'อนุทิน' ประชุมเกาะติด PM2.5 พร้อมตอกย้ำ 6 มาตรการเข้ม

'อนุทิน' เรียกประชุม บกปภ.ช. เกาะติด PM2.5 ย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการลุยแก้ปัญหาในรัฐบาล เข้ม 6 มาตรการยกระดับลดไฟป่า หมอกควัน

29 ม.ค.2568 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.25 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา บกปภ.ช. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการฯ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ หน่วยงานราชการระดับกระทรวง กรม เหล่าทัพ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

การประชุมครั้งนี้ เป็นกลไกตามกฎหมายและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ ซึ่งนายอนุทิน ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง การลักลอบเผาป่า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน และจังหวัดที่มีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงสุด 5 อันดับ คือ จ.กาญจนบุรี ชัยภูมิ ลพบุรี ตาก และจ.นครราชสีมา และรับฟังการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์จากหน่วยงานพยากรณ์อากาศ

นายอนุทิน กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวิตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยกับสถานการณ์ฝุ่นละออง นี้เป็นอันมาก พร้อมได้ติดตามและประสานงานเรียกประชุมหารืออยู่ตลอดเวลา และกรุณาสั่งการให้เชิญและแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา บกปภ.ช.

"วันนี้ บกปภ.ช. ทำงานในฐานะตัวแทนรัฐบาล ในการสั่งการทุกกระทรวง กรม โดยในระดับพื้นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมีเอกภาพในการบริหารจัดการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผาเรียบร้อยแล้ว และได้ยกระดับการดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น โดยใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นอกเหนือจากอำนาจในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ การร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด"

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้มูลเหตุของปัญหาอยู่ที่การเผา ดังนั้น เราต้องควบคุมไม่ให้มีการเผา ต้องจัดการในบ้านเราให้เรียบร้อยก่อน และถ้าหากว่าในประเทศเราไม่มีปัญหา แต่ยังมีสถานการณ์มาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการลงโทษ (Sanctions) อาทิ ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศที่ก่อปัญหา

"เราต้องดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการเผา เพราะไม้ขีดก้านเดียวเพียงแค่แก้ปัญหาในการสร้างรายได้ แต่มันสร้างปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ เราจึงต้องไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก และต้องกำหนดวิธีการที่เป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชนเกษตรกร เช่น ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้แก้ปัญหาด้วยการฝังกลบและหาวิธีในการแปรสภาพเศษซังข้าวโพด จำนวนกว่า 700,000 กิโลกรม (700 ตัน) ด้วยการขอความร่วมมือจากองค์กรครองส่วนท้องถิ่นนำเครื่องจักรกลไปไถกลบ นำเครื่องแพ็คมาใช้งาน โดยชาวบ้านนำซังข้าวโพดไปอัดแพ็คเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (Bio-Power) ทำอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรไม่เผา ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณในการเยียวยาฟื้นฟู ซึ่งในปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณเยียวยาอุทกภัยทั่วทุกภาคไปกว่า 20,000 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งต้องประสบภัยก่อนแต่ในกรณีสถานการณ์ภัยหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีความแตกต่างกัน เพราะถ้าจะเกิดภัย ต้องเผาก่อน และค่ามลพิษต้องเกิน 150 ไมโครกรัม ซึ่งหากไปถึงจุดนั้นประเทศไทยมืดมิดทั้งประเทศแล้ว และยังส่งผลต่อการดูแลสุขภาพอนามัยที่จะต้องเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหาแนวทางร่วมกันพื่อป้องก่อนที่จะเกิดภัย

นายอนุทิน เน้นย้ำว่า ให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเต็มศักยภาพ ต้องตีเส้นแบ่งกรอบในแต่ละจังหวัด เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ ภาคการเกษตร อสม. อาสาสมัคร และทุกภาคส่วน โดยในส่วนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเด็ดขาดและควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน

ในช่วงท้ายการประชุม นายอนุทิน ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการใน 6 มาตรการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้แก่ 1.มาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที 2.มาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด 3.ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้มีน้อยที่สุด 4.มาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น .5.มาตรการสนับสนุนงบประมาณ ด้วยการเร่งรัดกระบวนการพิจารณางบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหา และ 6.มาตรการการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

การประชุมในครั้งนี้ นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง อธิบดีกรมในสังกัดทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ไฟใต้

'อนุทิน' ลุยภารกิจชายแดนใต้ มอบกำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครอง รุดเยี่ยมผู้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบ ย้ำฝ่ายปกครองเพิ่มความแข็งแกร่ง อส.จชต. ดูแลพื้นที่

'ภูมิธรรม' บอกเมียนมาประสานส่ง 51 เหยื่อคอลเซ็นเตอร์ให้ไทยดูแล!

'ภูมิธรรม' เผยเมียนมาประสานขอส่ง 51 เหยื่อคอลเซ็นเตอร์เข้าไทยวันนี้ ยันไม่ตั้งศูนย์อพยพ หลังสอบสวนเสร็จจะส่งกลับประเทศทันที คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

'บิ๊กอ้วน' ขึงขังจับทันที 'หม่องชิตตู่' หากเหยียบเข้าไทย!

'ภูมิธรรม' เผยมีการขอพยานหลักฐานเตรียมออกหมายจับ 'หม่องชิตตู่' ย้ำเฝ้าระวังหากเข้าแดนไทยพร้อมจับทันที ชี้สั่งเด้งตำรวจเอี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำตามขั้นตอนสอบสวน

'ภูมิธรรม' ลุยสระแก้วเช็กความคืบหน้าซีลชายแดน!

'ภูมิธรรม' ลุยสระแก้ว ติดตามคืบหน้าซีลชายแดน-ปราบยาเสพติด-คอลเซ็นเตอร์ -อาชญากรรมไซเบอร์-ตัดไฟ,เน็ต กดดันเมียนมา เผยดูปัญหาเสาสัญญาณ