'ดร.ไตรรงค์' แพร่บทความ 'วิธีแก้สภาล่มในไทย' ยก ส.ส.อังกฤษ ไม่เสนอนับองค์ประชุม

7 ก.พ.2565 - ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความเรื่อง "วิธีแก้ปัญหาสภาฯล่มในประเทศไทย" มีเนื้อหาดังนี้ ก่อนที่ผมจะอธิบายอะไรให้ท่านผู้อ่านได้ฟังนั้น ผมขออนุญาตให้ท่านที่เคารพทั้งหลายได้กรุณาอ่านข้อความสั้นๆที่ผมลอกมาจากตำราเล่มหนึ่ง มีความดังต่อไปนี้ “มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากทำให้เห็นว่าการอภิปรายในรัฐสภาของสมาชิกรัฐสภานั้นเท่าที่ผู้เขียนได้ไปนั่งฟังไม่ว่าจะเป็นในรัฐสภาของ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น จึงได้รับความเห็นมาว่า ในประเทศเหล่านี้ไม่มีใครนิยมให้สมาชิกพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง พูดกินเวลานานเป็นชั่วโมงๆ ใครทำเช่นนั้นจะไม่ได้รับการยกย่องเลย เพราะเป็นการเสียเวลาการทำงานของรัฐสภา

พวกเขาต้องการให้พูดเฉพาะสรุปในสาระที่สำคัญว่ามีความเห็นโดยสรุปเป็นเช่นไร ถ้ามีข้อมูลยืดยาวในรายละเอียดก็สามารถจะฝากให้บันทึกเอาไว้ในรายงานของรัฐสภาเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ต้องการจะค้นคว้าในรายละเอียด

ส่วนการนับองค์ประชุมก่อนการประชุมก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ทำกัน เพราะถือว่าไม่มีความสำคัญอันใดที่จะต้องเสียเวลามานั่งฟังการอภิปรายในที่ประชุม สมาชิกสามารถฟังการอภิปรายจากห้องทำงานส่วนตัวของตนเองก็ได้ และควรใช้เวลาพบปะกับประชาชนในห้องทำงานของตนจะมีประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าด้วย (การนับองค์ประชุมจะใช้เฉพาะเวลาที่มีการลงมติเท่านั้น เพราะเสียงเห็นชอบจะต้องมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีทั้งหมดของสภา)

ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า : การตรวจสอบองค์ประชุมของสภาฯในอังกฤษ เขาจะทำกันโดยเฉพาะก่อนจะมีการลงมติกันเท่านั้นเพราะเวลานั้นสำคัญมากสำหรับส.ส.ในการต้องพบปะกับประชาชนเพื่อทราบปัญหาและจะได้หาทางแก้ไข จึงไม่จำเป็นใดๆที่ส.ส.จะต้องถูกบังคับให้นั่งในสภาเพื่อฟังการอภิปรายของเพื่อนสมาชิก เพราะการอภิปรายในรายละเอียดของร่างกฎหมายใดๆที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯนั้น ล้วนได้มีการกระทำกันมาแล้วในที่ประชุมของพรรคฯ เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมพรรคมีความเห็นเช่นใดส.ส.ของพรรคก็จะไปยกมือตามมติเสียงส่วนใหญ่ (แม้บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยแล้วของดออกเสียง หรือไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมในการลงมติก็กระทำได้แต่จะมีน้อยมาก)

แต่เมื่อถึงวาระที่ร่างกฎหมายนั้นๆเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคที่เป็นเจ้าของร่างกฎหมายนั้นก็ต้องเตรียมส.ส.ของตน(บางทีอาจจะเป็นรัฐมนตรี)ขึ้นพูดชี้แจงต่อท่านประธานสภาฯ แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริง เพียงเพื่อต้องการให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายนั้น เพราะจะมีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุและทีวีตลอดเวลา ของการประชุมของสภาฯ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคต้องทำงานหนักในการย่อความในสิ่งที่ตนเองต้องการจะพูดจึงต้องเป็นการพูดแบบสรุปๆ ส่วนรายละเอียดซึ่งอาจจะมีมากเขาจะมอบไว้ให้แก่ประธานสภาฯ สำหรับพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนั้นๆก็จะมีการเตรียมส.ส.ของพรรคไว้ 2-3 คน เช่นเดียวกัน เพื่อแสดงเหตุผลให้ประชาชนฟังว่าทำไมพรรคของตนจึงไม่เห็นด้วย แต่จะเป็นการอภิปรายแบบประหยัดเวลาเช่นเดียวกัน การประชุมสภาผู้แทนของอังกฤษในแต่ละสมัยจึงสามารถผ่านการพิจารณากฎหมายได้จำนวนมากช่วยให้การแก้ไขปัญหาของชาติได้รับการปฏิบัติที่รวดเร็ว ไม่ใช่ถูกหมักหมมเพราะการเล่นการเมืองใส่กันเพื่อให้สภาล่ม ถ้ากฎหมายไม่ผ่านปัญหาของประชาชนก็จะไม่ได้รับการแก้ไขต้องถูกหมักหมมไว้ต่อไป

ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ โดยห้ามผู้ใดเสนอการนับองค์ประชุม ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่ประธานสภาฯจะประกาศให้มีการลงมติ การนับองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯโดยตรงอยู่แล้ว ส.ส. ของอังกฤษจึงไม่เคยมีปรากฏว่ามีผู้ใดเลือกเสนอให้นับองค์ประชุม

หมายเหตุ : ข้อความที่ผมคัดลอกมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านในย่อหน้าแรกที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดนั้น เป็นการลอกมาจากตำราที่ชื่อว่า “มารยาททางการเมือง กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ , เขียนโดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี , จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์. หน้า 211-212. ที่จริงผมได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้กับท่านประธานชวน หลังจากพิมพ์เสร็จใหม่ๆ หวังว่าท่านจะได้แนะนำให้ส.ส. ที่สนใจได้ไปอ่าน อาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศบ้าง ไม่มากก็น้อย

ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านไว้ในโอกาสนี้ด้วย

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชป.แต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ