รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพิ่มคุ้มครองสตรีในชนบทและทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
13 ก.พ. 2565 – นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สั่งการให้เร่งรัดผลักดันให้เกิดความคืบหน้าจากการนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: UPR) ตามกลไกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council : HRC) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review: UPR) โดยการทบทวนแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจในการดำเนินการในหลายประเด็น อาทิ ร่วมมือในการขจัดความไร้รัฐและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการทรมานและลงโทษที่โหดร้าย การส่งเสริมมาตรการบังคับสำหรับภาคธุรกิจในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิก UN ประเทศอื่น ๆ สามารถร่วมพิจารณารายงาน UPR และร่วมให้ข้อเสนอแนะได้
รองโฆษกฯ กล่าวว่า การนำเสนอรายงาน UPR รอบที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ประเทศต่างๆ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทย รวม 278 ข้อ โดยคณะผู้แทนไทยได้ตอบรับทันที 193 ข้อ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะนำเสนอรายงานดังกล่าวให้ดีที่สุด และล่าสุดคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบที่จะรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก 25 ข้อ รวมเป็นข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับแล้วทั้งหมด 218 ข้อ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะได้แจ้งท่าที ดังกล่าวแก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไป อนึ่ง ตัวอย่างของการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมตามคำมั่นที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว คือ ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย และร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีปิดปากและมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับต่างเป็นข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ แผนสิทธิมนุษยชน หรือเป็นข้อเสนอแนะที่หน่วยงานดำเนินการในปัจจุบันอยู่ เช่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การให้ความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคม และเป็นข้อเสนอแนะที่หน่วยงานมีความพร้อมที่จะดำเนินการ เช่น การเพิ่มมาตรการ และการสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การศึกษาและจัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม รวมทั้ง เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นค่านิยมเชิงหลักการที่ไทยยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ โดยจะครอบคลุมการไม่รับรองเด็กสมรสตามกฎหมาย กับผู้กระทาผิดข่มขืน และรูปแบบอื่นของความรุนแรงและการกดขี่ทางเพศ ส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของสตรี โดยเฉพาะสตรีในชนบท สตรีชนพื้นเมืองดั้งเดิม สตรีที่มาจากคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และศาสนา และสตรีพิการ
“รัฐบาลมุ่งมั่นให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ แนวทางในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจและการพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะ ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศ ค่านิยมเชิงหลักการของสังคม และความพร้อมในการดำเนินการของหน่วยงาน ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ในส่วนที่ตอบรับเพิ่มเติมครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคุ้มครองสตรีในทุกๆกลุ่ม ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี” นางสาวรัชดา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันเด็กบนดอยแม่สลอง หนูน้อยชาติพันธุ์ร่วมกิจกรรมคึกคัก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น
ที่ศูนย์การเรียนรู้บนดอยแม่สลอง ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุนชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดกิจกรรมงานวันเด็ก ซึ่งเด็ก ๆ ชาติพันธุ์
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
เครือข่ายชาวเลอันดามัน ยื่น 3 ข้อ ขอรัฐบาลแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
เครือข่ายชาวเลอันดามัน นำโดย นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานฯ พร้อมตัวแทน 10 คน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ
ขุดคำพูด 'เผ่าภูมิ' โจมตีคนละครึ่ง ตอนนี้เป็นรมต.แล้ว คงได้บทเรียนอย่าพูดแต่เอามัน
กรณีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่งนั้น
เปิด 6 สาระสำคัญ ร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎร นำโดย น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ แถลงผลการประชุมว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นร่างกฎหมายที่ยกร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก