'แรมโบ้' แบราคาน้ำมันสยบแพง 'ยุคบิ๊กตู่' ย้อนเจ็บเพื่อไทย 'ยุคปู' แตะ 50 บาท/ลิตร

'แรมโบ้' ซัด 'เพื่อไทย' บิดเบือนราคาน้ำมัน หวังดิสเครดิสรัฐบาล งัดข้อมูลแบให้ดูชัดๆราคาน้ำมันดีเซล-เบนซิน ของไทยไม่ได้สูงสุดในอาเซียนตามที่ถูกป้ายสี ย้อนเจ็บยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่างหากที่น้ำมันแพงสุดเป็นประวัติการณ์แตะลิตรละ 50 บาท แต่ไม่เห็นสมุนโทนี่โวยวายเลยสักแอะ

15 ก.พ.2565 - นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีน้ำมันราคาแพง ว่า ขอชี้แจงข้อมูลราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นข้อมูลที่หลายคนพูดไม่ค่อยครบ ทุกมุมมอง ทุกมิติ โดยเฉพาะคนที่ตั้งหลักจะตีรวน ย่อมหยิบเพียงบางประเด็นมาโจมตี เพื่อสนองตัณหาส่วนตัว และดิสเครดิตรัฐบาล โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ได้ศึกษาอย่างครบถ้วนมาโจมตีให้เกิดความเข้าผิดต่อประชาชน

นายเสกสกล กล่าวว่าปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยตรง ก็คือปัญหาความตึงเครียดระหว่างประเทศรัสเซียกับสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ เกี่ยวกับยูเครน ซึ่งหากว่าใครติดตามข่าวสารก็จะเข้าใจ สิ่งสำคัญคือ มันมีผลทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ สหรัฐและรัสเซีย ต่าง เป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก และมีน้ำมันสำรองระดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลับได้รับประโยชน์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น

นายเสกสกล กล่าวต่อว่า ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ถือเป็นมหาวิกฤติ ครั้งใหญ่ที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.2 และร้อยละ 9.6 ตามลำดับ ซึ่งรุนแรงยิ่งกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 และ "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ปี 2549

เพราะส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เหมือน "วิกฤตมหาอุทกภัย" ปี 2554 ที่เป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ น้องสาวโทนี่ ที่รอคนนอกประเทศกดปุ่ม มันก็ไม่ทันต่อสถานการณ์แน่นอน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า หากจะกล่าวหาลอยๆ ว่าไทยน้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน ตนก็อยากเอามาแบให้เห็นชัดๆกันไปเลยว่า "ราคาดีเซล" เฉลี่ยทั้งประเทศ เรียงจากแพงไปหาถูก คือ

สิงคโปร์ (56.7 บาท/ลิตร) , ลาว (34.7 บาท/ลิตร), ฟิลิปปินส์ (32.0 บาท/ลิตร) , เมียนมา (31.7 บาท/ลิตร) ,กัมพูชา (30.8 บาท/ลิตร), อินโดนีเซีย (30.5 บาท/ลิตร), ไทย (29.9 บาท/ลิตร), เวียดนาม (27.5 บาท/ลิตร), มาเลเซีย (17.0 บาท/ลิตร) และบรูไน (7.62 บาท/ลิตร)

สำหรับ ราคาเบนซิน เฉลี่ยทั้งประเทศ เรียงจากแพงไปหาถูก คือ สิงคโปร์ (66.8 บาท/ลิตร) ,ลาว (44.6 บาท/ลิตร) ,ฟิลิปปินส์ (38.9 บาท/ลิตร), กัมพูชา (38.1 บาท/ลิตร), ไทย (34.5 บาท/ลิตร) ,เวียดนาม (34.5 บาท/ลิตร), เมียนมา (32.5 บาท/ลิตร), อินโดนีเซีย (28.9 บาท/ลิตร) ,มาเลเซีย (16.2 บาท/ลิตร) และบรูไน (13.0 บาท/ลิตร) (ข้อมูล ณ 7 ก.พ.65)

"ดังนั้น มันชัดเจนแล้วว่า ราคาน้ำมันไทย ทั้งดีเซลและเบนซินไม่ได้แพง อย่างที่บางคนกล่าวหา โดยเฉพาะกลุ่มพรรคพวกสมุนนายโทนี่ น่าจะตักน้ำใส่กระโหลก ย้อนมองไปดูราคาน้ำมันในอดีตปี 2557 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลักหลับ เบนซินสูงสุด ตั้งแต่ผมเกิดมาสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 50 บาท/ลิตร จะจอดรถทิ้งที่บ้านก็หารถไฟฟ้าไม่มี จะเดินไปทำงานก็คงไม่ไหว ยังจำได้หรือไม่ หรือคนในพรรคเพื่อไทยแกล้งลืม"

นายเสกสกล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ให้ได้มากที่สุด เช่น 1. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดย ลดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7, ลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซล, ลดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้มีสัดส่วนผสมเดียว

2.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้น มี.ค.65 นอกจากนี้ ยังมีความพยายามลดค่าครองชีพด้านอื่นๆ อีก เช่น (1) ขยายส่วนลด LPG จำนวน 100 บาท/คน/เดือน ถึงสิ้น ม.ค.65 (2) ตรึงราคา LPG อยู่ที่ 318 บาท สำหรับถัง 15 กิโลกรัมถึงสิ้น มี.ค.65 (3) ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม ถึง 15 มี.ค.65 (4) ลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14 ล้านคน ช่วง ต.ค.64 - ก.ย.65 รวมทั้งออกโครงการต่างๆ เช่นคนละครึ่ง เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานรากด้วย

สำหรับประเด็นโครงสร้างน้ำมัน ซึ่งใช้มานานหลายรัฐบาล ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังสงสัย หรือโยนความผิดมาที่รัฐบาลนี้ ที่ไม่ใช่เป็นคนคิด แต่จะเป็นคนเริ่มต้นแก้ไขให้มันถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ ตามที่นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอยู่ แต่เบื้องต้นอยากจะอธิบายก่อนว่าโครงสร้างน้ำมัน ของแต่ละประเทศมีรายละเอียดแตกต่างกัน

เช่น ราคาหน้าโรงกลั่น ของไทยเฉลี่ยสูงกว่ามาเลเซียและเวียดนาม ก็เพราะไทยต้องการได้น้ำมันที่บริสุทธิ์กว่า ตามมาตรฐานยูโร 4-5 ซึ่งปล่อยมลพิษน้อยกว่า ในขณะที่มาเลเซียและเวียดนามกลั่นตามมาตรฐานยูโร 2 เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่า สำหรับในส่วนที่เป็น ภาษีสรรพสามิต-เทศบาล-มูลค่าเพิ่ม ก็จะเป็นรายได้แผ่นดินและนำไปพัฒนาประเทศ หรือช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านอื่นๆ

หรือในส่วนที่เป็น กองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้พยุงราคาไม่ให้ผันผวนจนประชาชน-ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน และ "กองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน" ก็เพื่อรณรงค์ให้ประหยัดและแสวงหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่สะอาดกว่า และยั่งยืนกว่า เป็นต้น

นายเสกสกล กล่าวด้วยว่าจำเป็นต้องหาข้อมูลมานำเสนอ ให้ครบถ้วน รอบด้าน ก็เพราะต้องการให้ทุกคนได้เปิดใจและตัดสินใจอย่างเป็นกลาง อยากให้เป็น น้ำดี ที่จะไปลบล้าง น้ำเสีย ที่คนใจคดพ่นน้ำลายพูดพล่ามรายวันใส่ความนายกฯและรัฐบาล แต่นายกฯไม่เคยย่อท้อต่อการทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง

"เชื่อมั่นว่านายกฯที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาให้คนไทยทั้งประเทศทั้งที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างหนัก หัวใจก็ไม่เคยหวั่นไหว ตั้งใจทำเพื่อส่วนร่วม เพื่อประเทศชาติและประชาชน และผมเชื่อมั่นว่าธรรมะย่อมชนะอธรรมอย่างแน่นอน" นายเสกสกล กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum