'ชินวรณ์' ชี้เปรี้ยงเลือกตั้งครั้งหน้าไม่กลับไปใช้ 'บัตรใบเดียว' ขอทุกพรรคเลิกแก้กม.เพื่อตัวเอง

"วิปรัฐบาล" ชี้หมดทางแก้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พร้อมรับร่างกม.ลูกทุกฉบับส่งเข้าชั้นกมธ.วิสามัญ ขอทุกพรรคเลิกแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง

24 ก.พ.2565 - ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่ามีบางฝ่ายพยายามเคลื่อนไหวให้มีการแปรญัตติเพื่อให้นำไปสู่การกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรลงคะแนนใบเดียว ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีความชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นจะต้องเป็นระบบบัตรลงคะแนน 2 ใบ จึงไม่สามารถกลับไปสู่การให้ใช้ระบบบัตรใบเดียวได้ ส่วนกรณีที่อาจมีผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการรัฐสภานั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตนยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนั้น เป็นการทำเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แต่เมื่อมีหลายพรรคเสนอร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เข้ามา แล้วมีประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่เราคิดว่าก็น่าจะนำประเด็นต่างๆ ตรงนั้นที่เป็นจุดเด่นของแต่ละพรรคไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น มีประเด็นที่แตกต่างกันในเชิงหลักการหลายประเด็น ดังนั้นวิปรัฐบาลจึงเห็นว่าควรนำมาอภิปรายร่วมกัน แต่ให้แยกลงมติสำหรับแต่ละร่างเพื่อต้องการให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน และจะมาพิจารณาว่าจะลงมติสำหรับแต่ละร่างอย่างไร ทั้งนี้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเช่นกัน รวมถึงมีการแก้ไขเพื่อลดข้อจำกัดในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนร่างของพรรคเพื่อไทยมีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงคือการเสนอแก้ไขมาตรา 28 และมาตรา 29 เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถเขามาแสดงความคิดเห็นหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคการเมืองได้ ซึ่งตรงข้ามกับกฎหมายฉบับเดิมที่ห้ามบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนครอบงำไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับร่างของพรรคก้าวไกลที่พูดถึงเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเงินที่บริจาคให้พรรคการเมือง แม้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าเป็นความสำคัญ เนื่องจากเคยถูกยุบพรรคมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ตนอยากทำความเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งให้มีบัตรลงคะแนน 2 ใบเท่านั้น ซึ่งเป็นการทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ช่วยลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ให้ต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างแท้จริง รวมถึงต้องลดการกระทำในสิ่งที่ประชาชนเห็นว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าอาจมีผู้ลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกบางฉบับนั้น ตนคิดว่าเป็นความคิดเห็นของแต่ละคน แต่เราเห็นว่าทุกร่างที่ถูกนำเสนอเข้ามามีความสำคัญทั้งนั้น แต่ที่ประชุมจะต้องฟังเหตุและผลและมีการอภิปรายให้มีความขัดเจนก่อน แล้วจึงไปพิจารณาแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินการภายใต้กรอบเวลา 180 วัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน

ลุ้น! ผลนับคะแนนเลือกตั้ง นายกอบจ.ขอนแก่น มีร้องเรียนแล้ว 1 เรื่อง

ปิดหีบเลือกตั้ง นายก อบจ.ขอนแก่น แล้ว รอลุ้นใครได้เป็นพี่ใหญ่ท้องถิ่น ขณะที่ กกต.เผย รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 1 เรื่องเกี่ยวกับการหาเสียงแบบผิดกฎหมายรอตรวจสอบตามขั้นตอน

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.