'จุลพงศ์' ชี้ข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง เป็นมหากาพย์ความร่วมมือทำลายหลักนิติธรรม ตั้งข้อสังเกต ม.61 กฎหมายที่ดิน ไม่ได้ให้อำนาจ สอบสวนโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ออกโดยคลาดเคลื่อน-ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
14 พ.ย. 2567 - นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ภายหลังกรมที่ดินมีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 ต.ค. 2567 ถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้น โดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 61 วรรคสองของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งหนังสือกรมที่ดินฉบับดังกล่าว สรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินจนกว่า รฟท. จะมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท.
นายจุลพงศ์ กล่าวว่า หนังสือกรมที่ดินฉบับนี้ สร้างความฉงนแก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ปัญหาคือทำไมคณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีตั้งขึ้นชุดล่าสุด จึงมีมติดังกล่าวโดยยังไม่เชื่อว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้
นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูเนื้อความในวรรคแรกและวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติว่า “เมื่อความปรากฎว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้”
“ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารที่ได้จดรายการทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเอกสารที่จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้คัดค้าน ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน”
นายจุลพงศ์ ชี้ว่า ก่อนการตั้งคณะกรรมการในวรรคสอง ต้องเกิดความปรากฏแก่กรมที่ดินแล้วว่า โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์มีการออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามวรรคสองไม่มีอำนาจสอบสวนว่า โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์มีการออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และยิ่งไปกันใหญ่เมื่อศาลฎีกาข้างต้นได้เคยมีคำพิพากษายืนยันถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดงว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ไปแล้ว
นายจุลพงศ์ มองว่า มูลเหตุของการที่กรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ชุดล่าสุดนี้ เกิดเมื่อ รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดินขอให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษามาตั้งแต่ปี 2560 แต่หลังจากกรมที่ดินได้รับหนังสือแล้วกลับยังไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเสียที จนในที่สุด รฟท. ได้ฟ้องร้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีแดงที่ 582/2566 สั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินและเป็นชุดที่มีมติตามที่ปรากฏในหนังสือกรมที่ดินถึง รฟท. ฉบับลงวันที่ 21 ต.ค. 2567
นายจุลพงศ์ กล่าวอีกว่า กรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่ากรมที่ดินได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองในคดีแดงที่ 582/2566 ที่ให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว และกรมที่ดินยังได้อ้างว่าคำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าวมิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิที่ดินแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางฉบับเดียวกันได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ที่พิพากษาเหมือนกันหมดว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.
นายจุลพงศ์ กล่าวด้วยว่า คนทั่วไปฟังเรื่องนี้แล้วจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมมติของคณะกรรมการที่กรมที่ดินแต่งตั้ง จึงขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา และสงสัยว่าเรื่องนี้ จะลงเอยอย่างไร มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง เกิดจากการอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค และช่องว่างทางกฎหมายของกฎหมายที่ดิน กฎหมายปกครอง และระเบียบกรมที่ดินที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก จึงเป็นมหากาพย์ของความร่วมมือกันทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทย ยิ่งเมื่อไปดูรายชื่อคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งชุดล่าสุดนี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับนักการเมืองระดับชาติในจังหวัด เรื่องนี้จึงมีอะไรที่ซ่อนอยู่อีกเยอะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ณัฐวุฒิ' ร้อน! อัดโพลปลอม ชี้คะแนนพรรคส้มนำเพื่อไทย ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เฟกโพลล์ ?? อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ติดต่อมาที่คุณวิเชียร ขาวขำ อดีตนายกอบจ.อุดรฯ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
'วันนอร์' พร้อมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างหากไม่ขัด รธน.-ข้อบังคับ
'วันนอร์' รับนัด 'กมธ.พัฒนาการเมือง' หารือ 27 พ.ย.นี้แล้ว บอกพร้อมบรรจุทุกร่างหากไม่ขัดรธน.- ข้อบังคับ ชี้ ดูคร่าวๆ ร่าง ปชน. แก้รายมาตรา ก่อนนัดวิป 3 ฝ่ายประชุมสภาต้น ธ.ค.นี้
'ณฐพร' ลั่นจะใช้กฏหมาย-พยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับก๊วนยึด 'ที่ดินเขากระโดง' จนถึงที่สุด
ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยแพร่ข้อความ หัวข้อ ยุคนักการเมืองชั่ว มีเนื้อหาดังนี้
ประธานผู้ลี้ภัยเย้ยพรรคโอกาสใหม่ช่างฝันกลางวัน!
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
'กรมที่ดิน' ยืนกรานยึดกฎหมายกรณีที่ดินเขากระโดง
กรมที่ดิน ชี้แจงอีกครั้งถึงผลการรังวัดที่ดินเขากระโดง ว่าดำเนินการครบถ้วนถูกต้อง ตามคำพิพากษาศาลปกครอง และร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดิน กับ รฟท. ตามกฎหมายทุกขั้นตอน
'สุริยะ' ลั่น รฟท.ไม่ยอมเสียที่ดินให้ใคร ขอให้จบในชั้นเจ้าหน้าที่ อย่าขยายประเด็นการเมือง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กรณีกรมที่ดินมีมติไม่เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และกรมที่ดิน