เวที Social Democracy Think Tank ชำแหละระบอบประยุทธ์ กำเนิด 'ขุนนางใหม่ภายใต้รัฐบาลท็อปบูท' ผูกขาดกลุ่มทุน ทำ 'ประเทศ-สังคม-ประชาชน' ล้มเหลว หวัง การสืบทอดอำนาจ
23 ต.ค.2564 - เวทีอภิปรายสาธารณะ Social Democracy Think Tank เรื่อง "ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจทุนผูกขาดและสังคมที่ล้มเหลว ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์" จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสถาบันสังคมประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว (ด้านหลัง) มีผู้อภิปรายดังนี้ คือ รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สังคม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร , นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมเขียนกฎหมายแข่งขันทางการค้า และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย , นายวรภพ วิริยะโรจน์ โฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร , นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และแกนนำไทยไม่ทนฯ ดำเนินรายการโดย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สังคม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การบริหารของรัฐบาลนำไปสู่ ธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างมาก ต่อการประกอบอาชีพ และการบริหารเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดนี้ 8 ปี ตนขอตั้งชื่อให้ว่าเป็น “ขุนนางใหม่ภายใต้รัฐบาลท็อปบูท” ถือเป็นโมเดลใหม่ คือ การปกครองแบบอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ผูกขาดประเทศไทยเบ็ดเสร็จทุกด้าน เป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่ตนเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจผูกขาดอภิสิทธิ์ชนกินรวบสินทรัพย์
“ระบบอุปถัมภ์เป็นตัวการใหญ่ที่ทำลายประชาธิปไตยไทย เพราะสร้างระบบอภิสิทธิ์อย่างพิเศษ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากหลายประเทศ เพราะระบบอุปถัมภ์คือค่านิยมสังคมที่เป็นรากวัฒนธรรม ที่ฝังรากลึกของอำนาจใหญ่หลายชนชั้น ที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก สร้างคอนเน็คชั่นส์ ต่อสายอำนาจสร้างเครือข่ายเป็นระบบเงินตราสวามิภักดิ์ ทั้งในภาคราชการรัฐวิสาหกิจ ทหาร ตำรวจและองค์กรต่างๆทางการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น ธุรกิจเอกชนรายใหญ่ ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดหุ้นล้วนแล้วแต่เกิดการผูกขาดมีสัมพันธ์แนบแน่นด้วยกันมาก” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่า
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐไทยไม่ใช่รัฐของประชาชน แต่เป็นรัฐของนายทุนเพื่อนายทุนโดยนายทุน อย่างไรก็ตามในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อนการเล่นพรรคเล่นพวก และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ไม่ตั้งอยู่บนครรลอง ที่แท้จริงนี่คือความชั่วร้าย ที่โกยกำไรด้วยการผูกขาดการละเมิดละโมบคดโกงของผู้มีอำนาจ ซ้ำเติมในช่วง 8 ปีนี้ ปัญหาที่รอการแก้ไขจะเป็นเรื่องยุ่งเหยิงมาก ยังมองไม่ออกรัฐบาลว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ จุดอ่อนของระบบทุนนิยมที่ถูกบิดเบือนบิดเบี้ยว จากผู้บริหารนโยบายทำให้เกิดระบบทุนนิยมผูกขาด กินรวบสินทรัพย์ งทุนผูกขาดมีมานานแล้ว แต่แบ่งบานในช่วงการครองอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวว่า หากรัฐไทยยังดำเนินไปเช่นนี้ คนชั้นกลางจะกลายเป็นคนจนรุ่นใหม่ เนื่องจากทรัพยากรถูกผันขึ้นข้างบน วิกฤติข้างหน้าคือ หนี้สินจาก 3 ภาคส่วนทั้งภาคครัวเรือน หนี้สาธารนะ และภาคสถาบันการเงิน ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งจะแก้ไขลำบากและยุ่งยากมาก ดังนั้นตนขอเสนอทางออก 4 ข้อ คือ 1. สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจน ในการขจัดธุรกิจผูกขาด สนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ สตาร์ทอัป รวมถึงรายย่อยและขนาดกลาง หรือฟื้นเศรษฐกิจจากรากฐาน ซึ่งคาดหวังได้จากนักการเมืองหนุ่มสาวรุ่นใหม่ 2. สร้างแรงกระเพื่อมทางปัญญา เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาทุนผูกขาด ซึ่งไม่ได้เป็นทุนนิยมเสรีอย่างที่ควรจะเป็น 3. ขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยผู้บริโภคให้ต่อเนื่อง และ 4. การสร้างพลังกลุ่มทางโซเชียลมิเดีย
ด้านนายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมเขียนกฎหมายแข่งขันทางการค้า และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังทำให้ประเทศ ขาดซึ่งความเชื่อถือซึ่งกันและกันทำให้ประเทศแตกแยก ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเข้าสู่สูงวัยที่เราจะต้องหาเงินเพิ่มเติม
ประชาชนแตกสลายแล้วไม่มีใครเชื่อประชาชนไม่เชื่อรัฐที่จะไว้ใจเราอีกต่อไปเพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถ ที่จะสร้างความไว้ใจและเชื่อใจต่อกันได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องร่วมใจกันเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศและปฏิรูปประเทศของเรา
ส่วนไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ปี 2557 คณะรัฐประหารประกาศให้ sme เป็นวาระแห่งชาติ ตนและเครือข่ายได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้รัฐบาล คสช. แต่ 7 ปีผ่ามาก็ไม่มีความคืบหน้าโดยยังถูกแขวนไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรีจนปัจจุบัน พร้อมเปรียบเทียบว่า รัฐบาลประยุทธ์ ได้เปลี่ยนนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ เหมือนทุนขนาดใหญ่เป็น 'ผู้ล่า' ผู้ประกอบการรายเล็กคือ 'เหยื่อ' นโยบายเศรษฐกิจใต้รัฐบาลประยุทธ์นั้น เหมือนเอาเหยื่อให้ผู้ล่ากินจนแทบไม่เหลือแล้ว เพราะผู้ล่าสามารถล่าได้อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุม วันหนึ่งอาจไม่เหลื่อเหยื่อให้ล่า เนื่องจากไม่มีความสมดุลทางเศรษฐกิจ
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า sme ประมาณ 400,000 ราย เป็น NPL หรือหนี้เสีย 1 แสนกว่าราย เหลือ 3 แสนราย แต่เข้าไม่ถึงงบประมาณฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจ และสภาบันการเงินไม่มีใครกล้าปล่อยกู้ นอกจากนี้ ควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต รวมถึงพักชำระหนี้อย่างน้อยอีก 1 ปีด้วย ส่วนการฟื้นฟู้พัฒนาเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องรัฐบาลสมัยหน้า เพราะเชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่มีศักยภาพแก้ปัญหาระยะกลางหรือระยะยาวได้
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ตนขอเสนอการแก้ปัญหาระยะสั้น ตามอายุรัฐบาลที่เหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปี เพื่อประคองอย่าให้เศรษฐกิจเลวร้ายกว่านี้ 4 ข้อ คือ 1. ผ่อนปรนหรือแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ให้ผู้ประกอบการรายย่อยดำเนินธุรกิจได้ อย่างคราฟเบียร์และอื่นๆ ประมาณ 3 ปี 2. ชะลอการฟ้องร้องคดี sme ที่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL 3.พักชำระหนี้ sme และ 4. สวัสดิการและการเยียวยาแรงงานใน sme ให้ครอบคลุมและทั่วถึง
นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษก กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน กล่าวว่า ไทยมีระบอบปรสิต คือ ระบอบนายทุนขุนศึกศักดิน ที่กัดกินประชาธิปไตยของประเทศไทย ใช้อำนาจรัฐหาประโยชน์แก่พวกพ้อง ด้วยการผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง อีกทั้งยังสร้างเหลื่อมล้ำมหาศาล โดยยกตัวอย่างการถือครองที่ดิน มีตระกูลเดียวมีที่ดินจำนวน 6 แสนไร่ แต่คนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน
นายวรภพ กล่าวว่า เรื่องสัมปทานหรือการประมูลงานของทุนผูกขาด ตนขอยกตัวอย่าง "กลุ่มทุนดิวตี้ฟรี" หรือ เขตสินค้าปลอดอากร ที่รัฐบาลมีการแก้ไขสัญญาทำให้รัฐเสียประโยชน์ และยังมีการแก้กฎหมายและสัญญาในการเอื้อประโยชน์นายทุนผูกขาด รวมถึงการลดหนี้ เยียวยาและขยายระยะเวลาส่งเงินให้รัฐ โดยอ้างเรื่องโควิด-19 ในโครงการ eec ด้วย ที่สำคัญมีการแก้ไขหรือตีความการลงทุนขนาดใหญ่ หลีกเลี่ยงไม่ต้องดำเนินการตามหรือทำไม่ให้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนได้
“ความเหลื่อมล้ำจากการผูกขาด ยังทำให้การทำมาหากินของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยถูกปิดกั้น พร้อมยกตัวอย่างการผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการแก้การผูกขาดและให้มีการแข่งขันเสรี เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้มีกำลังผลิตเบียร์ 42,000 ขวดต่อวัน จึงดำเนินการได้ ซึ่งต้องมีทุนมหาศาล เป็นข้อจำกัดและเป็นการปิดกั้นรายย่อยที่ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอ” นายวรภพ กล่าว
ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และแกนนำไทยไม่ทนฯ กล่าวว่า การบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพของทหาร ซึ่งถูกฝึกมาให้รบไม่ได้ฝึกมาให้สร้างรายได้ให้ประเทศ ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาเพราะบริหารก็ไร้ประสิทธิภาพ และยังเกิดการทุจริตขึ้นมากมาย พยาพยามที่จะสืบทอดอำนาจและตั้งพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อใช้อำนาจรัฐจากการรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศก็หาเงินจากการบริหารประเทศ ตรงนี้จึงพบว่ามีการกล่าวหาว่า มีการมีเงินทอนเต็มไปหมด และมีนโยบายผุดโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟฟ้าระหว่างสนามบิน
นายวีระ กล่าวว่า รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยถูกโจมตี ว่าใช้เงินมากแต่รัฐบาลประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ก็ทำโครงการเหล่านี้แต่ใช้เงินมากกว่า เห็นชัดเจนก็คือรัฐบาล อุ้มซีพีในกรณีของรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน โดยซีพีอ้างว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจทดถอยจากสถานการณ์โควิด จะขอจ่ายเมื่อโควิดยุตติ ขอถามว่าแล้วเมื่อไหร่โควิดจะยุตติ ถือว่ายิ่งกว่าจับเสือมือเปล่า ถามว่าโครงการอื่นที่เขาเซ็นสัญญากับรัฐ ได้สิทธิพิเศษอย่างนี้บ้างหรือไม่ ทำไมรัฐบาลประยุทธ์ให้สิทธิพิเศษซีพีขนาดนี้
นายวีระ กล่าวว่า ระหว่างนายทุนกับประชาชน รัฐบาลเห็นหัวใครมากกว่ากัน ในโลกนี้ประเทศไหน บริหารประเทศแบบรัฐบาลชุดนี้บ้าง ตอนนี้รัฐบาลพยามกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเปิดประเทศทั้งที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์บอกอีกว่าถ้าเปิดแล้วมีปัญหาก็ปิด และหวังว่าจะเอาเงินต่างชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วชีวิตคนไทยจะเป็นอย่างไร ผลประโยชน์ชาติจะเป็นอย่างไร ทำไมถึงไม่คำนึงถึงความจริง เรื่องนี้แก้ไขปัญหานิดเดียว คือ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไม่ได้ป้องกันโควิดแต่เป็นการป้องกันคนที่มาขับไล่รัฐบาล
“ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริหารประเทศ ที่ไร้ประสิทธิภาพและเกิดจากการต้องการสืบทอดอำนาจอีกยาวนาน ยังไม่ทันไรจะขอโอกาสอยู่ต่ออีก 5 ปีทั้งที่รัฐบาลนโยบายไร้ประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล ความจริงแล้วแก้ไขปัญหาง่ายนิดเดียว คือพลเอกประยุทธ์ออกไปก็จบ ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้าต่อ กลับเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง และธรรมนูญจะต้องมีการแก้ไขโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงประชาชนอย่างแท้จริง” นายวีระ กล่าว
ขณะที่นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า กลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มที่หนึ่งคือ ซีพีที่ผูกขาดการค้าบริโภค มีส่วนแบ่งการตลาดอย่างยาวนาน และยังมีการควบรวมเซเว่น-อีเลฟเว่นกับ เทสโก้โลตัส นำไปสู่การฟ้องร้องของเครือข่ายผู้บริโภคต่อศาลปกครอง
ขณะที่สังคมไทยมีคนยากจนมากขึ้น ชนชั้นกลางคนทั่วไปยากจนลง นอกจากนั้นนโยบายต่างๆที่เกิดขึ้นในรัฐบาลโดยภาพรวม คนที่ใช้นโยบายเหล่านี้ ไปซื้อสินค้าบริโภคอยู่ในตลาด ที่มีโรงงานที่ผลิตสินค้าไม่กี่กลุ่ม และ เงิน 300 บาทต่อเดือนนั้น มีเงินที่จะเข้าบริษัทที่ผูกขาดสินค้าอุปโภคบริโภค ประมาณ 4,200 ล้านบาทโดย 12 เดือนมูลค่ามากถึง 50,400 ล้านบาทซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นการโอนย้ายถ่ายโอนเข้าสู่บริษัทที่ผูกขาดสินค้าโอผู้บริโภคและอุตสาหกรรมเกษตร
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า นอกจากนี้กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ร่ำรวยขึ้นหลาย 100,000 ล้านบาท และยังมีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐ อาทิ การขายที่ดิน ของนายกรัฐมนตรีบริษัทที่รับซื้อมีที่ตั้งอยู่ที่เดียวกันกับบริษัทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดีในการทำธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเศรษฐกิจโดยมีกลุ่มทุนเข้าไปช้อนซื้อทรัพย์สินเหล่านั้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นนอกจากนี้มีกลุ่มทุนที่เกิดการได้รับสัมปทาน เอื้อประโยชน์จากรัฐบาลด้วย อาทิ กลุ่มทุนเจ้าสัว ธนาคาร กลุ่มธุรกิจพลังงาน เริ่มเข้ามาผูกขาดครั้งใหม่ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้
นายเมธา กล่าวว่า กลุ่มทุนที่เติบโตขึ้นใหม่ คือ กลุ่มเสนาพาณิชย์ที่นำโดยพลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดาและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้ งนี้ผลประโยชน์ต่างๆที่เกิดขึ้น จากการบริหารบ้านเมืองที่ผ่านมา ได้เข้าไปยึดครององคาพยพของรัฐแทบทั้งหมดเพื่อหาผลประโยชน์ และทั้งหมดนี้ กลุ่มทุนผูกขาดที่กล่าวมานั้น กล่าวหาว่ากำลังคอรัปชั่นทางเศรษฐกิจ และถูกกล่าวหาว่านำมาสู่ความล้มเหลว 5 ด้าน ประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ อันดับหนึ่งของโลกในรัฐบาลชุดนี้ รายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยฐานกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ความล้มเหลวอีกด้าน คือเกิดการทุจริตคอรัปชั่นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่นายกกลับไม่ชี้แจง
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ระบบนิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทยที่เกิดขึ้นอย่างมาก ภายใต้อำนาจกันการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ กับบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองและไม่ใช่พรรคพวกของรัฐบาล ก็ยังจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้กลุ่มทุนเข้ามามีที่นั่งประชารัฐ รวมกับข้าราชการและกองทัพ จึงเป็นเรื่องยากแก่การตรวจสอบ รวมทั้งการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ
นายเมธา กล่าวว่า นอกจากนี้ความล้มเหลวอีกเรื่องหนึ่ง คือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาโควิดยังเป็นรูปธรรม และยังทำลายคุณค่าวัฒนธรรมคุณธรรมทางสังคมการศึกษาที่ล้มเหลว ปรากฏว่านักศึกษาจบมาตกงานและหมาวิไลไม่สามารถหาทางออกวิกฤติต่างๆได้เกิดความแตกแยกด้านสังคม ไม่เคยเป็นมาก่อนระหว่างประชาชนกับสถาบันต่างๆ
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ขอเสนอทางออก 5 ข้อเสนอ คือ 1.เปลี่ยนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า 2.สังคยานา ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. 3.ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้นใหม่ 4.ยกเลิกกฎหมายผูกขาด เปิดเสรีเหล้า-เบียร์ให้แก่เกษตรกรแปรรูปเองได้ ยกเลิกสัญญาสัมปทานและสัญญาร่วมทุนที่เอกชนได้ประโยชน์ และ 5.เก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า จำกัดการถือครองที่ดิน สร้างรัฐสวัสดิการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.อาทิตย์ หวั่นอำนาจการเมืองอยู่เหนือคำพิพากษาศาล ทำบ้านเมืองล่มสลาย!
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าระบบการเมืองปัจจุบันทำลายนิติรัฐ
อดีตบิ๊กศรภ. ชี้วันเวลาจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลง 'ระบอบทักษิณ' ได้เลย
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระบอบทักษิณไม่เคยท้อ
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
สส.รังสิมันต์ แจงเหตุกมธ.มั่นคงฯ เชิญ 'ทักษิณ' แจงปมนักโทษเทวดาชั้น 14
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึง
ปชช.หวั่นไหว 'การเมือง-พิษเศรษฐกิจ' กระทบเงินในกระเป๋า
ซูเปอร์โพล ชี้การเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความหวั่นไหวของประชาชน โดยเฉพาะเงินในกระเป๋ามาอันดับหนึ่ง