'วราวุธ' ยัน 'แก้ รธน.' ยังเป็นเรื่องด่วนของรัฐบาล

5 พ.ย.2567-ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุ อาจทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 68 ว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า จะไม่ทันการทำประชามติ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในปี 70 ก็อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพราะกลไกการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมี สสร.แล้ว อายุ หรือสถานะของ สสร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระของสภาชุดนี้ เนื่องจากสภาจะครบวาระในวันที่ 13 พฤษภาคม 70 หากมีการตั้ง สสร. ได้ก่อนหน้านั้น การดำเนินการของ สสร. ก็จะสามารถดำเนินการไปโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภา

นายวราวุธ ยกตัวอย่าง สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงสมัยของรัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สสร. และแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้ประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลนั้น แต่ประชาชนก็ยังได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขออย่าเพิ่งหมดหวัง หัวใจสำคัญคือ การเร่งดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิด สสร.ขึ้นมา รวมถึงจะมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การได้มาของรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลว่า เราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ยังมีสภาที่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตราต่างๆ ได้ เว้นแต่กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีประเด็นใดที่อยากจะแก้ ก็สามารถใช้สภาในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้ จึงอยากฝากเป็นข้อสังเกต และให้กำลังใจกับรัฐบาล

สำหรับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจน ว่าการแก้ มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งเมื่อจัดทำ สสร.แล้ว จะมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งนั้น ย้ำว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงานเสียดีกว่า เพราะหากทำการลัดขั้นตอน แล้วเกิดปัญหา ความพยายามตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลับไปที่ศูนย์ใหม่ หากเพิ่มเวลาอีกนิด ทำประชามติตามขั้นตอน ท้ายที่สุดแล้ว จะคุ้มค่าเงิน

นายวราวุธ ยังมองว่า เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญจะต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนั้นๆ แต่การที่ทำให้เกิด สสร. คือหัวใจสำคัญมากกว่า เพราะเป็นที่มาที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉันใดฉันนั้น เหมือนสมัย รัฐบาลของนายบรรหาร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไพบูลย์' เบรกหัวทิ่มมือกฎหมายเพื่อไทย  คลอดประชามติ 2 ครั้ง

“ไพบูลย์” โต้ ”ชูศักดิ์“ ใช้คำวินิจฉัยส่วนตน 6 ตุลาการอ้างทําประชามติ 2 ครั้งไม่ได้ บอก ต้องยึดคําวิฉัยกลาง ชี้มีแค่แก้รายมาตราเท่านั้นไม่ต้องทำ

'พริษฐ์' หวั่นลากยาว กมธ.ร่วมประชามติ นัดถก 30 ต.ค. หาข้อสรุปเกณฑ์เสียงข้างมาก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.… ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ฯ นัดแรก