“ยุทธพงศ์” ชี้ “บิ๊กตู่” ชิงยุบสภาก่อน 22 พ.ค. จับตาทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โยง “ดร.เอ้” หนึ่งในบอร์ดเคยร่วมเจรจา
6 ก.พ.2565 – ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีสภาล่ม 2 ครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่ทำให้สภาล่ม เกิดจากปัญหาเสียงปริ่มน้ำและส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐอีก 21 เสียง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำสภาล่มทั้งหมด 16 ครั้ง มากที่สุดในประวัติศาสตร์ สภาล่มซ้ำซาก เกิดจากพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำรัฐบาลมีไม่ถึง 100 เสียง แยกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย 21 เสียง ไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ร่วมโหวตเป็นองค์ประชุม ถือเป็นเรื่องน่าอับอายที่สภาล่มซ้ำซากล่มทุกอาทิตย์ที่มีการประชุม ตอนนี้เรือเหล็กของ พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งหมด 245 เสียง ปัจจุบันมีเสียง ส.ส.ทั้งหมด 473 เสียง ครึ่งหนึ่งคือ 237 เสียง เรือเหล็กลุงตู่มี 245 เสียง เมื่อหักเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และหักเสียงประธานสภาและรองประธานสภาอีก 3 เสียง เท่ากับรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 5 เสียง ทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีมีภารกิจ มีหน้าที่ที่ต้องไปปฏิบัติงาน ถ้านับองค์ประชุมเมื่อไหร่ก็ล่มเมื่อนั้นเพราะไม่ครบตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. แต่นายกฯ ประกาศแล้วว่าไม่ปรับ และไม่เอา ร.อ.กลุ่มธรรมนัสเข้าร่วมด้วย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องชิงยุบสภาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม เพราะเป็นสมัยประชุมสภาที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 อาการแบบนี้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมตายกลางสภาแน่ นี่คือสถานการณ์ทางการเมือง ทางเลือกของพล.อ.ประยุทธ์คือจะต้องยุบสภาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะไปไม่รอด จึงทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ 4 แสนล้าน
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในการประชุม ครม. 8 ก.พ.จะมีวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 40 ปีให้กับบีทีเอสมูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ครม.อนุมัติในช่วงที่กำลังชุลมุน เรื่องนี้มีความผิดปกติมากเพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือน พฤษภาคม ถามว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ผูกพันอนาคตคนกรุงเทพฯ ออกไปอีก 40 ปีข้างหน้า ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาตัดสินใจ แบบนี้เรียกว่าทิ้งทวนหรือไม่ ความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 40 ปีนั้น ในเส้นทางหลักของบีทีเอสจะหมดสัญญาในปี 2572 ถามว่าแล้วจะเร่งรีบต่อสัญญาไปทำไม ขณะที่ กทม.จะขยายสัญญาสัมปทานโดยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ของ รฟม. โดยกทม.ควรชำระหนี้ให้ รฟม.เรียบร้อยก่อน เพราะส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. กทม.ยังไม่ได้รับโอน
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ถามว่า กทม.จะยกส่วนนี้ไปให้บีทีเอสได้อย่างไร ผิดกฎหมายชัด หาก กทม.บอกว่าตัวเองเป็นหนี้เพราะเปิดให้นั่งฟรีตั้งแต่ปี 60 ไม่อยากให้บริการส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้แล้ว ก็ควรเสนอครม.ให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 61 และให้ รฟม.ไปดำเนินการเองเพราะเขาเป็นเจ้าของ การจะโอนกรรมสิทธิ์มาโดยไม่จ่ายเงินนั่นทำได้หรือ หากตัวเองไม่อยากทำหรือเป็นหนี้ก็โอนกลับไปให้ รฟม.ดำเนินการ และหากบีทีเอสอยากต่อสัญญาในเส้นทางหลัก ต้องแจ้งกทม.ไม่น้อยกว่า3ปีและไม่เกิน5ปี ซึ่งแจ้งได้ตั้งแต่ช่วงปี 68 แต่ตอนนี้เพิ่งปี 65 ยังไม่ถึงเวลาที่บีทีเอสต้องแจ้งต่อสัญญาสัมปทาน
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า การที่ กทม.บอกมีภาระหนี้จากการจ้างเอกชนมาติดตั้งระบบการเดินรถ และว่าจ้างให้เอกชนวิ่งรถในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ซึ่งทำตั้งแต่ปี 59 ควรตรวจสอบว่าสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เพราะไม่มีการประกวดราคา ยกให้บีทีเอสวิ่งรถเลย หนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ เรื่องอะไรที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ไปสร้างหนี้ขึ้นมาเป็นหมื่นล้านบาท ปล่อยให้ประชาชนนั่งฟรี จึงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อให้ครม.ต่อขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ หนี้ก้อนแรกคืองานเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล 2 หมื่นล้านบาท ก้อนที่สองอีก 1 หมื่นล้าน เกิดจากผู้ว่าฯ อัศวินให้คนนั่งฟรีตั้งแต่เปิดมาปี 60 จึงเป็นสาเหตุที่จะยกสัมปทานให้เขา
“เรื่องนี้มีผลประโยชน์ก้อนใหญ่โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายสัมปทานให้บีทีเอสตั้งแต่ปี 2572 ไปจบที่ปี 2602 กรณีนี้ต้องมีการศึกษาว่าถ้าให้เอกชนดำเนินการ หรือเอากลับมาเป็นของรัฐดำเนินการเอง ตัวเลขกำไรขาดทุนแบบไหนจะดีกว่ากัน แบบไหนประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์มากกว่ากัน มีตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมไปศึกษามา พบว่าหาก กทม.ดำเนินการเองหลังหมดปี 72 ไม่ต่อให้บีทีเอส ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ 4.67 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนดำเนินการจะมีกระแสเงินสดสุทธิแค่ 3.26 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐดำเนินการเองมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่าถึง 4.35 แสนล้านบาท” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า มีตัวละครสำคัญไปเจรจาสายสีเขียวคือนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือดร.เอ้ โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 62 มีคำสั่ง คสช.ที่3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีดร.เอ้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จากนั้นวันที่ 5 มิถุนายน 62 มีการแต่งตั้งดร.เอ้เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นชอบให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่คนค้านเต็มบ้านเต็มเมือง ถามว่าดร.เอ้ สนิทแนบแน่นกับใคร ถ้าไปขึ้นรถไฟฟ้าทุกสถานีก็จะมีรูปโฆษณาดร.เอ้ ทุกสถานีรวม 450 ป้าย แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่หรือเปล่า จ่ายเงินกันหรือไม่ เอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็จะเกี่ยวพันกันกับบัญชีทรัพย์สินของดร.เอ้อีก
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. พรรคร่วมรัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นชอบให้ผ่านสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปีหรือไม่ เพราะดร.เอ้เป็นตัวแทนสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคปชป. แล้วทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ถึงต้องทิ้งทวนโครงการต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีกในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากต่อสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 65 บาทผูกพันไปถึง 40 ปีข้างหน้า และต้องถามหาจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะผิดกฎหมายหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำค่าโดยสารแพงเกินจริง เป็นการผูกขาดตัดตอนเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียวโดยที่ไม่มีการแข่งขัน และสัญญายังเหลือเวลาไปถึงปี 2572 ไม่มีอะไรต้องเร่งด่วน ถามว่าหมูแพง วัวตาย ชาวบ้านไม่มีจะกินทำไมไม่เร่งด่วนไปช่วย แล้วต่อสัมปทานรถไฟฟ้าด่วนอย่างไร เรียกทิ้งทวนหรือไม่
“พรรคเพื่อไทยเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.อนุพงษ์ในเรื่องนี้ ข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว ชัดเจนมาก คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนความขัดแย้งทำให้รัฐบาลพัง หากคุณไปต่อสัญญาให้เขาอีก 40 ปี ไม่มีทางที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะถูกลงได้ หากปี 2572 รถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐและผู้ว่าฯกทม.คนต่อไปให้สัมปทานกลับมาเป็นของ รฟม. ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า บัตรใบเดียวก็ไปได้ทุกสาย ค่ารถไฟฟ้าจะถูกลงอย่างแน่นอน ตอนนี้คนไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้ว จะมาทิ้งทวนเพื่อเป็นภาระคนกรุงเทพฯ อีก” นายยุทธพงศ์ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ นำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงเดินหน้า MOU ปี 44 ถามยกเลิกแล้วได้อะไร
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายพิชัย ชุนหวชิร
‘สนธิรัตน์’ จี้พรรคร่วมรบ. ยึดหลักการยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ
จี้พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน" ระบุว่าเดิมมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้ทั้งดอนเมืองโทลล์เวย์และ
โฆษกรทสช. มั่นใจขั้วรัฐบาลมีเอกภาพ วอนทุกฝ่ายหนุนร่างพรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข
โฆษก รทสช. มั่นใจขั้วรัฐบาลมีเอกภาพ สะท้อนจากการลงมติรายงานนิรโทษกรรม วอนทุกฝ่ายหนุนกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุขเข้าสภาฯ นิรโทษผู้กระทำผิดทางการเมือง ยกเว้น ม.112 พาประเทศไทยออกจากวังวนของความขัดแย้งห้วง20ปี
'ภูมิธรรม' ชี้ 'นิรโทษกรรม' จบแล้ว! หลังสภาโหวตคว่ำข้อสังเกต กมธ.
นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎรรับทราบรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง