้มากทีเดียว

อันดับสาม เพิ่มที่สีเขียวในพื้นที่ส่วนตัวของเรา ถ้าอยู่บ้านมีบริเวณ หาไม้ใบขนาดกลางที่เหมาะกับสัดส่วนของพื้นที่มาปลูก ถ้าอยู่คอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ ไม้ใบขนาดเล็กมีให้เลือกมากมายตามเทรนด์ฮิตปลูกต้นไม้ที่มีมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19

อันดับสี่ ส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้ยินอยู่เรื่อย ๆ อย่างน้อยการที่ประชาชนติดตามอย่างสร้างสรรค์ จะเป็นสัญญาณเตือนไปยังภาครัฐว่า จะนิ่งดูดายกับปัญหานี้ไม่ได้

และสุดท้าย การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน แต่เราเรียนรู้ที่จะช่วยกันลดและต่อสู้กับมันจนกว่าปัญหาจะบางเบาไปได้อย่างแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดสวน “เปรมประชาวนารักษ์” แลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ริมคลองเปรมประชากร พระราชทานแก่ประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์”

'พีระพันธุ์' สั่ง ปตท. ระดมน้ำมัน-ก๊าซเข้าภาคใต้ป้องกันขาดแคลน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ กระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุอยู่ขณะนี้