'รังสิมันต์' ลั่นกมธ.มั่นคงฯมีอำนาจตรวจสอบเทวดาชั้น 14 ท้า 'ทักษิณ' บริสุทธิ์จริงต้องมาชี้แจง

'รังสิมันต์' ลั่นกมธ.มั่นคงฯมีอำนาจตรวจสอบเทวดาชั้น 14 ยันไม่ซ้ำซ้อนคณะอื่น รับทำงานลำบากหน่วยงานไม่ให้ข้อมูล ท้า 'ทักษิณ' บริสุทธิ์จริงต้องมาชี้แจง วอนขรก.น้ำดีหากพบพิรุธส่งมาให้กมธ.

22 พ.ย. 2567- ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึง การเชิญหน่วยงานมาให้ข้อมูล กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า เป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว และยอมรับว่าข้อมูลหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งรอบนี้เราเชิญเกือบ 20 คน และเอกสารหลายชุด โดยวันนี้หากได้รับการร่วมมือที่ดี ข้อมูลต่างๆที่ได้รับจะทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในการพิจารณาต่อไป โดยเมื่อวานเราได้ติดตามการแถลงข่าวของที่ปรึกษาของกรมราชทัณฑ์ ไม่เคยเห็นที่ 1 วันก่อนหน้าเชิญเข้ามากมธ.จะมีการแถลงข่าว แต่การแถลงในหลายส่วนยอมรับว่าเป็นการแถลงโดยไม่เข้าใจ ในเรื่องของข้อกฎหมาย และไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของกมธ.

"เมื่อเราบอกว่าความมั่นคง คิดว่าเสาหลักของมั่นคงในประเทศชาติคือความยุติธรรม ซึ่งบางประเทศมีความเหลื่อมล้ำและมีการใช้อภิสิทธิ์ชน คนบางคนอยู่เหนือกฎหมาย และในเรื่องของการปฎิรูปประเทศ คิดว่าภารกิจอย่างหนึ่งคือการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดได้อยู่ในความหมายของเรา ส่วนเรื่องความซ้ำซ้อนยืนยันว่าไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกมธ.ชุดอื่น และในส่วนที่บอกว่าจะไปแทรกแซงของหน่วยงาน ยืนยันว่ากมธ.ความมั่นคงฯไม่ได้ทำให้องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และย้ำว่าเราพยายามจะแสวงหาข้อมูลอย่างเต็มที่ ในการทำหน้าที่ของเราในฐานะฝ่ายตรวจสอบ ในขณะเดียวกันเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนยุติธรรมกฎหมายต่อไป"

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายในวันนี้เป็นอย่างไรนั้น ตนอยากย้ำว่ามี 3 ช่วง คือช่วงแรกการที่มีการส่งตัวนายทักษิณ ไปโรงพยาบาลตำรวจ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีรายละเอียดว่าป่วยจริงหรือไม่ กระบวนการต่างๆถูกต้องหรือไม่ ส่วนช่วงที่สอง การอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเป็นการอยู่โดยชอบหรือไม่ จำเป็นต้องอยู่ในห้องวีไอพีหรือไม่ และช่วงที่สามคือช่วงออกจากโรงพยาบาล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนสำคัญจำเป็นต้องวางหลักและค้นหาข้อเท็จจริงกันต่อไป และหวังว่าหน่วยงานหากทำหน้าที่โดยสุจริตก็มาชี้แจงให้ครบถ้วน ซึ่งทราบว่าพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะเข้ามาชี้แจง แต่ยังไม่เห็นชื่อลำดับที่หนึ่งคือนายทักษิณ และแน่นอนว่าเราไม่มีอำนาจในการให้คุณหรือโทษกับนายทักษิณ ได้ ซึ่งคุณโทษในทางกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณโทษในความเข้าใจ ในความคิดของสังคม ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรที่จะละเลย ตนคิดว่าท่านเป็นอดีตนายกฯ คงมีผลงานหลายอย่างที่สังคมอาจจะชื่นชม แต่ไม่ควรเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านเคยทำมาทิ้งไว้ที่นี่

เมื่อถามว่าอาจจะทราบว่านายทักษิณไม่มา เป้าหมายจะทำอย่างต่อไป นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ถ้ารัฐมนตรีเราก็อาจจะได้ข้อมูลมากขึ้น และคงต้องพิจารณาต่อไปว่าข้อมูลเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ในการที่จะเดินหน้าต่อ ถ้าข้อมูลวันนี้เพียงพอแล้ว สมมติว่าข้อมูลเป็นลบกับนายทักษิณ หรือรัฐบาลเราก็พร้อมเดินหน้าต่อในเชิงของการตรวจสอบ ดำเนินการเพื่อเอาผิด แต่หากข้อมูลเป็นบวกทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมายจริง ไม่มีพิรุธหรือวาระซ่อนเร้นก็เป็นเรื่องที่กมธ.ไม่มีเหตุผล ที่จะดำเนินการต่อไป

“แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีความน่าสนใจของการให้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการต่อเรื่องนี้ ซึ่งเราพิจารณากันมาขนาดนี้ เราเชิญหน่วยงานคิดว่าน่าจะเกิน 100 หน่วยงานแล้ว เราไม่เคยเจอความยากลำบากของเราในการทำงานขนาดนี้ จึงค่อนข้างน่าแปลกใจ ผมเป็นสส.สมัยที่สอง ก็ไม่เคยเจอความยากลำบากแบบนี้เหมือนกัน ก็ค่อนข้างท้าทายว่าป่วยจริงหรือไม่จริงทำไมมันยาก ถึงการเข้าถึงข้อมูล และผมจะพูดกับรมว.ยุติธรรมว่าท่าทีของกระทรวงยุติธรรมไม่ควรเป็นแบบนี้ และเมื่อวันที่ 7 พ.ย.กระทรวงยุติธรรมมาด้วยท่าทีในลักษณะใช้พีดีพีเอ หรือกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลมายันกมธ. ทั้งที่ในความเป็นจริงเราเห็นว่ากฎหมายเรื่องนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการทำหน้าที่ของกมธ. ซึ่งเราสามารถทำได้ และเมื่อวานก็มีการพยายามยันอีกว่าเราไม่มีอำนาจนั่นนี่ คือตกลงแล้วท่านแค่ไม่ต้องการให้ข้อมูลกับเราใช่หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าท่าทีแบบนี้เป็นท่าทีที่ไม่สุจริต และเป็นท่าทีที่ไม่ต้องการจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ซึ่งเป็นท่าทีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐบาล”นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับคำร้องกรณีนายทักษิณล้มล้างการปกครอง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่อยากลงรายละเอียดเรื่องนี้มาก เพราะต้องรอดูว่าเป็นอย่างไร แต่ตนคิดว่าสิ่งสำคัญของวันนี้คือเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเรื่องพวกเราทุกคน ถ้าเราปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องถามตัวเราเองคือเรารู้สึกสบายใจหรือไม่ที่บางคนได้รับอภิสิทธิ์ชนต่อกระบวนการยุติธรรม หมายถึงวันหนึ่งเราอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่อาจถูกดำเนินการที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ คำถามคือเราจะรู้สึกปลอดภัย หรือแฟร์หรือไม่

“อยากฝากไปถึงข้าราชการทั้งหมด ว่าถ้าเรื่องนี้มีมูลความผิดจริง ว่ามีแกล้งป่วยหรือป่วยทิพย์หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ ตนอยากให้พึงระลึกว่าที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่พยายามช่วยคุณอะไรก็ได้ และถูกดำเนินคดีติดคุกมาก็เยอะ อย่าไปคิดว่าการที่เราทำทุกอย่างเพื่อบางคน สุดท้ายเราจะรอดพ้นหรือไม่ติดคุก จึงอยากให้ข้าราชการน้ำดีทุกคน บรรดาเหล่านาตาชา ทั้งหลาย ที่รู้สึกว่าเรื่องนี้ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็สามารถส่งเรื่องมาที่กมธ.ความมั่นคงฯเราพร้อมที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป”นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณถูกฟ้องเรื่องนี้ในศาลรัฐธรรมนูญมองว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จริงๆตนคิดว่าหากจะพูดถึงนิยามการล้มล้างการปกครองน่าจะต้องตีความแคบกว่านี้ คือต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง และจริงๆเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับนายทักษิณก่อน แต่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลก่อน และในหลายกรณี แต่การนิยามหรือการตีความ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพูดกันตรงๆว่ามีปัญหาในข้อกฎหมายมาก ส่วนตนคงไม่เห็นว่ากรณีเรื่องชั้น 14 หรืออะไรก็แล้วแต่จะถึงขนาดทำให้การปกครองของเราไปเป็นอีกระบอบการปกครองหนึ่ง ไม่น่าจะตีความอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องชั้น 14 ก็เขย่ากระบวนการยุติธรรม และทำลายความเชื่อมั่นของระบบความยุติธรรมประเทศเราอย่างมาก

ส่วนกรณีที่คำร้องถูกหยิบยกเกี่ยวกับสมเด็จฮุนเซน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะประเทศไทยมีสายสัมพันธ์กับประเทศต่างๆมากมาย ในเรื่องสมเด็จฮุนเซน ตนเข้าใจว่าการเจอกันล่าสุดก็ไม่น่าจะเป็นการเจอกันในฐานะตัวแทนรัฐ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งก็วิจารณ์กันไปว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร และตนคิดว่าสังคมไทยต้องตั้งหลักว่าเรื่องสำคัญในวันนี้คือกระบวนการยุติธรรม และแน่นอนว่าอาจจะไม่พอในนายทักษิณ ในหลายเรื่อง แต่คงไม่ถึงขนาดเอาทุกเรื่องมาผูกโยงและปนกัน ตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้ต้องแยกและพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งวันนี้ตนทำงานในฐานะกมธ.ความมั่นคงฯและยืนยันว่าเรื่องนี้เราต้องขีดเส้นเฉพาะกระบวนการยุติธรรม หากจะมีการดำเนินการตามกฎหมายก็ดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อเรา อยู่แค่เพียงฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการน้ำดีทั้งหลาย

“วันนี้ผมต้องการสปิริตจากทุกคน และต้องการให้ช่วยกันในการแสดงสปิริตในการเอาข้อมูลมาให้กมธ.เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เรื่องกฎหมายมีความท้าทายหลายอย่าง ประเทศของเราวันนี้ ต้องการคนที่มีจิตวิญญาณ อดทนไม่ได้ต่อระบบยุติธรรมที่กำลังเป็นแบบนี้ ดังนั้นขอให้ช่วยกันส่งข้อมูลมาให้เราและเราจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผมทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นแดนพิศวง จะพยายามทำเรื่องนี้คลี่คลายให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยเราจะใช้โอกาสนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีกว่าที่ผ่านมา“ นายรังสิมันต์กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปท. ลั่น 2568 ปีเช็กบิล!

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า ปีเช็กบิล

'สันธนะ' ซดแห้ว! 'ทวี' ยัน 'สุนทร' ไม่สามารถออกเรือนจำ มาแถลงข่าวปม 'สจ.โต้ง' ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยกรณี นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล จะยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมขอให้ นายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ โกทร ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตของ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง