'ศิริกัญญา' จี้ถาม 'ปฏิรูประบบภาษี' บอก ฟังแล้วเหนื่อยไม่มีเป้าหมาย 'จุลพันธ์' แย้งบอกเป็นแนวทางศึกษา ระบุ 'ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง' แค่เดินหน้าไป เหน็บเอาใจยากพอสมควร
12 ธ.ค.2567 – น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัย มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มาตอบกระทู้แทน
น.ส.ศิริกัญญา ยืนยันว่า การสอบถามครั้งนี้ ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปรายได้รัฐ จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีมาตอบ เพราะความครอบคลุมนั้น ครอบคลุมไปมากกว่ากระทรวงการคลังเพียงกระทรวงเดียว ซึ่งเมื่อได้รับการประสานมาว่า จะเป็นนายพิชัยมาตอบ จึงพยายามปรับคำถามให้เข้ากัน แต่พอมีการเปลี่ยนตัวอีกหนึ่งครั้งเป็นนายจุลพันธ์จึงไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสามารถตอบคำถามที่อยากถามได้หรือไม่
คำถามแรก น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย เคยระบุในหลายวาระ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน เกี่ยวกับแนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการจัดเก็บรายได้รัฐ ซึ่งเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูป แต่การที่นายพิชัย ระบุตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้รัฐ โดยมีการเสนอภาษี 3 ตัว ในแนวทาง 2 ลด 1 เพิ่ม คือศึกษาการลดเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% และลดเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่จัดเก็บเป็นแบบขั้นบันได เปลี่ยนมาเป็นเรทเดียวกันทั้งประเทศที่ 15% และการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% เช่นเดียวกันนั้น
น.ส.ศิริกัญญาสอบถามถึงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่า มีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐให้มากขึ้นใช่หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับที่เคยกล่าวไว้, จะจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นเท่าไหร่, เมื่อมีการปฏิรูปแล้ว รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่หากเทียบกับจีดีพี, ได้ให้ตุ๊กตากับหน่วยงานไปศึกษาอัตราที่ควรจะเป็น คือ 15% ของภาษีทั้ง 3 ตัวใช่หรือไม่, ตัวเลข 15% นี้ มาอย่างไร ภายใต้แนวคิดอะไร, ได้ให้นโยบายเรื่องการกระจายภาระภาษี จากการปฏิรูปไว้อย่างไร, ได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่า ใครควรจะต้องรับภาระภาษีจากการปฏิรูปครั้งนี้มากที่สุด และใครควรที่จะได้รับการลดภาษีลง
คำถามที่สอง หากการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น โดยที่กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดนั้น จริงๆ ก็เป็นแนวทางที่ดี แต่วิธีการที่เลือกในการลดภาษีนิติบุคคลลง หากจะลดเหลือ 15% ได้มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่า ทุกๆ เปอร์เซ็นต์ที่ลดลง จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไหร่ เนื่องจากเมื่อคำนวณแล้ว คาดว่าจะทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง ประมาณ 190,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะจัดเก็บได้ของแต่ละปี และหากเทียบกับปี 66 ที่เคยมีการลดภาษีลง จาก 30 เหลือ 23 และ 20 นั้น หากมองเพียงแค่ตัวเลข ตัวเลขก็อาจจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับจีดีพีแล้ว กลับลดลง หรือหากจะอ้างว่าอยากทำให้สอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกนั้น ก็คือการกำหนดให้ไม่ตำกว่า 15% ไม่ใช่สูงสุดไม่เกิน 15%
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า จากที่เข้าใจว่า กระทรวงการคลังมีแผนรับมืออยู่แล้ว ในการเตรียมออกพระราชบัญญัติภาษีส่วนเพิ่ม จึงไม่เห็นความจำเป็นที่อยู่ดีๆ จะต้องไปลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขนาดนี้ ขณะเดียวกัน ยังทำให้ต้องหาตัวอื่น เพื่อมาเพิ่มรายได้ภาษีให้กับประเทศด้วย ดังนั้นจึงคิดว่าหากอยากช่วยคนจนจริงๆ ไม่เห็นจำเป็นต้องขึ้นภาษีแล้วเอาเงินมาให้เลย เพราะหากไม่ขึ้นน่าจะช่วยได้เร็วกว่า แม้จะพูดถึงตัวภาษีมูลค่าเพิ่มเอง ตนก็มั่นใจว่า ไม่ได้มีลักษณะถดถอยอย่างที่เราเคยเข้าใจกันมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับรายได้ เนื่องจากหากขึ้นแล้ว อย่างไรภาระภาษี ก็ต้องเพิ่มขึ้นอยู่ดี และเมื่อพูดว่า จะนำเงินมาทำอะไรเพื่อประชาชน เราก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า จะได้อะไรกลับมา
ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 15% นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ระบุ จะไม่มีการเก็บแบบขั้นบันไดแล้ว ซึ่งมองว่าการทำแบบนี้ จะสูญเสียหลักการของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องคงความก้าวหน้าไว้ คนที่มีความสามารถในการจ่ายสูง ก็ต้องจ่ายเพิ่ม คนไม่มีความสามารถในการจ่าย ก็ต้องจ่ายลดลง ท่านเองยังเชื่อในเรื่องคนมีรายได้น้อยควรได้รับเงินเพิ่มจากรัฐด้วยซ้ำ และหากไม่มีการเสียรายได้มากขนาดนี้ จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็คงไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มมากขนาดนี้
จากนั้น นายจุลพันธ์ ลุกชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้า ภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมาก ที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการ มาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ มันผูกพันกันจนเป็นใยเดียวกัน จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้นและเกิดเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด
นายจุลพนธ์ ชี้ว่า ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้าหรอกว่าเป็นเท่าไหร่ แต่แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15% ก็เป็นไปได้ ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐ พอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่า ทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า สุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มันมีเรื่องของระยะเวลา
นายจุลพันธ์ แนะนำว่า ให้ถอยมาหนึ่งก้าว แล้วท่านจะมองเห็นภาพใหญ่ว่า กลไกในการเดินหน้าในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษี มันไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ
นายจุลพันธ์ ยังชี้แจงเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังไม่ได้มีข้อตกลง หรือข้อสั่งการ และความชัดเจนใดๆ เป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่ได้มีข้อตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หากใช้คำว่าเลือกที่จะทำ ตอบว่ายังไม่ได้ดำเนินการ แต่ข้อเสนอนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และในประเทศให้มากขึ้น
นายจุลพันธ์ ระบุว่า เรากำลังจะเข้าร่วม OECD ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ก่อนจะย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน วันนี้โลกมันต่อกันทั้งหมดแล้ว ไม่มีรอยตะเข็บ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันผลกระทบกับประเทศที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า คู่ค้า เพื่อจากกำหนดให้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม
“ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง เราก็จะเดินหน้าไป หวังว่าสุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด และสุดท้ายกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสกลับมาถกมาหารือกันในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาอีกอยู่ดี ท่านคงได้มีโอกาสพูดคุยกับผมอีกครั้งหนึ่ง” นายจุลพันธ์ กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า เมื่อฟังนายจุลพันธ์ชี้แจงแล้ว ก็รู้สึกเหนื่อยหนัก เพราะไม่มีทั้งโจทก์ ไม่มีทั้งเป้า และไม่มีธงด้วย แล้วจะไปอย่างไรกันต่อ สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ตกลงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าปฏิรูปเสร็จจะได้รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ตรงกับปัญหาที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนแรกหรือไม่ และในท้ายที่สุด จะสามารถดึงดูดนักลงทุนด้วยการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่ 15% ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่การกำหนดอัตราเช่นนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้ประเทศต่างๆ ต้องมานั่งแข่งเรื่องการลดภาษีอีกแล้ว เพราะเคยเห็นมาก่อนแล้วว่า เป็นมหกรรมการวิ่งลงเหว แต่ท่านก็ยังคิดจะดึงดูดนักลงทุนด้วยเครื่องมือเดิมๆ แทนที่จะไปเร่งสร้างทักษะทางด้านอื่นๆ
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย เคยระบุถึงการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งคิดว่าเป็นโจทก์เดียวกัน หากอยากจะเก็บรายได้ให้รัฐบาลเพิ่มขึ้น เพราะการเก็บภาษี ก็มีแต่คนด่า จึงไปดึงเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ และการระบุว่าเงินสำรองมากเกินไป จนทำให้เงินบาทแข็ง จึงจะลดโดยการแยกออกมาอีกกล่องนึง เพื่อบริหารเหมือนประเทศอื่นทำกันนั้น ตอนแรกคิดว่า จะมีแนวคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งของชาติขึ้นมา แต่การแถลงในโครงการแก้หนี้เฟสสองเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลับระบุ จะดึงเงินส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสภาพคล่องกว่า 4-5 ล้านล้านบาท ที่จะหาทางนำเอาออกมาใช้ เพื่อดูแลประชาชนนั้น เมื่อฟังแล้วมีหลายกรรมหลายวาระที่สาธารณชนต้องมาถกกันเรื่องนี้ว่า สมควรเอาออกมาใช้หรือไม่ เพราะทุกครั้งที่เราถกกันก็มักจะเป็นรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย นำวนกลับมาเรื่องนี้อีก เนื่องจากยังยืนยันทำตามนโยบายเดิมที่เคยทำมา
คำถามที่สามจึงอยากถามว่า รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะศึกษาการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จริงหรือไม่ หากจะนำมาใช้จริง ก็ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า สภาพคล่อง 4-5 ล้านล้านบาทนั้น จะเอามาจากส่วนไหน เพราะหากจะนำเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราระหว่างประเทศมาแลกกลับเป็นเงินบาท รับรองว่าการที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยากให้เงินบาทแข็งได้แน่นอน ถ้าจะแลกออกมามากขนาดนั้น และหากจะมีการทำจริงๆ คงต้องมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่า ยังไม่มีการอนุญาตให้ท่านทำอะไรแบบนั้นได้ และนี่อาจเป็นเหตุผลหรือไม่ว่า เหตุใดจึงต้องมีการผลักดันตัวแทนฝั่งรัฐบาล ไปเป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหนึ่งอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือนี่เป็นแนวคิดที่จะศึกษาอีกหรือไม่
นายจุลพันธ์ จึงลุกกล่าวติดตลกว่า เอาใจท่านยากพอสมควร พอตอบว่ามีธง มีเป้าหมาย แล้วท่านก็จะมาอีกวิธีหนึ่ง ก็เลยบอกว่าไม่มีธง เพราะเปิดการศึกษาให้เป็นอิสระ ทุกอย่างหากดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับจะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ก็ไม่กล้าที่จะการันตี ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนพูด เพราะยังไม่เคยได้ยินจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจับประเด็นมาถูกต้องหรือไม่ด้วยซ้ำ หวังว่าถูก แต่สุดท้ายไม่เป็นไร มีประเด็นจั่วหัวมาแล้วอย่างนี้ คงมีเวลาในสภากันอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการถามกระทู้ น.ส.ศิริกัญญา มีสีหน้าตั้งใจฟังนายจุลพันธ์อย่างเคร่งเครียด และมีการทวนคำพูดนายจุลพันธ์ไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิธา’ ปลุกคนเชียงใหม่ อย่าเลือกพวกพูดอย่างทำอย่าง ไม่รักษาสัญญา
'พิธา' ปลุกเชียงใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง 'นายก อบจ.' ยกภาษิต 'ของใหม่บ่ลอง ของงามบ่เห็น' ชวนทบทวนเลือกแบบเดิมก็อยู่แบบเดิม ลั่นไม่มีใครเป็นเจ้าของความคิดคน แข่งกันตรงไปตรงมา ไม่ใช่พูดอย่างทำอีกอย่าง ไม่รักษาสัญญา
'เท้ง' โอด ปชน.ตรวจสอบตรงไปตรงมา แต่ไม่มีงบฯในพื้นที่
'เท้ง' หาเสียง 'นายก อบจ.ชลบุรี' จังหวัดสุดท้ายภาคตะวันออก โอด 'สส.พรรคประชาชน' ตรวจสอบตรงไปตรงมา แต่ไม่มีงบในพื้นที่ ครั้งนี้หากได้ อบจ. มั่นใจ งบตกถึงมือพี่น้องเต็มเม็ดเต็มหน่วย
'หัวหน้าเท้ง' ลุย 3 จังหวัดตะวันออก โวหนักปชน.ชนะแก้จบทุกปัญหา
'หัวหน้าเท้ง' ช่วยผู้สมัคร 'นายก อบจ.' ภาคตะวันออกหาเสียง 3 จังหวัดรวด 'จันทบุรี-ระยอง-ชลบุรี' โว เลือกผู้สมัครระยองไป ไม่มีผิดหวัง น้ำท่วมในเมืองแก้ได้แน่
'ทักษิณ' นำทัพ กวาดเรียบศึกอบจ. 'ส้มร่วง' แพ้ฤทธิ์บ้านใหญ่
นักวิชาการชี้เปรี้ยง พท.-ทักษิณ โอกาสสูงกวาดนายกอบจ.เกือบหมด! ส่วนพรรคส้ม ปาดเหงื่อ เสี่ยงร่วงปักธงไม่สำเร็จ แพ้ฤทธิ์บ้านใหญ่ แต่สจ.คาดผงาด เข้าวินหลายจังหวัด
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
วันเด็กพรรคประชาชนคึกคัก 'ดช.ไอติม' ปลื้มร่างพ.ร.บ.ไม่ตีเด็กผ่านสภาฯ
พรรคประชาชนจัดกิจกรรมวันเด็ก “เมื่อทุกคนเลือกห้องเรียนเองได้” โดยบรรยากาศที่อาคารอนาคตใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก เด็ก ผู้ปกครอง และประชาชนเดิ