นักเศรษฐศาสตร์ ฉีกหน้า ‘พิชัย’ ย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษี ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ฉีกหน้าขุนคลังพิชัยย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษียิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไม่ใช่ลดเตือนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเสี่ยงเกิดวิกฤติการคลังคนสงสัยเอื้อประโยชน์คนในรัฐบาลกลุ่มทุนใหญ่  แนะเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้าจะได้ผลกว่า 

8 ธ.ค. 2567 – รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นต่อแนวคิดนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลัง โดยเมื่อถามถึงกรณี นายกรัฐมนตรีระบุว่า“กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เช่น เพิ่ม VAT จาก 7% เป็น15% และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคลเหลือ 15% มองว่า หากทำจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ตามที่นายกฯ ระบุหรือไม่โดยกล่าวตอบว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 3 มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอมาเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การลดความเหลื่อมล้ำ ในทางทฤษฎี การเพิ่มการจัดเก็บภาษีทางอ้อม เช่น VAT จะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ในขณะที่ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีทรัพย์สิน จะลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว โดยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่ามีสัดส่วนภาษีทางอ้อมซึ่งจัดเก็บจากฐานการบริโภคสูงกว่าภาษีทางตรง (65:35)จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการเพิ่ม VAT แต่ลดภาษีเงินได้ โดยอ้างว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีอย่างชัดเจน

รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวอีกว่า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากจะทำให้ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างมาก ยังเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางการคลัง และอาจไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ มิใช่เร่งรีบผลักดันนโยบายเพราะประการแรก การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยหลักแล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มทุน ในทางทฤษฎีจึงไม่ใช่แนวนโยบายที่ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติพบว่าการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างมากในปี 2560 จากเดิมไปอยู่ที่ 21%เกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัทข้ามชาติได้ประโยชน์มหาศาลจากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่รัฐต้องใช้งบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนมาลงทุน ดังนั้น เมื่อได้กำไรมหาศาลจากการทำธุรกิจ ก็ต้องจ่ายคืนให้กับประเทศในรูปของภาษี โดยปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20 %ซึ่งจัดว่าไม่ใช่ระดับที่สูง เพราะค่าเฉลี่ยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 21 %ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีจากเอกชนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศก็มีอัตราภาษีดังกล่าวใกล้เคียงประเทศไทย 

ดร.ชิดตะวันกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ งานวิจัยชี้ชัดว่า การคอร์รัปชันที่สูงและธรรมาภิบาลภาครัฐที่ต่ำ จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง ดังนั้น ณ ปัจจุบันที่ไทยมีการคอร์รัปชันในระดับวิกฤติ การจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งไทยอยู่ลำดับที่108 จากจำนวน 177 ประเทศ ดังนั้น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลไทยนอกจากอาจไม่สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างที่อ้าง ยังจะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีต่ำลง ส่งผลต่องบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.ชิดตะวัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า  การเร่งรีบลดภาษีนิติบุคคล ทั้งๆ ที่อัตราภาษีนิติบุคคลของไทยก็ไม่ได้สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ และตามหลักวิชาการเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หาได้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำดังที่รัฐบาลกล่าวอ้างทำให้ประชาชนเกิดความกังขาว่า การออกนโยบายดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่เนื่องจากผู้บริหารประเทศบางคนก็มีญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลที่ทำธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นอภิมหาศาลจากการลดภาษีนิติบุคคลในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอาจได้รับประโยชน์บ้างเพียงน้อยนิด หากนโยบายนี้ส่งผลให้มีการลงทุน จนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อถามว่ามีความคิดเห็นอยางไร กับการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาอยู่ที่ 15% ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบ เพราะว่าอาจารย์จะได้ประโยชน์จากการจ่ายภาษีเงินได้น้อยลงกว่า ณอัตราภาษีที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน ในขณะที่คนที่มีรายได้สูงกว่าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นไปอีก

สำหรับคนที่มีรายได้ระดับสูงสุดก็จะได้รับประโยชน์สูงที่สุด จากการจ่ายภาษีน้อยลงจากเดิมอย่างมาก 

“อย่างไรก็ดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะการลดภาษีในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแผนในการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นมาทดแทนจะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลงอย่างมาก จนเสี่ยงก่อให้เกิดวิกฤติการคลัง นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าการลดภาษีดังกล่าวจะดึงดูดคนเก่งได้ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกซึ่งทำให้ศักยภาพความสามารถของบุคคลไม่ได้เป็นเครื่องการันตีการประสบความสำเร็จ”นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุ

ถามถึงว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษีหรือไม่ รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวว่า สมควรปฏิรูปอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้าแบบจริงจังเพราะนอกจากภาษีดังกล่าวจะไม่ลดแรงจูงใจในการทำงาน/การลงทุน ยังทำให้การถือครองที่ดินของกลุ่มนายทุนเพื่อเก็งกำไรต่ำลงส่งผลให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรการผลิตที่สำคัญถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่เป็นมาตรการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน