ดร.ณัฏฐ์ เทียบหมัดต่อหมัด ร่างแก้รธน.ฉบับ 'ปชน.-เพื่อไทย' โอกาสผ่านยาก!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เทียบหมัดต่อหมัด ตัดอำนาจ สว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯฉบับพรรคประชาชน-เพื่อไทย มีหลายตัวแปร โอกาสผ่านยาก
 
8 ก.พ. 2568  -  ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน เผยแพร่ทัศนะต่อกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บรรจุบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 256 ฉบับพรรคประชาชน ในวันที่ 13 -14 ก.พ.นี้
 
โดยดร.ณัฐวุฒิ ระบุว่า ตามที่พี่น้องประชาชนและหลายฝ่ายได้สอบถามกันเข้ามาเยอะ โดยให้ความสนใจในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ที่จะพิจารณากันภายในสัปดาห์หน้า  หากพิจารณาถึงเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 256  จำนวน 2 ร่าง เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคประชาชนและร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย  ตนขออธิบายให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชนในแง่มุมต่างๆ อันเป็นประโยชน์สาธารณะ ดังนี้   
 
สาระสำคัญเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยเจอตัวแปรสำคัญ คือ การออกเสียงประชามติในปัจจุบันใช้ระบบสองชั้น  สมาชิกวุฒิสภา ตีตกร่างแก้ไข พรบ.การออกเสียงประชามติ ที่ต้องการแก้ไขในมาตรา 13 จากปัจจุบัน ระบบการออกเสียงประชามติสองชั้น ให้เหลือเพียงระบบชั้นเดียว หรือที่เรียกว่า “เสียงข้างมากธรรมดา” ทำให้ร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวถูกยับยั้ง โดยจะต้องรอระยะเวลา 180 วันนับแต่ที่สมาชิกวุฒิสภายับยั้งร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  ส.ส. จะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นและพิจารณายืนยันร่าง พรบ.ใหม่โดยใช้เสียงข้างมากและทูลเกล้าฯร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ตรงนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากอะไร เป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ 
 
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าแม้กรณียับยั้งร่าง พรบ.ประชามติ จะอธิบายเหตุผลต่างๆ ในมิติงบประมาณใช้จ่ายในการจัดออกเสียงประชามติของ กกต. เพราะโอกาสจัดทำประชามติผ่านยากก็ตาม แต่องคาพยพฝ่ายการเมืองย่อมที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่า “เพื่อให้จัดทำประชามติง่ายขึ้น” ปูทางเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะจะต้องจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ต้องแก้ไขให้เหลือระบบชั้นเดียว จะทำให้จัดทำประชามติผ่านง่ายขึ้น ไม่เสียของ
 
แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเสนอให้พิจารณาร่วมทั้งสองสภา จะผ่านการพิจารณาหรือไม่ ต้องพิจารณาตัวแปรสำคัญ และอ่านเกมการเมือง
 
(1)รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้หรือไม่
 
รัฐธรรมนูญหมวด 15 หมวดแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256  ว่าจะต้องมีกระบวนการ หลักเกณฑ์และขั้นตอนอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญไทย เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษ์อักษรแก้ไขยาก และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า หากแก้ไขรายมาตรา ไม่ต้องจัดทำประชามติ เว้นแต่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256(8) และแก้ไขทั้งฉบับ
 
ก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองได้เคยเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และล้มไม่เป็นท่ามาแล้ว  ดังจะเห็นได้จาก ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่า ไม่มีบทบัญญัติใดให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  หากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยเพิ่มบทบัญญัติ หมวด 15/1 ใหม่ ย่อมมีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องไปจัดทำ ประชามติ สอบถามประชาชนก่อนและหลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสร็จสิ้น   
 
ตนขออธิบายได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่ต้องจัดทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนแต่มีข้อยกเว้นในมาตรา 256(8) เท่านั้น  แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไปเพิ่มหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ เป็นหมวดที่ 15/1  ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ทำให้รัฐธรรมนูญยกเลิกทั้งฉบับ
 
การยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เห็นได้ชัด คือ การรัฐประหารทุกครั้ง การยกเลิกใช้บางมาตราในรัฐธรรมนูญ สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และการจัดทำรัฐธรรมนูญ ของ สสร.ในปี 2539 นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 
 
หลักปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน เจ้าของอำนาจ 
 
แต่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการวินิจฉัยภายหลังผ่านการจัดทำประชามติ แสดงให้เห็นว่า ฉันทามติมหาชน เสียงของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นใหญ่ โดยความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ กกต.จะต้องไปสอบถามประชาชนก่อนว่า จะเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก่อน 
 
หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จ ต้องนำไปสอบถามประชาชนอีกครั้ง จะเห็นชอบกับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 
 
หากอธิบายได้ เฉพาะตัวฉบับรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จะต้องนำไป จัดทำประชามติจำนวนสองครั้ง
 
หากย้อนไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) บัญญัติ ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บทททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องไม่อาจทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้จัดทำประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
 
หมายความว่า เฉพาะร่างที่แก้ไขเรื่อง หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องไม่อาจทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ จะต้องนำไปจัดทำประชามติอีกครั้งหนึ่งด้วย 
           
ผลทางกฎหมาย ทำให้การจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ส่งผลให้รัฐธรรมนูญแก้ยาก
           
ข้อถกเถียงว่า จัดทำประชามติสองครั้งหรือสามครั้ง น่าจะเข้าใจตรงกันนะครับ
            
แต่ในเกมการเมือง จะผ่านการพิจารณาของสภาร่วมหรือไม่  เนื้อหาแก้ไขไปลดอำนาจ สว.หรือตัดอำนาจของ สว. ออกไป จะเกิดปัญหาต่อกระบวนการตัดสินใจต่อการโหวตและทิศทางการเมืองแน่นอน ว่า สมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบหรือไม่ แต่มองเกมว่า พรรคภูมิใจไทยและบางพรรคร่วม เห็นต่าง มีผลทางอ้อมต่อกระบวนการตัดสินใจ สว.ค่ายสีน้ำเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จะมีเพียง สว.พันธ์ใหม่หรือค่ายอิสระเท่านั้น ที่เสียงแตกออกไป แต่เสียงข้างน้อยไม่มีผลอะไร โดยเฉพาะการประชุมร่วมของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 (15) บัญญัติ จะต้องเสียง สว.หนึ่งในสาม ในวาระหนึ่งขั้นรับหลักการ และวาระสามขั้นสุดท้าย  โดยจะต้องใช้เสียง สว. 67 คน หากจับอากัปกิริยาของพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมบางพรรค คัดค้านไม่เห็นด้วยและเสียงโหวต สว.ค่ายสีน้ำเงิน ครองเสียง 158-180 คน แม้มี สว.บางคน แอคชั่นผ่านสื่อ ว่าตนยอมลดอำนาจ สว.แต่เป็นเพียงเสียงข้างน้อย  เชื่อว่า การพิจารณาในวาระหนึ่งขั้นรับหลักการโอกาสไม่ผ่านสูง
 
หากพิจารณาตัวแปรอื่น ผลกระทบต่อจำนวน 44 พรรคก้าวไกล(ขณะนั้น) ลงชื่อแก้ไข ปอ.มาตรา 112  ก่อนหน้านี้ คอพาดเขียงอยู่ในชั้น ปปช. แม้จะอ้างว่า ลงชื่อในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม  แต่ยังต้องไปลุ้นว่า ปปช.จะฟันหรือไม่ มีผลต่อความเสี่ยงต่อการพิจารณาในเนื้อหาที่ 2 ร่างนี้
 
หากย้อนไปดูเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 วางบรรทัดฐานไว้ก่อนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปเพิ่มบทบัญญัติ หมวด 15/1 ใหม่ ย่อมมีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องไปจัดทำรัฐธรรมนูญสอบถามประชาชนก่อน 
 
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเสร็จเด็ดขาด และมีผลผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส.และสว.จะต้องปฏิบัติตาม 
 
ส่งผลทำให้ ส.ส.และ สว.ที่ลงชื่อโหวต หากกระทำฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  เป็นฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) มีความเสี่ยงสูงที่ ส.ส.และสว.ถูกร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและคาบเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา 
 
(2) เทียบหมัดต่อหมัดในร่างแก้ไขฯ พรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย
 
=ตัดเงื่อนไขต้องมี สว.หนึ่งในสาม 
 
พรรคประชาชน ร่างแก้ไขใช้เสียงรัฐสภา 350 ส.ส.เห็นชอบ 2 ใน 3 แทน
 
พรรคเพื่อไทย  ใช้แค่เสียงรัฐสภา 350 เสียง
 
=เนื้อหาในร่างใหม่
 
พรรคประชาชน เขียนใหม่ทุกหมวดทุกมาตรา
 
พรรคเพื่อไทย  ห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์
 
=สสร.ตั้ง เลือกตั้ง 100% จำนวน 200 คน
 
พรรคประชาชน ระบบผสม แบบแบ่งเขตตามจังหวัด 100 คนและบัญชีรายชื่อ 100 คน
 
พรรคเพื่อไทย แบ่งตามเขตจังหวัด 200 คน
 
=สสร.ตั้งกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
 
พรรคประชาชน ตั้งคนนอกช่วยยกร่างได้ จำนวน 1 ใน 3 ของ กมธ.
 
พรรคเพื่อไทย สสร.จำนวน 24 คน อีก 23 คนมาจากการเสนอชื่อของ ครม.6 คน ส.ส.12 คน และ สว. 5 คน 
 
=สสร.ร่างรัฐธรรมนูญญใหม่เสร็จแล้ว ส่งต่อให้รัฐสภา
 
พรรคประชาชน รัฐสภาทำได้แค่อภิปราย ให้ความเห็นได้แต่ไม่ลงมติ
 
พรรคเพื่อไทย รัฐสภา ต้องลงมติเห็นชอบ ถ้าไม่เห็นชอบ สสร.ยืนยันร่าง ต้องเสียง 2 ใน 3
 
"หากพิจารณาเนื้อหาหมัดต่อหมัด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยตรงกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่จะเห็นจุดแตกต่างกันหลายประเด็น แต่ที่สำคัญที่พรรคเพื่อไทยนำมาบลัฟร่างของพรรคประชาชนในประเด็น คือ ห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อสับขาหลอกเพื่อให้เห็นว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อลดกระแสคัดค้านของพรรคร่วม หากพิจารณาถึงเนื้อหาร่างทั้งสองฉบับ คือ การแก้ไข หมวด 15 เหมือนกันที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) บัญญัติบังคับให้ต้องจัดทำประชามติซึ่งไม่แตกต่างกัน"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กล้าธรรม' คิดตรงเพื่อไทยลุยแก้รธน. 'ธรรมนัส' สั่ง สส. ห้ามขาดประชุมสภาฯ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา และนายทะเบียนพรรคกล้าธรรม แถลงผลการประชุมพรรคประจำสัปดาห์ว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม ในการที่ ส.ส.ทั้ง 24 คนจะเข้าร่วมประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการ มธ. หวังถกแก้ ม.256 เปิดช่องตั้ง สสร. ผ่านวาระแรก คาดปรับ ครม.หลังศึกซักฟอก

นักวิชาการธรรมศาสตร์ เชื่อ รัฐสภาถกแก้ ม.256 เพื่อตั้ง สสร. ใกล้เคียงที่สุดที่จะผ่านวาระแรก ชี้ รับหลักการไปก่อน ค่อยถกรายละเอียดต่อวาระสอง ลั่น ไม่มีเหตุผ

หมายจับ 'หม่อง ชิตตู่' ผู้นำ BGF ฝ่ายค้านเชียร์มาถูกทาง จี้ล้างบางแก๊งคอลฯข้ามชาติ

สั่นสะเทือนวงการ! ขอออกหมายจับ “หม่อง ชิตตู่” ผู้นำ BGF ขณะที่ฝ่ายค้านเชียร์รัฐบาลมาถูกทาง เร่งเครื่องกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ “โรม” ชี้ไทยเทา-พม่าเทาโดนสกัด ไม่ให้รวมตัวป่วน จี้อย่าปล่อยให้เงียบ“เท้ง” แฉข้อมูลใหม่ มาเลเซียเจอแก๊งจากไทยป่วนหนัก

'เท้ง' ยุนายกฯ ใช้อำนาจบีบพรรคร่วมฯลงชื่อแก้รธน. ให้เป็นการเสนอของครม.

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีการหารือภายในพรรคเพื่อไทย

'เสี่ยหนู' พูดชัดไม่เสี่ยงร่วมวงแก้รธน. ชี้ไม่ใช่กฎหมายรัฐบาล เป็นเรื่องแต่ละพรรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวการนัดร่วมรับประทานอาหารของพรรคร่วมรัฐบาล ครั้งต่อไปที่เป็นคิวของพรรค ภท. ว่า ขณะนี้ยังมีการพิจารณาวัน เพราะต้องรอหารือกับทาง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช