ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้เพื่อไทย เจอโจทย์หินแก้รธน.ทั้งฉบับ เตือนล้มไม่เป็นท่า!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชำแหละกลเกมการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นยาก แม้เพื่อไทยใช้ช่องพ้น 180 วัน ปลดล็อก ร่าง พรบ.ประชามติ แต่เจอโจทย์หิน แก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 รัฐธรรมนูญ ล้มไม่เป็นท่า 
 
9 พ.ย.2567 -   ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชนชื่อดัง กล่าวถึงการทำประชามติในการจัดทำรัฐธรรมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเจ้าของอำนาจ และถือว่าเป็นประชาธิปไตยโดยตรง แตกต่างจากการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน เป็นประชาธิปไตยทางอ้อม แต่การออกเสียงประชามติ มีเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเท่านั้น ซึ่งกฎหมายระดับรองลงมา เช่น พรป. พรบ. ไม่ต้องให้ประชาชนในการออกเสียงประชามติ 
        
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าหากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564  มาตรา 13 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกเสียงประชามติว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”  
        
ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยาก เพราะการออกเสียงประชามติจะต้องครบองค์ประกอบ คือ ผู้ออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ประการหนึ่ง และเสียงข้างมากธรรมดา อีกประการหนึ่ง หากไม่ครบองค์ประกอบทั้งสองประการ  กระบวนการในการออกเสียงประชามติมีผลทางกฎหมายตกเป็นโมฆะ 
 
ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น จะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ในขณะเดียวกัน สารตั้งต้นก่อนที่จะทำประชามติครั้งแรกได้ ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ในมาตรา 13 ก่อน เพื่อปลดล็อค “เสียงข้างมากสองชั้น” หรือ Double Majority ให้เหลือเพียงเสียงข้างมากธรรมดาเสียก่อน ภาษาชาวบ้าน คือ แก้ไขสองชั้นให้เหลือเพียงชั้นเดียว เพราะหากไม่แก้ไขจะทำให้ผ่านการจัดทำประชามติของประชาชนค่อนข้างยาก 
 
ทั้งนี้หากมองในเกมการเมือง กรณี สว.ไม่เห็นชอบกับร่าง พรบ.ประชามติ รัฐธรรมนูญมาตรา 137(2) ได้กำหนดให้ยับยั้งร่าง พรบ.ประชามติ ไว้ก่อนและส่งร่าง พรบ.ประชามติ คืนมายังสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย เปิดช่องให้ ชิงเหลี่ยมทางการเมือง หาก สว.ไม่ยอมส่งร่าง พรบ.ประชามติ คืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามมาตรา 136 ให้ถือว่า วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่าง พรบ.ประชามติ ดังกล่าวและให้ดำเนินการตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญต่อไป  แต่กรณีร่าง พรบ.ประชามติ ฉบับนี้ ส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ในการดำเนินการแก้ไขร่าง พรบ.จะต้องตั้ง กมธ.ร่วม ระหว่าง สส.กับ สว.อย่างละกึ่งหนึ่ง โดยให้ กมธ.พิจารณาร่วมกันรายงานและเสนอร่าง พรบ.ประชามติที่ กมธ.ร่วมกันแล้วเสนอต่อสภา หากทั้งสองสภาต่างเห็นชอบ ให้ดำเนินการไปเป็นตามมาตรา 81 หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่าง พรบ.ประชามตินั้นไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 (3)
 
ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ว่าหากมองกลเกมการเมือง มองว่า หาก สว.ไม่เห็นชอบแต่แรก แม้ตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่วมกันรายงานและเสนอร่าง พรบ.ประชามติที่ กมธ.ร่วมกัน แล้วเสนอต่อสภาทั้งสอง แม้ผ่านมติเห็นชอบสภาผู้แทนราษฎร แม้ได้ความว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย ใช้ช่อง งดออกเสียงก็ตาม แต่เชื่อว่า สภาใดสภาหนึ่ง โดยเฉพาะการพิจารณาของวุฒิสภา ไม่เห็นชอบ ส่งผลให้ร่าง พรบ.ประชามตินั้น ยับยั้งร่าง พรบ.ประชามตินั้นไว้ก่อน
 
แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) เปิดช่องไว้ สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่าง พรบ.ประชามติไว้ตามมาตรา 137 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย กรณียับยั้ง ตามมาตรา 137 
 
จะเห็นว่า หากอ่านเกลกมการเมืองของพรรคเพื่อไทย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียง  ต้องแก้ไข พรบ.ประชามติ ในมาตรา 13  โดยการปลดล็อก “เสียงข้างมากสองชั้น” หรือ Double Majority ให้เหลือเพียงการออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากธรรมดา โดยใช้ช่องว่างรัฐธรรมนูญ โดยรอเวลา 180 วัน ในการนำร่าง พรบ.ประชามติ ที่ยับยั้งมาปัดฝุ่นขึ้นใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติให้เพียงสภาผู้แทนราษฎร ลงมติยืนยันร่าง พรบ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือร่าง พรบ.ประชามติผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วม โดยใช้เสียงเพียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่า ร่าง พรบ.ประชามติ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ดำเนินการตามมาตรา 81 ต่อไป 
 
ส่วนที่ถามว่า หากปลดล็อกการออกเสียงประชามติ โดยเสียงข้างมากธรรมดา จะมีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับง่ายหรือไม่ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา ไม่จำต้องจัดทำประชามติ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ได้บัญญัติให้จัดมีการออกเสียงประชามติ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นเสร็จเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กรในมาตรา 211 วรรคสี่ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องจัดทำประชามติโดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่า จะเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือไม่ ต้องจัดทำประชามติทั้งก่อนและหลัง สร้างความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประกอบกับกลไกลในการออกเสียงประชามติได้กำหนด “เสียงข้างมากสองชั้น” หรือ Double Majority ไว้ ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องการปลดล็อคเหลือเพียงชั้นเดียวในการออกเสียงข้างมากธรรมดา 
 
"หากพิจารณาความยาก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการออกเสียงลงคะแนนในวาระสามของรัฐสภา คือ ต้องใช้เสียงข้างมาก โดยจะต้องมีฝ่ายค้านทุกพรรคการเมืองที่มี สส.ในสภารวมกันและเสียง สว.หนึ่งในสาม หรือจำนวน 67 คน ของ สว.ชุดปัจจุบัน ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยากยิ่งขึ้น หาก สว.สายสีน้ำเงิน ที่ถือดุลอำนาจในสภาสูงไม่เอาด้วย โอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้ช่องเทคนิคกฎหมาย หากร่าง พรบ.ประชามติ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาใด สภาหนึ่ง แล้วใช้ช่องเมื่อพ้น 180 วัน หยิบร่าง พรบ.ประชามติ มายืนยันร่าง พรบ.ประชามติ ส่งผลให้ปลดล็อกในการออกเสียงประชามติเป็นเสียงข้างมากธรรมดาก็ตาม แต่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเจอเกมการเมืองของวุฒิสภาในวาระที่ 3  ตัวแปร หากผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ลงตัว ครูใหญ่บุรีรัมย์ ศูนย์กลางแห่งอำนาจ ไม่กดปุ่มไฟเขียว สว.สายสีน้ำเงิน และพรรคภูมิใจไทย ไม่เอาด้วย โอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับล้มไม่เป็นท่า จึงเป็นโจทย์ยากของพรรคเพื่อไทย" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ประเสริฐ' โว 'ทักษิณ' เดินสายช่วยหาเสียงนายก อบจ. หวังชนะทุกพื้นที่

นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

'แพทองธาร' นำประชุมใหญ่สามัญเพื่อไทย 19 พ.ย. ยังไม่ปรับโครงสร้างพรรค

พรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรค พท. เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

'ชูศักดิ์' ลั่นหาทางแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น เสร็จในรัฐบาลนี้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้วว่าจะใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ก็คงจะยืนตามนั้น 

'ชูศักดิ์' สั่งสำนักพุทธฯ ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ มีมาตรการป้องกันทำลายพระพุทธศาสนา

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาพระออกมาเรี่ยรายเงินจะประสานพศ.แก้ปัญหาอย่างไรว่า

'นักกฎหมาย' โต้ยิบ 'กรมที่ดิน' ปมที่ดินเขากระโดง

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีกรมที่ดินชี้แจง 5 ประเด็นเกี่ยวกับที่ดิน 'เขากระโดง' ว่าคำแถลงของกรมที่ดิ