มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ คำร้องของ “นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ข้อเท็จจริงห่างไกล ไม่มีการกระทำล้มล้าง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมวินิจฉัยไม่รับคำร้องในเนื้อหาได้ 
 
20 พ.ย. 2567 - สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำอันการเป็นล้มล้างการปกครองฯ โดยศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมหารือกันในวันที่ 22 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว
 
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม  หรือ ดร.ณัฏฐ์  นักกฎหมายมหาชน แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า อำนาจในการตรวจสอบ การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำ หมายความว่า การกระทำของบุคคลนั้น ยังมีการกระทำอยู่ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่เกิดผลเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ฉะนั้นหากเสร็จสิ้นหรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 71/2555
 
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าการพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ถึงระดับวิญญูชน ควรจักคาดหมายเห็นได้แล้วว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินการอยู่และไม่ห่างไกลเกินจากเหตุ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2563
 
ส่วนเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองฯ มาตรา 49 วรรคสาม แยกเป็น 2 กรณี ประการแรก เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่งประชาชนผู้ทราบการกระทำ ใช้ช่องทางโดยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้วินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครองฯหรือไม่  หากอัยการสูงสุดไม่รับคำร้อง กรณีหนึ่ง หรืออัยการสูงสุดไม่ดำเนินการ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง อีกกรณีหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดอำนาจยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้  ไม่ว่านายธีรยุทธใช้เทคนิคต่ออัยการสูงสุดและรอเวลา 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง          
 
ดร.ณัฐวุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ภายหลังครบ 15 วัน ว่า เป็นสารตั้งต้นล่มสลายของพรรคการเมืองใหญ่ โดยไม่ได้ระบุว่า เป็นเรื่องอะไร แต่แจ้งว่า ให้นักข่าวไปสัมภาษณ์นายธีรยุทธ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งข้อเท็จจริงสอดคล้องกัน จะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่อย่างไร ตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย ตนให้ความเห็นในแง่กฎหมายและวิชาการ ซึ่งสิทธิการยื่นคำร้อง กับดุลพินิจที่จะรับคำร้องไว้ไต่สวนหรือไม่เป็นอำนาจดุลพินิจเด็ดขาดของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ        
 
นักกฎหมายมหาชน กล่าวอีกว่าขณะนี้ ตุลาการ 2 ท่าน หมดวาระ อยู่ระหว่างสรรหาใหม่ แต่ให้อำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้ ตนคงไม่กล้าชี้นำศาล เกรงว่าจะละเมิดอำนาจศาล แต่ให้ความรู้อีกแง่มุมหนึ่งของรัฐธรรมนูญว่า  “...เงื่อนไขในการยื่นคำร้องของผู้ร้อง กับ กรณีตรวจรับคำร้องของศาล เป็นคนละกรณีกัน...”  ไม่มีบทบัญญัติใดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนทุกกรณี เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา หากกรณีกล่าวอ้างว่า ล้มล้างการปกครองฯ หากพฤติการณ์ยังไม่ได้เกิด หรือเกิดไปแล้วจนเสร็จสิ้น หรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการผู้ถูกร้องได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
 
ตนขออธิบายรัฐธรรมนูญให้พี่น้องประชาชนเข้าใจในกฎหมายมหาชนไม่ให้สับสน เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ว่า ในชั้นตรวจคำร้อง ก่อนที่ศาลจะรับคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมทุกด้าน ก่อนที่จะสั่งคำร้องว่าจะรับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องหรือไม่
 
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือสอบถามอัยการสูงสุด เพื่อทราบข้อเท็จจริงก็ดี หรือรวบรวมข้อเท็จจริงจากช่องทางอื่นก็ดี  ในส่วนของอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานฯ สอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงฟังความสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายให้รอบด้านพร้อมพยานหลักฐาน ก่อนทำความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยอัยการสูงสุดจะต้องทำความเห็น พร้อมส่งความเห็นและสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีน้ำหนักว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของนายธีรยุทธ หรือไม่ ที่ตนเคยให้สัมภาษณ์พี่น้องสื่อมวลชนไปแล้วว่า เหตุผลที่ 6 ข้อที่นายธีรยุทธ ฝ่ายผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ผ่านสื่อ เป็นเหตุผลที่ไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการล้มล้างการปกครองฯ มาตรา 49        
 
โดยข้อ 4 - 6 กล่าวอ้างว่านายทักษิณฯมีพฤติการณ์ต่างๆสั่งการ ครอบงำ พรรคเพื่อไทย เป็นอำนาจพิจารณาของ กกต. โดยเฉพาะ ขณะนี้ กกต.ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนยุบพรรคอยู่ รวมถึง 6 พรรคร่วม ส่วนข้อ 1 ป่วยทิพย์ ชั้น 14  ที่ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานมีความผิด มาตรา 157 หากเจ้าพนักงานรัฐถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของ ปปช. ส่วนล่วงเกินพระราชอำนาจหรือไม่ ตนไม่ให้ความเห็น แต่คนละประเด็นกับการล้มล้างการปกครองฯ ส่วน ข้อ 2 ผลประโยชน์ทับซ้อน MOU 44 โดยมีพฤติกรรมฝักใฝ่อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน กัมพูชา และข้อ 3 ร่วมกับพรรคประชาชน(ก้าวไกล) แก้ไขรัฐธรรมนูญและครอบงำพรรคเพื่อไทย ล้วนไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการล้มล้างการปกครองฯ     
 
ส่วนที่ถามว่า นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประเด็นนั้น ท่านมีความเห็นว่าอย่างไร ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายย้ำว่าอำนาจในการยื่นคำร้อง กับกรณีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นวินิจฉัย รับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกัน กรณีใดที่ศาลรับคำร้องและกรณีใดศาลไม่รับคำร้อง ประชาชนสามารถค้นหาได้ ในข้อมูลคลังสมองกฎหมายมหาชนหรือที่เผยแพร่ทั่วไป  กรณีนายธีรยุทธฯผู้ร้องอ้างมาตรา 49 รัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงให้อำนาจประชาชนผู้ร้องที่ทราบการกระทำ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีเท่านั้น ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องพิจารณาในเนื้อหาและข้อเท็จจริงอื่นประกอบการพิจารณาด้วย
 
ที่นายธีรยุทธ อ้างว่า ชั้นตรวจรับคำร้อง กรณีที่ศาลรธน.ตรวจแค่เพียงว่า ผู้ร้อง เป็นประชาชน และมิสิทธิ์ร้องต่อศาลรธน.หรือไม่ และเนื้อหาในคำร้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือและมีพยานหลักฐาน มีพยานเอกสาร เพียงพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ในชั้นนี้ ศาลจะตรวจเพียงเท่านี้  คงไม่ใช่  ต้องตรวจสอบในเนื้อหาด้วย เพราะกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่น ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและพยานหลักฐานทั้งปวง ก่อนการวินิจฉัยในชั้นตรวจคำร้อง หากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาในเนื้อหาคำร้องประกอบความเห็นอัยการสูงสุดไม่เข้าหลักเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมวินิจฉัยในเนื้อหา โดยยกร้องไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้ โดยไม่จำต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนก่อนวินิจฉัยยกคำร้องในภายหลัง  ซึ่งเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงข้างมาก          
 
ส่วนที่อ้างว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่  3/2567 หน้าที่ 22 ระบุว่า ....ศาลรธน.จึงมีหน้าที่ต้องรับคำร้องนั้นไว้เพื่อการตรวจสอบ รธน.ไม่ได้กำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่จะไม่รับคำร้อง..” ดร.ณัฐวุฒิ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น  หากปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสองและวรรคสาม  ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณา คนละส่วนกัน  หากข้อเท็จจริงตามคำร้อง ข้อ 1-6 เหวี่ยงแห การกระทำไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพฤติการณ์เซาะกร่อน บ่อนทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอ ทรุดโทรมลง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

'ทักษิณ' ปราศรัยเดือด ไม่ทนพวกเห่าหอน ซัดมาซัดกลับ เหน็บพรรคส้มขี้โม้

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เบอร์ 2 หาเสียง โดย ทันทีที่นายทักษิณมาถึงได้เดินทักทายประชาชนที่มาร่วมฟังการปราศรัย

'เต้น' ปราศรัยเชียงใหม่ ขออย่าเปลี่ยนใจ ถามเลือกตั้ง สส. ทำไมเพื่อไทยได้แค่ 2 คน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เบอร์ 2 หาเสียง โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

'ทักษิณ' อวย 'แพทองธาร' เก่งกว่าตัวเองสมัยเริ่มต้น ปัดเขียนสคริปต์ให้

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง ที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้กับรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บุตรสาว ว่า สงสัยสื่อมวลชนเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.)

'ทักษิณ' เกทับ! เลือกตั้งครั้งหน้า กวาด สส.เชียงใหม่ ครบ 10 ที่นั่ง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือสว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่

'ทักษิณ' รอยืนยันพบ 'อันวาร์' ที่ไทย คุยยุทธศาสตร์ร่วมทำอาเซียนแข็งแรง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการจะพบกับดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ บิน อิบราฮิมี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วันที่ 26 ธ.ค.หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการว่า กำลังรอการยืนยันอยู่ แต่เป็นการพบกันในฝั่งไทย ไม่ได้ข้ามไป