กกต.แนะ 'ทักษิณ' มาแจงปมครอบงำเพื่อประโยชน์ต่อรูปคดี!

'อิทธิพร' เผยยุบพรรค 4 คำร้อง ส่งหนังสือเชิญ 4 ผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำแล้ว ชี้ 'ทักษิณ' ในฐานะบุคคลเกี่ยวข้อง ควรร่วมมือเพื่อให้ความเห็นชี้แจง โต้ตอบข้อกล่าวหา เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและรูปคดี

18 ธ.ค.2567 - นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ กล่าวถึงการที่ กกต.มีหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นที่ถูกกล่าวหาว่ายอมให้นายทักษิณ ชินวัตรครอบงำ มาให้ถ้อยคำกรณีถูกร้องยุบพรรคว่า เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องว่า อาจมีการกระทำที่มีการฝ่าฝืน กฎหมายพรรคการเมือง กกต.จะพิจารณาก่อนว่าคำร้องนั้น สมควรที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นคำร้องที่เลื่อนลอย ทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในฐานะนายทะเบียน เห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล ไม่ควรรับดำเนินการ แต่หากเห็นข้อเท็จจริงมีมูล สมควรรับไว้พิจารณานายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะสั่งให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานรับไปดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็จะรวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆรวมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง มาให้ถ้อยคำ และเมื่อคณะกรรมการเห็นว่าได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ก็จะสรุปความเห็นเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งนายทะเบียนก็จะใช้ดุลพินิจของตนพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่มีมูล ถ้าเห็นว่าไม่มีมูลก็สั่งยุติเรื่อง ตามมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และแจ้งต่อ กกต.ทราบ โดย กกต.อาจจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

“เรื่องการส่งหนังสือเท่าที่ผมทราบ ลักษณะการทำงานของเรา เมื่อเรื่องอยู่ในกรอบความรับผิดชอบของใคร เรามักจะไม่ไปแทรกแซง แต่กรณีเรื่องยุบพรรคนี้มี 4 คำร้อง ซึ่งได้มีการเชิญผู้ร้อง 4 ท่าน มาให้ข้อมูลแล้ว และมีหนังสือเชิญผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำด้วย ซึ่งไม่ทราบว่ามาให้ถ้อยคำแล้วหรือยัง”

เมื่อถามว่ารวมถึงมีหนังสือให้นายทักษิณมาชี้แจงด้วยใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่ว่าเขาร้องใคร สิ่งแรกที่ กกต.ต้องทำคือให้โอกาสได้มีโอกาสชี้แจง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำนี้แปลความได้กว้างว่ารวมถึงบุคคลต่างๆ ก็ได้ด้วย

เมื่อถามต่อว่าหากนายทักษิณ ไม่สะดวกจะให้ข้อมูลทางคณะกรรม การมีอำนาจที่จะเรียกนายทักษิณมาให้ข้อมูลได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่มีอำนาจ แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ ขอความร่วมมือมาให้ถ้อยคำ ซึ่งก็จะได้รับความร่วมมือให้ถ้อยคำเป็นเอกสาร เป็นหนังสือ หรือมาให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง หรือผ่านใครก็ได้ แต่หากไม่ให้ความร่วมมือคณะกรรมการก็จะพิจารณาจากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ซึ่งการให้ความร่วมมือถ้า มองให้ดีแล้วจะเป็นประโยชน์เพราะจะเป็นโอกาสให้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ถูกร้องสามารถให้ความเห็นชี้แจง โต้ตอบข้อกล่าวหาที่มีต่อตนได้ จึงมีประโยชน์ต่อตนและรูปคดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป่วยทิพย์ชั้น 14 ร้อน! มวลชนยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ป.ป.ช.อย่าทำให้สิ้นศรัทธา

'อดีตแกนนำพันธมิตร​ -​ กปปส.​ -​ จตุพร' นำมวลชนบุก ​ป.ป.ช.​ยื่น​ 4 ข้อเสนอประกอบการพิจารณาคดีป่วยทิพย์ชั้น​ 14 'ตู่' รับยังไม่ไว้วางใจกันทำหน้าที่ เลขาฯ ​ป.ป.ช.ขออย่ากังวล ทำหน้าที่ตามพยานหลักฐาน

เอาแล้ว! ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ตีตกคำร้องป่วยทิพย์ชั้น 14

มติเอกฉันท์! ศาล รธน.ตีตกคำร้อง รมว.ยุติธรรม -ราชทัณฑ์ เอื้อประโยชน์ 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 เหตุไม่มีข้อเท็จจริง หลักฐานยังห่างไกล เป็นเพียงกล่าวอ้าง

'ประธานกกต.' มั่นใจดูแลเลือกตั้งอบจ.เชื่อไม่เกิดปัญหาในจังหวัดบ้านใหญ่

ประธานกกต. มั่นใจ ดูแลเลือกตั้งอบจ. เชื่อไม่เกิดปัญหาในจังหวัดบ้านใหญ่ กกต.ประสานตร. - หน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแล แนะผู้สมัครตรวจสอบคุณสมบัติก่อนลงสนาม กองเชียร์มาได้แต่ต้องอยู่ในกรอบกม.