'กมธ.พลังงาน' ถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ห่วงเลิกสัมปทานเสียค่าโง่เอกชน จับตาตั้งคกก. JTC พร้อมแนะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมวง
28 พ.ย.2567 - นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังประชุม กมธ. ว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กองทัพเรือ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาให้ข้อมูลล่าสุดในพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งกรมสนธิสัญญายืนยันว่า ใช้กรอบของ MOU 44 เป็นกรอบหลักในการเจรจา โดย กมธ.ได้นำคำถามจากภาคประชาสังคมมาสอบถาม ได้ข้อมูล 2 ส่วนว่า ในพื้นที่ส่วนบนต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ก็ต้องมีการเจรจากันไป พร้อมกับแบ่งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ส่วนล่าง โดยตามกรอบ MOU ต่างฝ่ายต่างรับรู้พื้นที่ของแต่ละฝ่าย และไทยค่อนข้างมั่นใจข้อมูลที่จะไปเจรจากับกัมพูชา โดยยึดหลักอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ อันโคลซ ส่วนเรื่องสัมปทานที่ให้สิทธิกับเอกชนไปแล้ว ก็ต้องพูดคุยกันต่อว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่สิ่งที่ กมธ. ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการยกเลิกสัมปทาน เพราะภาครัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้โดยใช้ภาษีของประชาชน
นายศุภโชติ ยังกล่าวถึงระยะเวลาในการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่าถ้าดูจากกรอบที่เราเคยทำกับมาเลเซียจะต้องใช้เวลาถึง 25 ปี จึงมีคำถามว่า ทรัพยากรเหล่านี้ยังจำเป็นหรือไม่ เพราะขณะนี้เรากำลังเดินไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้พูดคุยกันว่าถ้าจะทำให้เร็วกว่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง
เมื่อถามว่า กมธ. เห็นด้วยกับการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไทย-กัมพูชา หรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า แน่นองต้องมีอยู่แล้ว เพราะเป็นเหมือนบันไดขั้นแรกที่ทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้ และทางเราก็อยากเห็นว่าองค์ประกอบเป็นอย่างไร โดยการเข้าไปเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีผู้แทน ซึ่งในส่วนของไทยมีการพูดคุยกันว่าไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดนแต่มีเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ดังนั้นองค์ประกอบของ JTC จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าประกอบด้วยใครบ้าง ที่จะต้องคุยทั้งเรื่องเขตแดน อาณาเขตประเทศ รวมทั้งทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาองค์ประกอบของ JTC มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานค่อนข้างน้อย จึงขอฝากข้อเสนอแนะว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพิ่มไปด้วย พร้อมย้ำว่าคณะกรรมการ JTC จะต้องครอบคลุมโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง
ถามว่ากังวลหรือไม่ที่อาจจะมีการตั้งคนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปด้วย นายศุภโชติ กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงในคณะกรรมการ JTC แต่อยากให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และให้การทำงานในเรื่องนี้เป็นกลางจริงๆ แต่เรื่องนี้จะชัดเจนที่สุดก็ต่อเมื่อได้เห็นรายชื่อคณะกรรมการ JTC ออกมาก่อน แล้วค่อยมาตั้งคำถาม
ถามอีกว่า รัฐมนตรีพลังงานควรอยู่ในคณะกรรมการ JTC ด้วยหรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับในอดีต ก็ควรจะต้องเป็นบุคคลที่ดูเรื่องเขตแดน เรื่องทรัพยากร ต้องร่วมอยู่ในโต๊ะเจรจาด้วย
ถามถึงข้อเสนอให้ยกเลิก MOU 44 นายศุภโชติ กล่าวว่า ใน กมธ. พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะการมี MOU 44 ถือเป็นกรอบที่ชัดในการเจรจา ส่วนจะต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ เราต้องศึกษากันว่าบริบทนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จึงเห็นว่าต้องมีการทบทวน แต่ถึงขั้นต้องยกเลิกหรือไม่ยังไม่สามารถสรุปได้
เมื่อถามว่า ถ้าคุยเรื่องเส้นเขตแดนแล้วไปไม่ได้ จะคุยเรื่องผลประโยชน์ต่อหรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า รอให้ถึงจุดนั้นก่อน แล้วค่อยว่ากัน ตอนนี้เราควรย้ำจุดยืนว่าควรเข้าสู่โต๊ะเจรจา โดยนำ 2 เรื่อง คือ ผลประโยชน์และเขตแดน มาคุยพร้อมกัน
ถามย้ำว่าได้เห็นแผนที่แนบท้าย MOU 44 หรือไม่ นายศุภโชค กล่าวว่า กรมสนธิสัญญาได้มาชี้แจงว่าแผนที่แนบท้ายเป็นแค่การรับรู้เส้นที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอิง ซึ่งเป็นคนละเส้นกัน และไม่ได้มีบทบังคับใช้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ควรนำเรื่องนี้พิจารณาในสภาอย่างเปิดเผย เพื่ออธิบายให้ประชาชนทราบว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งอาจจะช่วยให้คำถามที่ตามมาลดน้อยลง เพราะปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยคนเพียงไม่กี่คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ชำแหละข้อดีข้อเสีย ยกเลิก-ไม่ยกเลิก ‘MOU44’ แนะทางออกรบ.อิ๊งค์
อภิสิทธิ์ ชี้ข้อดี-ข้อเสีย ยกเลิก-ไม่ยกเลิก MOU2544 เสนอทางออกแก้ MOU มัดรัฐบาล ห้ามไปตกลงอะไรที่มีผลกระทบกับเขตแดน ชี้เปรี้ยง เป็นปมร้อนเพราะ คนหวาดระแวงรัฐบาลมีผลประโยชน์อื่นเหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติหรือไม่
'อิ๊งค์' ขอทุกฝ่ายใจเย็นๆ เห็นหนังสือ 'สนธิ' ค้านMOU44แล้ว ต้องพิจารณารอบคอบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ไอซ์ รักชนก' รอดศาลไม่เพิกถอนปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี 112
'ไอซ์ รักชนก' รอดศาลไม่เพิกถอนปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี 112 ระบุเป็นการแสดงความเห็นทั่วไป เเต่สั่งกำชับ ปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัด
เป็นเรื่อง! เพจอาเซียน โชว์หราแผนที่ดินแดนทางทะเล เหมือนของกัมพูชาใน MOU44 เป๊ะ
เพจ ASEAN Megacity ซึ่งมีผู้ติดตามในอาเซียนประมาณ 2 พันคน ได้แชร์ภาพแผนที่ประเทศย่านอาเซียน พร้อมระบุข้อความว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป
'นิกร' สอน 'ไอติม' อย่ารีบ! ยันคำวินิจฉัยศาล รธน.ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง
'นิกร' ยันคำวินิจฉัยศาลรัธรรมนูญให้ทำประชามติแก้ รธน. 3 ครั้ง หวั่นทำผิดขั้นตอนจากเร็วขึ้นจะกลายเป็นช้าแทน