รัฐสภารับหลักการ ร่าง “พ.ร.ป.ปราบทุจริต” ทั้งฉบับ “ครม.และ วิโรจน์” ขณะที่ “‘สว.” เสียงแตก หนุน-ค้าน โยก คดีทุจริตกองทัพ สู่ศาลทุจริต “วันนอร์”แจ้งเตรียมถก แก้ไขรธน.วันที่ 14-15 ม.ค.68
20 ธ.ค.2567 - เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งเสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) และฉบับที่เสนอโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ทั้งนี้ที่ประชุมได้รวมการพิจารณาไปในคราวเดียวกัน แต่แยกลงมติแต่ละฉบับ
สำหรับสารสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับแก้ไข ที่เสนอโดย ครม. นั้น เป็นการเพิ่มเนื้อหาสาระว่าด้วยการกำหนดบทคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลแก่ หรือแสดงความเห็นต่อป.ป.ช. เกี่ยวกับการทำผิดที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ให้รับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือบุคคลที่ให้ข้อมูล เบาะแสดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นยังกำหนดมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวโทษ หรือถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปาก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะที่ฉบับของนายวิโรจน์ มีสาระสำคัญ คือ ให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตประพฤติมิชอบ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จากเดิมที่ พ.ร.บ.ฯ พ.ศ.2561 กำหนดให้อยู่ในขอบเขตของธรรมนูญศาลทหาร และให้อัยการทหารดำเนินการ รวมถึงโอนย้ายคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ทั้งนี้ในการแสดงความคิดเห็นของ สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. และ สส.พรรคประชาชน ที่อภิปรายแสดงท่าทีสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฯ ทั้ง 2 ฉบับ เพราะมองว่าเป็นมาตรการสำคัญของการป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ลุกอภิปรายได้แสดงความเห็นสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บฯ ฉบับที่ ครม. เสนอเพียงฉบับเดียว ยกเว้นในส่วนของพรรคภูมิใจไทย โดยนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุน ทั้ง2ฉบับ และตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ฯของครม. กำหนดบทคุ้มครองพยานและผู้ร้องเพื่อประโยชน์ในทางคดีของ ป.ป.ช. ทั้งนี้หากมีกรณี 1.ผู้แจ้งและพยานมีเจตนากลั่นแกล้ง 2.พยานกลับคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวน 3.ผลการตัดสินพิจารณาของ ป.ป.ช. คณะใหญ่ยกคำร้อง 4.ป.ป.ช.ยื่นอัยการแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และ 5.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดสินไม่ผิดคดีทุจริตที่ ป.ป.ช.ส่ง นั้น ผู้แจ้งเบาะแส พยานนั้นได้รับความคุ้มครองหรือไม่
นายณัฏฐ์ชนน กล่าวต่อว่า กรณีที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ บุคคลที่ถูกร้องจะมีผล กระทบต่อการเลื่อนขั้น รวมถึงมีผลทางการเมือง ที่สส.ไม่สามารถได้เป็นรัฐมนตรีเพราะถูก ป.ป.ช. สอบ นักการเมืองที่มีมลทินจะไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายใดๆ ถูกริดรอนสิทธิ ดังนั้นกมธ.วิสามัญที่ตั้งขึ้น ควรให้ความเป็นธรรมผู้แจ้งเบาะแส ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา หน่วยงานของรัฐที่เสียหาย และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบด้วย
ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บฯ ที่เสนอโดยนายวิโรจน์ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของทหาร ทั้งนี้คดีทุจริตถือเป็นคดีอาญาประเภทหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วศาลทหารใช้ระบบไต่สวน ตั้งแต่ พ.ศ.2559 พร้อมกับศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ประสานการปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นและเริ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ศาลทหารได้พัฒนาบุคลากร ตั้งแต่การอบรมและการศึกษา รวมถึงพัฒนาเครื่องมือมีความพร้อมซึ่งได้เชิญวิทยากรจากกระบวนการยุติธรรม
“ขอให้พูดเรื่องความจริง อย่าพูดเรื่องเท็จจริง ในปี2565-2566 พบว่ามีการดำเนินคดี 98% มีคดียกฟ้อง 1% ดังนั้นกล่าวอ้างว่าทหารรช่วยเหลือกันเล่นพรรคเล่นพวก แต่ศาลทหารทรงความยุติธรรม ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข และคิดว่าประชาชนกำลังดูเราอยู่ ที่พบว่าฉบับของนายวิโรจน์บอกว่าทำเพื่อประชาชน ดูจากผลการรับฟังความเห็น รวม 60 วัน ผลการรับฟังความเห็น มีผู้ร่วมชม 399 คน มีผู้แสดงความเห็น 14 คน เห็นด้วย 6 คน ไม่เห็นด้วย 7 คน ไหนอ้างว่าฉบับนี้ทำเพื่อประชาน ผมอยากรู้ว่าประชานทราบเรื่องนี้มากแค่ไหน ผมคิดว่าหากผมได้รับฟังความเห็นและประชาชนสนใจมากแบบนี้ น่าจะยกเลิกเรื่องนี้ ไม่น่าจะเป็นภาระของสภา” พล.อ.สวัสดิ์ กล่าว
หลังสมาชิกรัฐสภา อภิปรายเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ให้ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ที่ละฉบับ โดยร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับ ครม.เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 493 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนไม่มี ถือว่าที่ประชุมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน แปรญัตติ 15 วัน
จากนั้นลงมติ ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนายวิโรจน์ เห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 129 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยใช้กมธ.ฯชุดเดียวกับฉบับ ครม.เสนอ โดยใช้ร่างของครม.เป็นร่างหลัก
ก่อนปิดประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งว่า จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรจุระเบียบวาระไปแล้ว โดยจะมีการประชุมในวันที่ 14-15 ม.ค. 68
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หัวหน้าเท้ง' อัดนายกฯอิ๊งค์ ชิ่งตอบกระทู้ถามสด ไม่เห็นความสำคัญของสภาฯ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง
ถกประชามติเดือด! เพื่อไทยจวกพรรคร่วมฯตัวถ่วงประชาธิปไตย ภูมิใจไทยสวนกลับอย่ามักง่าย
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ(ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว
สภาฯ ไฟเขียวกฎหมายอำนาจเรียกของ กมธ. ถกวุ่นเพิ่มโทษค่าปรับเอกชนไม่ร่วมมือ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ….ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
'วิสุทธิ์' เตือน สส.เพื่อไทยอย่าลืมแถวตรงขึ้นรถไฟไปสัมมนาที่หัวหิน
'วิสุทธิ์' ขอ สส.เพื่อไทยอยู่เป็นองค์ประชุมสภา พร้อมกำชับไปให้ทันร่วมขบวนรถไฟไปสัมมนาพรรค
'แพทองธาร' บอกชัด 12 ธ.ค. เวลาไม่เหมาะสมตอบกระทู้สภาฯ ติดแถลงผลงานรัฐบาล
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้ไปตอบกระทู้ในสภาฯ มีแผนจะไปตอบบ้างหรือไม่ ว่าตนมีแพลนที่จะไปตอบอยู่แล้ว จริงๆอยากไป
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม