"ดร.ณัฏฐ์" มือกฎหมายมหาชน มองสถานการณ์การเมืองร้อนแรง หลังพรรคประชาชนเร่งผลักดันร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หักอำนาจ สว. และไม่จัดทำประชามติ ก่อนเสนอทูลเกล้าฯ ชี้โอกาสผ่านยาก สุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาและถอดถอนออกจากตำแหน่ง
2 ม.ค.2568 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชนและคณะได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ผ่านมา โดยพรรคเพื่อไทยใช้กลไกรัฐสภาจากแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พรบ.ประชามติ ที่แก้ไขจากระบบสองชั้นมาเป็นระบบเสียงข้างมากชั้นเดียวเพื่อนำไปสู่การจัดทำประชามติที่ผ่านจากประชาชนโดยง่าย ถูกยับยั้งร่าง พรบ.ประชามติ โดยสภาสูง หรือสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การแก้ไขล่าช้า เพราะต้องรอระยะเวลา 180 วันนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งยับยั้งร่าง ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่เสร็จภายในวาระของสภานี้
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าเท่าที่ตนอ่านร่างที่เผยแพร่ เป็นเพียงการอาศัยช่องทางเทคนิคทางกฎหมายของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ที่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับพรรคเพื่อไทย ในการใช้ช่องทางลัด แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะรายมาตรา โดยไม่ต้องรอระยะเวลาภายใน 180 วัน โดยใช้ช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้นเป็นการหักอำนาจ สว.และไม่จัดทำประชามติ จะเป็นปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าในประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไปและแทนที่ด้วย เสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทนและตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ ในมาตรา 256 (8) ในกรณี เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้
รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256(9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง2สภารวมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรม นูญ นั้นขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5
หากอ่านเกมการเมือง พรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่ายรัฐบาลก็เอาด้วย เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงของพรรคเพื่อไทย อาจใช้เทคนิคประกบร่างโดยพรรคการเมืองอื่น
หากจับอาการทางการเมือง เกมการเมืองพลิก พลาดท่าในการแก้ไขร่าง พรบ.ประชามติที่ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาสูงและพรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยแต่กลับมาใช้เทคนิคทางการกฎหมายช่องทางนี้ โดยเสนอโดยพรรคประชาชน โดยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่จำต้องจัดทำประชามติเพราะไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ แต่สาระสำคัญว่า แก้เพียงบางส่วนของมาตราเดียวนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับที่กระทบต่อสาระสำคัญ
คือ การริบอำนาจหรือตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา และการไม่จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ หากใช้ช่องทางนี้ โดยเฉพาะประเด็นแก้ไขในมาตรา 256(6) การตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาเสียงหนึ่งในสามออกไป ในวาระสาม จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 156(15) ได้บัญญัติให้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา และการออกแบบใหม่ไม่จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ จะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถึง 3 ครั้ง
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าเคยมีตัวอย่างในปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภา มีความกังวลใจ ในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพราะเห็นได้ชัดว่า เป็นการกระทำในเนื้อหาที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ เชื่อว่าจะมีการต่อต้านอย่างร้อนแรง และนำไปสู่การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบในการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ประกอบกับอาจสุ่มเสี่ยง ผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภา ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ หมายความว่า ร่างแก้ไขใหม่ ถอนทั้งยวงในมาตรา 256(8) อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และนำไปปปช.ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235(1) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
ดังนั้นเทคนิคและช่องทางลัดของร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคประชาชนนั้น มีโอกาสผ่านยาก ภาวะสุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาและถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมา เพราะที่ผ่านมาร่างที่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลเดิม ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ปปช. แม้ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาชน จะพูดให้ดูดีว่า เป็นอำนาจของ ส.ส.ในการแก้ไขกฎหมาย พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการก็ตาม แต่หาก ยื่น ปปช.ยื่น ถอดถอน ศาลฎีกาฯรับฟ้องส.ส.พรรคประชาชน ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ย่อมส่งผลให้ตัวเลข ส.ส.ลดลง จาก ลำดับ 1 ในสภา หล่นไปลำดับ 2 ทันที
กรณีก่อนเสนอทูลเกล้าฯ ยกเลิกจัดทำประชามติ มาตรา 256 (8) โดยหลักอำนาจสถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญแบบจำกัด เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะนำมาสอบถามประชาชน โดยฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่เรียกว่า การจัดทำประชามติว่า หากยกเลิกมาตรา 256 (8) แสดงว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว สามารถเสนอทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ได้ทันที ไม่ต้องย้อนนำไปจัดทำประชามติก่อน
หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา 211 วรรคสี่ ส่งผลให้การจัดทำประชามติ ลดลงจาก 3 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้งและขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
หากอ่านเกมการเมืองสภา ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 การพิจารณาในวาระ หนี่งโอกาสผ่านยาก แต่หากผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการ ในวาระสอง กระบวนการยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรคประชาชนไปหักอำนาจของวุฒิสภา เน้นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป แถมร่างไปถอดเนื้อหามาตรา 256 (8) ออกทั้งหมด ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญ เชื่อว่าจะมีแรงเสียดทานและต่อต้านค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาในวาระที่สามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องใช้เสียง สว.หนึ่งในสาม
ส่วนที่ถามว่า ร่าง แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 15/1 ซึ่งเพิ่มใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยกติกาบัตร2ใบ แบ่งเป็นเลือกแบบเขต โดยสมัครในนามบุคคล จำนวน 100 คน ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
ทั้งนี้ได้กำหนดให้การเลือกแบบบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครเป็น สสร. ต้องลงสมัครเป็นทีม ทีมละไม่น้อยกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 100 คนนั้น ดร.ณัฎฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชน ตนเห็นว่า กรณีของผู้ร่างรัฐธรรมนูฯหรือ สสร. หากเทียบเคียงกับ สสร.ในปี 2539 มีเพียงจำนวน 99 คนมาจากตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนนักวิชาการ นำไปสู่คลอดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 การเพิ่มจำนวน สสร.ถึง 200 คน ไม่ได้ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญรวดเร็วมากกว่าเดิม แต่กลับทำให้ล่าช้ามากกว่า เพราะทำให้รัฐเสียงบประมาณจำนวนมากโดยมิใช่เหตุ รวมทั้งการออกแบบร่างของพรรคประชาชน สสร.มาจาก สองกลุ่ม คือ ตัวแทนของประชาชน แต่ไม่ครอบคลุมสัดส่วนจากตัวแทนจากส่วนราชการและนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้การออกแบบใหม่ มุ่งไปถึงสัดส่วนของตัวแทนประชาชนเป็นหลัก ขัดต่อหลักการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สว.พันธุ์ใหม่' พร้อมโหวตแก้รธน. มาตรา 256 หักอำนาจวุฒิสภา เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภากลางเดือนมกราคมนี้
'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา
'นิกร' เชื่อแก้รธน. มาตรา 256 ฉบับพรรคส้ม โอกาสผ่านยาก เหตุหักอำนาจ สว.
นายนิกร จํานง เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1
'ชูศักดิ์' ยันเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ แก้รธน. มาตรา 256 ใครจะร้องก็ว่ากันไป
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า นายวันมูฮะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้อำนาจสั่งบรรจุร่างจะแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคประชาชน (ปชน.)
ดร.ณัฏฐ์ อัด ‘นิด้าโพล’ ชี้นำประชาชน ผลสำรวจไม่สะท้อนความเป็นจริง
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองไทยระบบอุปถัมภ์ การจัดทำโพล “นิด้าโพล” ความนิยมผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมือง ชี้นำประชาชน ไม่สะท้อนความเป็นจริง
ดร.ณัฏฐ์ มองการเมืองไทยปี 68 'รัฐบาลอิ๊งค์' มีเสถียรภาพ อยู่ยาวถึงปี 70
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การเมืองไทยปี 2568 “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” กุมเสียงข้างมาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้เจอโรครุมเร้า นักร้องเรียนรายวัน ยังไม่มีตัวแปรใดล้มรัฐบาล ฟันธง รัฐบาลอยู่ยาวถึงปี 2570