'จุลพงศ์' ยันคำพิพากษา 'เขากระโดง' เป็นกรรมสิทธิ์รฟท.สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ อัด'กรมที่ดิน' ใหญ่กว่าศาลเลือกปฏิบัติเพิกถอนสิทธิ์บางแปลงแต่บางแปลงตั้งกก.สอบสวน เอื้อนักการเมือง ข้องใจ 'รฟท.' ไม่เลือกวิธีฟ้องกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทำให้วนเวียนล่าช้า
6 ธ.ค.2567 - ที่อาคารอนาคตใหม่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงกรณีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่า กรณีข้อพิพาทดังกล่าว สะท้อนให้เห็นในทางที่ว่ากำลังมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือกำลังมีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของสองพรรคใหญ่ในรัฐบาลขณะนี้
นายจุลพงศ์ ย้อนความเป็นมาที่ดินเขากระโดง เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ประเทศไทยกำลังขยายเส้นทางรถไฟไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี 2462 และต่อมาได้มีการออก พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 2463 มีการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้และกำหนดแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ หรือรฟท.ในปัจจุบัน ที่มีพื้นที่รวมกัน 5,083 ไร่ และที่มีการเวนคืนที่ดินที่ย่อยศิลา เพราะเป็นบริเวณที่มีแหล่งภูเขาหิน คือเขากระโดง ที่กรมรถไฟจะได้ใช้วัตถุดิบหิน เพื่อเอามาใช้ปูฐานในการสร้างทางรถไฟ
หลังจากนั้น มีคนมารุกล้ำอยู่อาศัยในที่ดินบริเวณดังกล่าว มีการออกโฉนด และเอกสารสิทธิ์ จนถึงปี 2539 รฟท. จึงมาเริ่มตรวจสอบ และเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีข้อพิพาท มีการฟ้องร้องถึงศาลฎีกา ศาลปกครอง มีการตั้งคณะกรรมตรวจสอบการออกโฉนด และเอกสารสิทธิ์ ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน
จนล่าสุด มีการออกคำสั่งจากอธิบดีกรมที่ดินในปี 2567 ที่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน ไม่เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง ซึ่ง รฟท. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินต่อกรมที่ดิน ไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567
นายจุลพงศ์ กล่าวถึงคำถามที่สังคมสงสัยกันมาก คือเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ที่ชาวบ้าน 35 รายบนที่ดิน 170 ไร่ ซึ่ง 2 ใน 3 มีกระแสข่าวว่า อาจเป็นนอมินีนักการเมือง ได้ยื่นฟ้อง รฟท. และกรมที่ดิน เพื่อขอให้ออกโฉนด จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ไปแล้ว แล้วทำไมอธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งในปี 2567 ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ตามมติคณะกรรมการสอบสวนที่อ้างว่า รฟท. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในปี 2563 ในคดีที่ รฟท. ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน รวมถึงคำพิพากษาศาลปกครองในปี 2566 ยืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. แล้ว
นายจุลพงศ์ กล่าวถึงการที่ผู้คนสงสัยว่า มติคณะกรรมการที่อธิบดีกรมที่ดินตั้งขึ้น และคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินนั้น ใหญ่กว่าคำพิพากษาของศาลหรืออย่างไร เนื่องจากกรมที่ดินยกข้ออ้างขึ้น 3 ข้อ ดังนี้ 1.กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกา และการตั้งคณะกรรมการเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง 2566 แล้ว 2.คำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่ที่โจทก์ฟ้อง รฟท. เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 5,083 ไร่แต่อย่างใด และ 3.คำพิพากษาของศาลที่มีมาทั้งหมด ไม่ผูกพันคนภายนอกรวมทั้งกรมที่ดิน
อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างของกรมที่ดินนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะหากอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ 842-876/2560 โดยละเอียด มีการวินิจฉัยว่า ที่ดินทั้ง 5,083 ไร่เป็นของ รฟท. เพราะการสำรวจที่ดิน เพื่อกำหนดเขตที่ดินในการสร้างทางรถไฟในปี 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน กรมรถไฟได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟโดยชัดแจ้ง และโดยที่ที่ดินบริเวณเขตที่ดินของกรมรถไฟนั้น มีสภาพเป็นป่า ยังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ เมื่อกรมรถไฟในขณะนั้น ได้เข้าไปทำประโยชน์บนที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินว่างเปล่าไว้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินจึงเป็นลักษณะที่ดินของกรมรถไฟ และได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น ข้ออ้างกรมที่ดินที่ระบุว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วถูกเพียงครึ่งเดียว คือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของศาลปกครอง แต่กลับไม่นำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีต่างๆ มาปฏิบัติตามด้วย
ส่วนข้ออ้างที่ว่า คำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่โจทก์ฟ้องการรถไฟเท่านั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะในเนื้อหาคำพิพากษาข้างต้น ศาลวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่า การสำรวจเพื่อการกำหนดเขตที่ดินทั้งหมดมีการดำเนินการโดยครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่กรมที่ดินกลับมาอ้างว่า เป็นคำวินิจฉัยเฉพาะที่ดินพิพาทในแต่ละคดีได้อย่างไร
ส่วนที่อ้างว่า คำพิพากษาของศาลที่มีทั้งหมดไม่ผูกพันบุคคลภายนอก ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เป็นการอ้างหลักกฎหมายตามวรรคแรกเท่านั้น จงใจละเลยไม่อ้างข้อยกเว้นหลักที่มีอยู่ในวรรค 2 อนุมาตรา 2 ที่บัญญัติว่าคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แแห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 582/2566 ที่ รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ศาลได้พิพากษาในประเด็นนี้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดี หรือ รฟท. แล้ว จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ หาได้มีผลผูกพันเแต่เฉพาะคู่ความตามที่กรมที่ดินกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
แม้คดีที่ปัจจุบัน รฟท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินอยู่นั้น หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ดังกล่าว รฟท. ก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา และหากศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของ รฟท. และเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ผลทางกฎหมายจะย้อนกลับไปเช่นเดิม คืออธิบดีกรมที่ดินต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้
นายจุลพงศ์ มองว่า ทั้ง รฟท. และกรมที่ดินย่อมทราบดีว่า ต้องวนอยู่เช่นนี้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง และ รฟท. เอง ก็มีช่องทางทางกฎหมายที่เร็วกว่านี้ ที่ประชาชนจะไม่ต้องเดือดร้อนถูกฟ้องขับไล่ด้วย แต่เหตุใด รฟท. กลับเลือกวิธีทางปกครองที่ช้ากว่า
นายจุลพงศ์ จึงขอตั้งคำถามถึง รฟท. ดังนี้ 1.เหตุใด รฟท. จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของ รฟท. ที่ครบถ้วนและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ทำไมไม่ยื่นเอกสารชุดเดียวกันนั้นต่อคณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดิน จนมติของคณะกรรมการสอบสวนอ้างได้ว่า รฟท. ไม่มีเอกสารแนวเขตที่ถูกต้องมาแสดง
2.หาก รฟท. หาเอกสารดังกล่าวไม่พบจริงตามที่เจ้าหน้าที่ รฟท. ได้ตอบในที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน แล้วเอกสารที่อ้างในศาลนั้นหายไปไหน หายไปเมื่อไหร่ สมัยใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3.เหตุใด รฟท. จึงไม่เลือกวิธียื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในพื้นที่ 5,083 ไร่ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาตามคำขอแล้ว กรมที่ดินก็ย่อมทำได้แต่เพียงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเหล่านั้น ไม่มีอำนาจมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นอีก รฟท. ก็ไม่ต้องฟ้องขับไล่คนในพื้นที่ดังกล่าว และจะให้เช่าหรืออย่างไรก็ว่ากันไป ทำไม รฟท. จึงเลือกใช้วิธีที่นานและวนเวียนเช่นนี้ หรือ รฟท. ดึงเรื่องไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือไม่
นายจุลพงศ์ ยังมีคำถามถึงกรมที่ดินว่า เหตุใดจึงมีการเพิกถอนโฉนด และกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านบางแปลง โดยใช้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน แต่บางแปลงกลับใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำไมถึงมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน และจริงหรือไม่ ที่ที่ดินตามโฉนดที่ระบุในคำสั่งคณะกรรมการสอบสวนล่าสุด ที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตามมติคณะกรรมการไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของสนามแข่งรถใน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าของที่ดินเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ
“นี่เป็นคำถามที่ทั้งสองหน่วยงานต้องตอบให้ชัดเจน กรณีที่ดินเขากระโดงเป็นตัวอย่างของการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ว่าท่านจะถูกสั่งให้ทำ หรือจงใจทำเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ แต่หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อใด คนที่จะได้รับผลร้าย คือข้าราชการกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ของการรถไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เราจะติดตาม ตรวจสอบ และตั้งคำถามกับฝ่ายบริหารต่อไป” นายจุลพงศ์ ทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'กรมที่ดิน' โต้ยิบการรถไฟฯ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม 5,083 ไร่
กรมที่ดินออกแถลงการณ์ว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ การรถไฟฯ เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง
'วัชระ' ไล่บี้ ป.ป.ช. เร่งสอบ 2 กรณี ทุจริตรัฐสภาใหม่-กรมที่ดินขัดคำสั่งศาลปมเขากระโดง
นายวัชระ เพชรทอง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเรื่องอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ
เปิดข้อมูลใหม่ปม 'ปมกระโดง' พิรุธแผนที่การรถไฟฯรุกสิทธิชาวบ้าน
ปมพิพาทพื้นที่บริเวณเขากระโดง กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย (มท.2) และ “กรมที่ดิน” ลงพื้นรับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และหน่วยราชการ ในพื้นที่เขากระโดงใน จังหวัดบุรีรัมย์
การรถไฟฯ โชว์เอกสารยืนยันที่ดิน ‘เขากระโดง’ เป็นกรรมสิทธิของตัวเอง
"การรถไฟฯ" แถลงการณ์ยืนยัน ที่ดิน "เขากระโดง" เป็นกรรมสิทธิของ รฟท. ย้ำมีเอกสาร-ข้อมูล พร้อมยืนยัน ลั่นจะดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ที่ดินดังกล่าว กลับมาเป็นของ รฟท. เพื่อรักษาสมบัติของแผ่นดิน
อธิบดีที่ดิน ชี้เพิกถอน 'เขากระโดง' หลักฐานต้องชัด 100% ต่าง 'คดีอัลไพน์' ทำนิติกรรมไม่ถูกต้อง
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง บริเวณที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.
'ทรงศักดิ์' ซัดพวกน่ารังเกียจใช้การเมืองละเมิดสิทธิประชาชน ปมที่ดินเขากระโดง
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่ประชาชนอาจสับสน ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด