กมธ.ประชามติ เสนอรายงานกมธ.ให้สส.-สว. แล้ววันนี้ จ่อเข้าถกในสภาสัปดาห์หน้า รับ มีรธน.ใหม่ไม่ทันรัฐบาลนี้ ‘วุฒิชาติ’ บอก วุฒิสภาไม่มีธงในใจพร้อมรับฟังความเห็น
4 ธ.ค.2567 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นำโดย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ., นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงถึงมติของกมธ.ร่วมกันฯ
โดยนายนิกร กล่าวว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่ง กมธ.จะสรุปรายงานกมธ.ร่วมฯ ที่เห็นชอบร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภาที่ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการได้ลงนามในรายงานฉบับนี้แล้ว และจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันนี้
นายนิกร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตนทราบว่าทางวุฒิสภาจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สว. ในวันที่ 17 ธันวาคม ขณะที่สส.จะนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 ธันวาคม หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของทั้งสองสภา ซึ่งเชื่อว่า สส. และสว.จะยืนยันจุดยืนของตัวเอง ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้น หากสส. ยังยืนยันในหลักการของตัวเองจึงจะประกาศบังคับใช้ได้
เมื่อถามว่า การที่ต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ 6 เดือน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันในสมัยนี้ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า หากทำทั้งฉบับจะไม่ทันในสภาฯ ชุดนี้แน่ เพราะนอกจากจะต้องรอ 180 วันแล้ว ยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 1 เดือนจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ขณะที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องเชิญ กกต. และสำนักงบประมาณมาชี้แจงว่าจะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติเท่าไหร่ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติ จากนั้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ รวมแล้วใช้เวลาเกือบปี
“ดังนั้น คาดว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2568 ถึงต้นมกราคม 2569 จึงค่อยดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ดูแล้วไม่น่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันในรัฐบาลชุดนี้” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าจะต้องทำประชามติสามครั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มีเวลาไม่เยอะ อาจจะต้องขอเวลาคุยกับ สว. เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงอยากให้รัฐบาลมีร่างหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน
ด้านนายวุฒิชาติ กล่าวว่า สว.ไม่ได้เหนื่อยฟรีในการแก้ไขกฎหมายประชามติ ต่างคนต่างเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน หากแก้ไม่ทันก็ต้องมาพิจารณาแก้รายมาตรา สว. ไม่ได้ยึดหลักเสียงข้างหน้าสองชั้นทั้งหมด จะดูเฉพาะเรื่องที่ไม่ผูกพันกับคนทั้งประเทศ หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ต้องดูว่าจะแก้ในเรื่องใด และประชาชนมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กรณีการแก้ไขมาตรา 256 สว.ยังไม่มีความเห็น แต่เราไม่มีธงพร้อมรับฟังความคิดเห็น
ขณะที่นายกฤช กล่าวว่า เงื่อนไขอยู่ที่จะทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติสามครั้ง ตนเคยประมาณการณ์เอาไว้คร่าวๆ ว่าจะใช้เวลา 2 ปี ซึ่งจะพ้นระยะเวลาของสภาฯ ชุดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลานี้ก็จะมี สสร. เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำประชามติสองครั้งระยะเวลาก็จะสั้นลงมาอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งอาจจะทันอายุของสภาชุดนี้ แต่ทั้งนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบสุดท้ายว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเสนอแก้มาตรา 256 ด้วย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบก็จะไปสู่ทางตัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สว.พันธุ์ใหม่ อ้างต่างประเทศใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำผลประชามติบิดเบือน
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ แถลงจุดยืนถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ไม่ว่ามติของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะออกมาเป็นอย่างไร
'ไพบูลย์' เย้ยรัฐบาลไม่มีทางแก้รธน.ทั้งฉบับได้ทัน คาดอยู่ไม่ถึง 1 ปี
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะตีความเป็นกฎหมายการเงิน
'นิกร' ชี้เหตุปัจจัยยังไม่พอ 'สนธิ' ปลุกระดมปีหน้า บอกนักการเมืองโฟกัสเลือกตั้งนายก อบจ.
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาประกาศ ว่า ในปีหน้า 2568 จะมีการจัดเวทีทุกเดือนและอาจมีการลงถนน ว่า เป็นเรื่องในอนาคตต้องรอดู จะว่าไม่กังวลก็กังวล
'นิกร' ยอมรับสภาพ พรบ.ประชามติ แก้รธน.ล่าช้าไป 1 ปี คาดทำครั้งแรกต้นปี 69
นายนิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อลดเวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน
'ชูศักดิ์' รับเลือกตั้งครั้งหน้า คงต้องใช้ รธน.ฉบับเดิม ขอแค่ตั้ง ส.ส.ร. ทันรัฐบาลนี้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยืนยันว่าการจะแปลงร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงินไม่สามารถทำได้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว