15 พ.ย.2567 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
วันนี้ ผมเห็นว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยที่อุดรธานีโดยมีการพาดพิงถึงพรรคประชาชนใน 2 ประเด็นสำคัญ ที่ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการอธิบาย
.
[ ประเด็นที่ 1 : ท่านบอกว่าพรรคประชาชน “ไม่ต้องเสนอกฎหมายใหม่” และเราไม่ต้อง “แข่งกันออกกฎหมายใหม่” แต่ให้เน้น “ยกเลิกกฎหมายเก่าที่เป็นปัญหากับประชาชน” ]
.
1. ผมเห็นด้วยว่ากฎหมายบ้านเรามีหลายฉบับที่เป็นปัญหา - แต่หากเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ไม่ว่าคุณจะเสนอกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ หรือยกเลิกกฎหมายเก่า เราก็ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การ “พิจารณา” ของสภาฯทั้งหมด
.
2. ในบรรดาร่างกฎหมายทั้งหมด 84 ฉบับที่พรรคก้าวไกล-พรรคประชาชนเสนอไปแล้ว มีหลายฉบับที่เป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าตามที่ท่านพูด แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่าที่ควร
- ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ. ยุบ กอรมน. ที่เป็นการยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่รับรองการมีอยู่ของหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. ที่เรามองว่าถูกขยายอำนาจมาเป็นโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ ที่ทำภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น รวมถึงขยายมาสู่ภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (เช่น การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม) - แต่ร่างนีกลับถูกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (เศรษฐา ทวีสิน) ปัดตกโดยไม่ให้แม้กระทั่งเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ
- อีกตัวอย่างคือ ร่าง พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ที่เราเสนอให้มาทดแทนกฎหมายเดิมที่ออกในสมัยคณะรัฐประหาร (ฉบับปี 2558) เพื่อให้มีกลไกทบทวนอย่างสม่ำเสมอในการลดจำนวนและขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ไม่จำเป็นจนก่อให้เกิดความล่าช้าต่อประชาชนและความเสี่ยงเรื่องการทุจริต - แต่ร่างนี้เป็นร่างการเงินที่ค้างอยู่ที่โต๊ะนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร) มาแล้ว 1 ปี 2 เดือน โดยที่นายกฯยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับรองให้เข้าสภาฯหรือไม่
.
3. ถ้าท่านอยากแข่งกันปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์จริง สิ่งที่รัฐบาลที่ท่านสนับสนุนทำได้ (แต่ฝ่ายค้านยังไม่มีอำนาจทำได้) คือการกิโยตินหรือยกเลิกกฎระเบียบ-ใบอนุญาตในระดับที่ทำได้โดยฝ่ายบริหาร แต่ผ่านมา 1 ปีครึ่ง เรายังไม่ได้รับรู้ถึงความคืบหน้ามากนักของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) ที่นายกฯเศรษฐาตั้งไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2566 เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
.
[ ประเด็นที่ 2 : ท่านบอกว่าพรรคประชาชนเน้นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางฐานะ-สถานะ” ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเน้นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางโอกาส” ]
.
1. ผมเห็นว่าการขีดเส้นแบ่งลักษณะนี้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะ “ความเท่าเทียมทางฐานะ-สถานะ” กับ “ความเท่าเทียมทางโอกาส” ไม่ได้ขัดแย้งกันเสมอไป แต่เป็นสองคุณค่าที่พรรคประชาชนให้ความสำคัญ
.
2. ในมุมหนึ่ง เราเชื่อว่าคนทุกคน - ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศใด อาชีพไหน - ต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และได้รับการคุ้มครองจากการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือระดับรายได้ที่ไม่เท่ากันทุกคนก็ตาม
.
3. แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกคน ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะต่างๆของรัฐอย่างทัดเทียม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการกำหนดอนาคตของท้องถิ่นตนเอง รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธนาธร' โต้ 'ทักษิณ' รู้ดีมีเหตุผลอื่นที่ 'ก.ก.-พท.' ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน แต่ใช้ม.112เป็นข้ออ้าง
'ธนาธร' โต้ 'ทักษิณ' เหตุที่ 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ไม่เกี่ยวกับม.112 ไม่มีอยู่ในเอ็มโอยู เผยตัวเองรู้ดีที่สุดว่ามีเหตุผลอื่น แล้วใช้ม.112 เป็นข้ออ้าง ซัด 'ทักษิณ' น่าจะเป็นคนที่เข้าใจปัญหาโครงสร้างดีที่สุด แทนที่จะร่วมแก้ปัญหา กลับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
'เท้ง' นำทัพ 'พรรคประชาชน' ตั้งเป้า ปี 70 สร้างรัฐบาลพรรคเดียวแห่งการเปลี่ยนแปลง
'เท้ง'นำทัพเปิดตัว 'พรรคประชาชน' ลั่น เดินหน้าสร้างรัฐบาลพรรคเดียวแห่งการเปลี่ยนแปลง เลือกตั้งปี 70 ขณะ 'เพื่อนซี้ธนาธร' นั่งเลขาธิการพรรค แถลงเสียงสั่นเครือ พร้อมปั้นพรรคเข้าทำเนียบฯ ด้าน 'ศิริกัญญา' ออกตัวแก้ข่าว ไม่อยากเป็นหัวหน้าพรรคแต่เป็นคนเสนอชื่อ 'ณัฐพงษ์' เอง
'นักเขียนซีไรต์' เหน็บ 'ก้าวไกล' ให้ส่ง 'พิธา-พริษฐ์' ไปเจรจากับอิสราเอล-ฮามาส
วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ฝ่ายค้านคนละขั้ว! ก้าวไกลรับยังไม่คุย ปชป.เรื่องอภิปรายนโยบายรัฐบาล
ก้าวไกลชี้ยังไม่คุย ปชป.กรอบเวลาอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาล เผยถกในพรรคเป็นหลักเพราะมีการวางแผนเตรียมข้อมูลไว้แล้ว