'เสรีพิสุทธ์-โจ๊ก' เบี้ยวแจง กมธ.ปมทักษิณนอนชั้น 14 อดีตรองแพทย์ใหญ่ชิ่งบอกอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์

'กมธ. ความมั่นคงฯ' ถกปม 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ด้าน 'บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์' ไม่มา ขณะที่ 'ผอ.ราชทัณฑ์' ยัน เป็นไปตามกฎกระทรวง ส่วนอดีตรองแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบเรื่องการรักษา อ้างอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์-ลาพักร้อน

07 พ.ย. 2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงของรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ ประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวเข้ามาให้ข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีนายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธาน กมธ. การอุมศึกษาฯ มาร่วมประชุม

สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ, น.ส.รามทิพย์ สุภานันท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรศ.วิชัย วงศ์ชนะภัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทย์สภา ไม่ได้มา เนื่องจากแจ้งว่าติดภารกิจ ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยืนยันว่าจะเข้าร่วม แต่ไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ได้มาร่วมประชุม

พล.ต.ต.สรวุฒิ ให้ข้อมูลว่า ช่วงเวลาที่ตนเองทำหน้าที่เป็นรองนายแพทย์ใหญ่นั้น ตนเองไม่ทราบข้อมูลผู้ป่วย เพราะมีหน้าที่ทำเรื่องบัญชี รวมช่วงนั้น กำลังจะทำเรื่องเออรี่รีไทร์ และได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการพักร้อน เมื่อมีหนังสือส่งตัวมาให้การรักษา เราก็จะทำการรักษา และส่งตัวกลับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย และความเห็นของแพทย์ที่ดูแลอยู่ด้วย

นพ.วัฒน์ชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นหนึ่งในกรมราชทัณฑ์ และเรามีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำกรุงเทพ เมื่อไหร่ที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษานอกโรงพยาบาลเราพบว่ามีความเสี่ยงด้านการส่งตัว และการหลบหนี ซึ่งภารกิจของโรงพยาบาลราชทัณฑ์แตกต่างจากภารกิจของโรงพยาบาลทั่วไป โดยโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ทั้งหมด 15 คน ซึ่งต้องเวียนไปอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำ ทำให้แพทย์ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาลมีเพียงแค่ 4-5 คน ทำให้มีปัญหาเรื่องแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อมีการส่งตัวผู้ต้องหามาก็ต้องยอมรับว่า ต้องส่งไปที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า และยอมรับว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ข้อจำกัดหลายอย่าง

นพ.วาโย ถามว่า โรงพยาบาลตำรวจมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านปอดกี่คน ในเคสเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย มีการผ่าตัดกี่ครั้ง พล.ต.ต.สรวุฒิ เป็นคนผ่าตัดหรือไม่ แนวทางทางปฏิบัติทั่วไปของ รพ.ราชทัณฑ์เมื่อมีผู้ป่วยเจ็บหน้าอกอย่างไร โรงพยาบาลมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ อย่างไร

น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษา กมธ. ถามว่า เคยมีกรณีที่นำตัวออกไปนอกโรงพยาบาล ยาวนานเท่าไหร่ มีผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาจนถึงพ้นโทษหรือไม่ รวมถึงใช้เกณฑ์อะไรในการประเมินการส่งตัวกลับไปเรือนจำ มีหลักฐานบันทึกเวชระเบียนการรักษาหรือไม่ เป็นความจริงหรือไม่ที่ต้องมีการบันทึกภาพผู้ต้องขังเพื่อรายงานต้นสังกัดว่ามีการพักรักษาตัวจริง ชั้น 14 มีสถานะอย่างไร เพราะมีการบอกว่าเป็นชั้นวีไอพี มีใครบ้างที่เคยได้อยู่ชั้นนั้น

เช่นเดียวกับนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ที่กล่าวว่า การขอเทปหลักฐาน กล้องวงจรปิดเป็นอย่างไร ขอแล้วส่งไปอย่างไรบ้าง เพราะมีข่าวบอกว่ากล้องวงจรปิดเสีย เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ มีการจัดชั้น 14 แยกหรือไม่ ราชทัณฑ์ควรตอบได้ว่ามีคนเข้าเยี่ยมกี่คน มีใครบ้าง

ด้าน พล.ต.ต.สรวุฒิ ชี้แจงว่า ช่วงที่รับราชการอยู่ มีหมอ 4 คน แต่ไม่ทราบมีพาร์ทไทม์หรือไม่ ส่วนที่ถามว่าตนเองเชี่ยวชาญด้านไหนนั้น ตนเองเชี่ยวชาญทำด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนผ่าตัดจริงหรือไม่ กี่ครั้ง ตนเองไม่ทราบ เพราะออกจากราชการแล้ว และย้ำว่าในช่วงเดือนกันยายนนั้น ได้ลาพักร้อน 3 สัปดาห์

นพ.วัฒน์ชัย กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ป่วยต้องออกไปรักษาตัวด้านนอกนั้น เป็นกฎกระทรวงตั้งแต่ปี 2563 ที่ระบุว่าต้องให้ส่งโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุพิการ หรือเสียชีวิต โรงพยาบาลราชทัณฑ์ควบคุมผู้ต้องขังที่มีภาวะเสี่ยงไตวายด้วย อีกทั้งศักยภาพของโรงพยาบาลในกรณีรักษาด้านโรคหัวใจนั้น ยอมรับว่า เรามีปัญหาด้านการเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก การสวนหัวใจเราไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องส่งต่อ และเราได้ทำข้อมูลชี้แจงกมธ.ไปแล้ว พร้อมมองว่าค่อนข้างครอบคลุม

นพ.วัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า กรณีของนายทักษิณ ส่งตัวจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยกฎกระทรวงมีการระบุไว้ว่าผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วย จะต้องส่งโรงพยาบาลรัฐในครั้งแรก เรื่องการประสานส่งตัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะของโรงพยาบาลนั้นด้วย ว่าจะรับหรือไม่ ส่วนประเมินอย่างไรที่ส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ และพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง จึงได้ทำการส่งตัว เนื่องจากตอนดึก นายทักษิณ พบว่ามีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำ

นพ.วาโย กล่าวว่า สิ่งนพ.วัฒน์ชัยชี้แจงเป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งเมื่อพบว่าผู้ต้องขังเจ็บป่วยกฎหมายระบุว่าให้ส่งตัวไปตรวจที่สถานพยาบาลของเรือนจำ แต่การส่งแพทย์ไปในแต่ละแดนนั้น อยากทราบว่าแพทย์คนนั้นอยู่ในสังกัดโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่ ทั้งนี้ หากพบว่าถ้าอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วไม่ดีขึ้น ต้องส่งตัวไปด้านนอก แต่ผู้คุมต้องพากันและต้องไปกลับ ส่วนในกรณีที่แพทย์โรงพยาบาลนั้นเห็นว่ากลับไม่ได้ ก็ต้องนำความเห็นนั้นมาให้ผู้บัญชาการ กรณีนี้นพ.วัฒน์ชัยต้องทราบด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าชื่อของแพทย์ผู้รักษานั้นสามารถเปิดเผยได้ และหากมีผู้ป่วยเจ็บหน้าอกจะได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกันหรือไม่

และเวลาที่เข้ารับการรักษากับเวลาที่ตรวจนั้นห่างกันเพียงแค่ 21 นาทีเท่านั้น เพราะตนเองเปิดจีพีเอสดูตอนเที่ยงคืนพบว่าใช้เวลา 17 นาทีซึ่งเป็นเวลาที่ขึ้นทางด่วนแล้ว แม้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 17 กิโลเมตรกับอีก 800 เมตร เท่ากับว่าพยาบาลที่ตรวจต้องใช้เวลาพูดคุยกับแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจเพียงแค่ 3 นาที ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำงานรวดเร็ว จึงอยากเห็นทุกกรณีเป็นเช่นนี้ และการรักษาแบบฉุกเฉินนั้นต้องใช้เวลากี่วัน แล้วเมื่อครบกำหนดแล้วทำไมจึงไม่กลับเข้ามาที่เรือนจำ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสิทธิการรักษานั้น การผ่าตัดไหล่ที่ใช้เวลา 4 เดือน ใช้สิทธิการรักษาอะไร

นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า การที่เรือนจำจะส่งตัวผู้ป่วยไปด้านนอกนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก มีแพทย์เวรตรวจในแดนนั้นหรือไม่ และการจะส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำต้องแจ้งให้ศาลรับทราบด้วย เรือนจำรับทราบหรือไม่ การเจ็บป่วยในช่วงยามวิกาลนั้น เป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องมีการตรวจสอบที่จะนำแพทย์เข้าไปในเรือนจำ ฉะนั้น จึงมีการระบุว่าหากพยาบาลเห็นว่าต้องส่งตัว ผู้บัญชาการเรือนจำนั้นต้องเซ็นใบอนุญาต

นพ.วัฒน์ชัย กล่าวว่า เมื่อเห็นว่าต้องส่งออกนั้น โดยพยาบาลแจ้งว่าต้องออกก็จะรีบออก การส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวด้านนอกนั้น ยืนยันว่าผู้บัญชาการเรือนจำทราบ การพิจารณาส่งกลับเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และส่งหนังสือกลับมายังเรือนจำ ส่วนชื่อของแพทย์ในเรือนจำนั้น ได้ทำข้อมูลไว้แล้ว เดี๋ยวจะขอชี้แจงอีกครั้ง แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นคนประเมิน ไม่มีแพทย์คนใดที่เข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดน นอกเวลา ซึ่งพยาบาลต้องมีสกิลในการประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ กรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตนั้นจะเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด มีตำรวจเป็นผู้คุม รวมถึงมีการทำเอ็มโอยูการบูรณาการเพื่อดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง ส่วนกรณีที่ต้องประเมินว่าต้องได้รับการรักษาต่อนั้น เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษา แต่ต้องมีข้อมูลทางการแพทย์ว่าเหตุใดจึงควรต้องรักษาตัวต่อ เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ สำหรับเรื่องจำนวนวันที่ต้องรักษานั้น ตนไม่ทราบจริง ๆ

พล.ต.ต.สรวุฒิ ชี้แจงว่า กรณีเช่นนี้มีทั้งการรักษาตัวระยะสั้นและระยะยาวขึ้นอยู่กับภาวะภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปทำการรักษาชั้น 14 จึงไม่สามารถตอบได้ สำหรับกาารประเมินที่ส่งตัวกลับหรือต้องประเมินทุกกี่วันนั้น อยู่ที่แพทย์ผู้รักษา โดยมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว และไม่ทราบเรื่องการบันทึกภาพ แต่จากที่ประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ต้องขังนั้น ตนไม่เคยเห็นว่าต้องมีการบันทึกภาพ

พ.ต.อ.วิรุฒม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์คนหนึ่งเราทราบดีว่าการอยู่เวรประจำนั้น คงไม่มีแพทย์อยู่ประจำ แต่ทุกโรงพยาบาลคงมีไกด์ไลน์อยู่ว่าการส่งตัวผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยนั้นมีเกณฑ์อะไรบ้าง แต่การส่งตัวผู้ป่วยในยามวิกฤตนั้น วันถัดมาเราต้องมาเช็กข้อมูลด้วยว่าทำถูกต้องหรือไม่ และการส่งตัวผู้ป่วยได้มีการประเมินหรือไม่ว่าต้องอยู่กี่วัน

นายประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับน.ส.พรรณิการ์ที่หยิบยกเรื่องชั้น 14 รวมถึงเรื่องเวชระเบียน ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นไคลแม็กซ์ รวมถึงการไปอยู่ชั้น 14 เป็นการจำคุกต่อหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นใครเป็นคนสั่งว่าหากไปรักษาตัวที่ชั้น 14 หรือรักษาตัวต่อที่บ้านเป็นการจำคุกต่อหรือไม่

นายรังสิมันต์ ถามว่า คนรักษาคือ น.ส.รวมทิพย์ใช่หรือไม่ คิดว่าการเช็กชื่อคนนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก หากโทรถามตอนนี้ก็ยังสามารถที่จะได้ เนื่องจากกรรมาธิการได้พยายามซักถามถึงชื่อแพทย์ผู้รักษา แต่กลับไม่มีผู้ชี้แจงตอบคำถามนี้ จากนั้น น.ส.พรรณิการ์ ได้ถามย้ำอีกครั้งถึงการบันทึกรูปขณะที่รักษาตัวที่ชั้น 14 คนที่มีอาการวิกฤตต้องรักษาตัวถึง 180 วัน แต่เมื่อถึงวันที่ 181 กลับไปอยู่บ้านกลับใช้ชีวิตได้นั้น ถือว่าผิดปกติหรือไม่ ค่าใช้จ่ายช่วงที่รักษานั้นรวมเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ จึงขอให้กรมราชทัณฑ์ตอบคำถามนี้

ทั้งนี้ ยังมีการซักถามถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากห้องนอนพักรักษาตัวในชั้น 14 มีค่าห้องที่ราคาสูง และใช้ระยะเวลานานในการเข้ารับการรักษา รวมถึงอาคารที่อยู่ก็เป็นอาคารใหม่ มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงอยากให้มีการชี้แจงในส่วนนี้ด้วย เพราะมองว่าหากกรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายจะเป็นการเสียประโยชน์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์การปราศรัยของ 'ทักษิณ' ต่ำกว่ามาตรฐาน อาจมีเรื่องอึดอัดใจมากเป็นพิเศษ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ สังกัดพรรคเพื่อไทย ว่า

สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

'ณฐพร’ ห่วงบุคลากรกระบวนการยุติธรรม ไม่ทำหน้าที่ตาม รธน.

ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า  บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทุกท่านต้องไม่ลืมว่า ท่านมีหน้าที่ตามบทบัญัตติ รัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (1)(2)