‘พรรคประชาชน’ โวผลงานฝ่ายค้าน 1 ปี’ เสนอกฎหมาย 84 ฉบับ ตั้งเป้าทำงานผสมผสานได้ทั้ง ‘รุก-รับ’ ปัดฮั้ว ‘เพื่อไทย’ เมินผลโพลคะแนนร่วง เปรียบ ‘เตะบอล’ ต้องรอจบ 90 นาที
4 พ.ย. 2567 – ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน แถลงสรุป 1 ปี ผลงานกฎหมายในสภาฯ ของพรรคประชาชน ว่า สิ่งที่เราพยายามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คือการวางบทบาทใหม่ของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งพยายามผสมผสานบทบาท ทั้งฝ่ายค้านเชิงรับที่การตรวจสอบรัฐบาล ในการดูว่าจะดำเนินการ ออกนโยบาย อย่างไร ซึ่งทั้งอดีตพรรคก้าวไกล จนถึงพรรคประชาชน เราทำงานอย่างเต็มที่ ไม่มีการอ่อนข้อ และมีความเข้มข้นเท่าเดิม
พรรคประชาชนใช้กลไกหลายอย่างของสภา เพื่อตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในทุกๆ เรื่องที่ประชาชนสงสัย อีกทั้งใช้กลไกการอภิปรายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่พยายามเข้าไปตรวจสอบ ว่าการใช้ภาษีถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงมีการเสนอแนะว่า หากจะใช้อย่างคุ้มค่าควรจัดงบประมาณแบบใด รวมทั้งยังมีการใช้กลไกของกระทู้สดทุกสัปดาห์ เพื่อพยายามซักถามประเด็นข้อสงสัยของประชาชน ณ เวลานั้น และยังพยายามใช้กลไกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญทั้ง 35 คณะ ไม่ว่าจะมี สส. ของพรรคเป็นประธาน กมธ.หรือไม่
นายพริษฐ์ กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามเติมเข้ามา เพื่อเสริมคือบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก คือบทบาทในการนำทางรัฐบาล หรือเสนอแนะในสิ่งที่เราเห็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทำ แต่เราเห็นว่าควรจะทำ นอกเหนือจากการเสนอแนะด้วยวาจา เราได้ยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย เพราะมองว่าเป็นการฉายภาพให้เห็นพิมพ์เขียวของประเทศไทยในฉบับของพรรคประชาชนนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร และเพื่อทำให้รัฐบาลเห็นว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องกับนโยบายที่พรรคประชาชนเสนอนั้น จะต้องแก้ไขมาตราไหนกฎหมายฉบับใดอย่างไร
สำหรับหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้านเสนอกฎหมายไปแล้วจะได้อะไร ในเมื่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของเราไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่เรามี 3 วัตถุประสงค์ คือ 1.แก้ไขกฎหมายเพื่อประชาชน (Legislative changn) คือการแก้กฎหมายให้สำเร็จจริงๆ ร่างกฎหมายหลายฉบับที่เรายื่นไปนั้น สอดคล้องกับ 300 นโยบายที่เรานำเสนอกับประชาชนในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากเราสำเร็จในการผลักดันกฎหมายให้มีการแก้ไขจริง ก็เปรียบเสมือนการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แม้ในวันที่เราเราอาจจะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล
2.การกำหนดวาระของรัฐบาล (Agenda-setting) เพราะไม่ว่าการเสนอกฎหมายของเรา ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายหรือไม่ แต่การที่เรายื่นเข้าไปส่วนหนึ่งเป็นการทำให้รัฐบาลต้องมาคุย และหาทางออกร่วมกันในประเด็นที่เราคิดว่าสำคัญ ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจจะมีข้อเสนอที่ไม่ตรงกับเราทั้งหมด แต่หากการยื่นกฎหมายของเราทำให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้ามาประกบ และสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน เราก็เห็นว่าเป็นความสำเร็จที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
และ 3.การทำงานเชิงความคิด (Winning hearts & minds) แม้ร่างกฎหมายที่เราเสนอเข้าไปอาจไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในสภาชุดนี้ แต่การใช้พื้นที่สภาในการอธิบายสังคมว่า ทำไมการแก้ไขกฎหมายจะเป็นประโยชน์ ตนเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราพยายามจะนำเสนอมากขึ้น และเข้าใจว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลงลึกในรายละเอียดว่าจะแก้ไขสิ่งต่างๆ อย่างไร และหวังว่าหากประชาชนให้การสนับสนุนเรื่องที่เราเสนอ ก็อาจจะทำให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายไปแล้วทั้งหมด 84 ฉบับ แบ่งออกเป็นลงมติวาระ 1 แล้ว 25 ฉบับ และยังมีอีก 59 ฉบับที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
“หลายคนมักมีความเชื่อว่าพรรคประชาชนเสนอกฎหมายอะไรไปก็ตกอยู่ดี แต่ความเป็นจริงมีเพียง 9 ร่างเท่านั้นที่สภาฯ ลงมติเห็นชอบ ถือเป็นหลักฐานที่ประจักษ์ว่าพรรคประชาชนเสนอกฎหมายเข้าไปไม่เสมอไปว่ากฎหมายจะถูกปัดตก และการเสนอกฎหมายของเรายังมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศแม้วันนี้เรายังเป็นฝ่ายค้านก็ตาม” นายพริษฐ์ ระบุ
นายพริษฐ์ ย้ำว่า พรรคประชาชนมี 7 ชุดกฎหมายสำคัญ ที่จะเดินสายรณรงค์ในช่วงปิดสมัยประชุม แบ่งออกเป็น 2 เปิด คือ เปิดโอกาสแข่งขัน จากการยื่น พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ที่พยายามจะปรับอำนาจที่มาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการนำเสนอ ”โครงการคนฮั้ววงแตก“ เพื่อให้เกิดการระแวงกันเอง ระหว่างบริษัทเอกชนกับผู้ประกอบการที่พยายามจะฮั้วกัน ทางการค้า และเปิดโปงการทุจริต มีทั้งส่วนการเสนอในการเสนอ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะรวมไปถึงการแก้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เกี่ยวกับเรื่องสิทธิประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐ รวมถึงคุ้มครองประชาชนที่มาชี้เบาะแสในเรื่องการทุจริตอีกด้วย
2 ปลดล็อก คือการปลดล็อกที่ดิน สาระสำคัญคือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินทำกิน สืบเนื่องมาจากการประกาศที่ดินของรัฐที่ไปทับที่ดินที่ประชาชนอาศัยอยู่หลายปี รวมไปถึงการแก้กฎหมายที่เพิ่มช่องทางให้ประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนเองได้อย่างสะดวกมากขึ้น และปลดล็อกการท่องเที่ยว โดยการแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรม และพ.ร.บ. ควบคุมอาคารไปพร้อมกัน สาระสำคัญคือการอำนวยความสะดวกให้โรงแรม ที่พัก สามารถขอใบอนุญาตได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้มีบทบาทหลักในการออกใบอนุญาตให้กับโรงแรม
2 ปฏิรูป คือปฏิรูปกองทัพ จะทำอย่างไรให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และดำเนินการสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการปรับอำนาจที่มาของสภากลาโหม ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามที่ไม่มีภัยสงคราม ขอบเขตของอำนาจศาลทหาร รวมไปถึงพรบฉุกเฉิน ที่พยายามจะให้มีกฎหมายที่รักษาสมดุลให้ดีขึ้นระหว่างเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน กับการบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และปฏิรูปการศึกษา เป็นการนำเสนอ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่พยามจะคุ้มครองสิทธิของผู้เรียน และนักเรียนทุกคนทั่วประเทศ ในการเข้าถึงสิทธิ์เรียนฟรีอย่างน้อย 15 ปี รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สิทธิการรักษาด้านสุขภาพจิต
และ 1 ปกป้อง คือการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเสนอกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.โลกรวน , พ.ร.บ.ขยะ พ.ร.บ.PRTR เกี่ยวกับมลพิษ , พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
โฆษกพรรคประชาชน กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายของพรรคประชาชนถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงานในสภาของพรรคในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกที่ไม่เพียงแค่ตรวจสอบรัฐบาลแต่จะเดินหน้าในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลผ่านการเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย
“เราเข้าใจดีในเชิงคณิตศาสตร์เสียงของ สส.พรรคประชาชนที่มีเพียงน้อยนิดก็ไม่เพียงพอในการผ่านความเห็นชอบกฎหมายในสภาได้ จึงพยายามที่จะทำงานร่วมระดมทำความคิดกับพรรคซีกรัฐบาล เพื่อให้ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่านความเห็นชอบของสภาไปได้ เพราะมีความเชื่อมั่นมั่นใจในกฎหมายที่เราเสนอนั้น เป็นจุดยืนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนสามารถแก้ปัญหากับประเทศได้ภารกิจของเราไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืนแต่คือการเปลี่ยนใจคนทั้งในและนอกสภาที่มีความสำคัญยิ่งเราอธิบายต่อสังคมเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะทำให้การสนับสนุนในสภามีโอกาสมากขึ้นเพราะเสียงประชาชนที่ดังเข้ามาในสภาก็อาจจะมีผลกระทบต่อท่าทีของสส.ในสภาด้วยเช่นกัน” นายพริษฐ์ ระบุ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนจะเน้นไปที่การพยายามจะเพิ่มการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด หากย้อนกลับไปจะเห็นว่ามี สส.ที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องชัดเจนอยู่แล้ว ในการผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความเข้าใจว่ากฎหมายต่างๆ เหล่า กระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างไร เน้นการรับฟังความเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็น
เมื่อถามว่า หากให้ประเมินผลงานตัวเองที่ผ่านมา เต็มสิบให้เท่าไหร่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คนที่ให้คะแนนฝ่ายการเมืองได้ดีที่สุด คงไม่ใช่พวกเราเอง แต่คือประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพจำของกฎหมายที่ผ่านสภา ซึ่งมักจะเป็นกฎหมายที่พรรครัฐบาลเห็นด้วย จะสามารถนับว่าเป็นผลงานของฝ่ายค้านได้อย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าเมื่อเราเป็นฝ่ายค้าน เรามีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถ้าสภาจะเห็นชอบ ต้องมี สส.ฝ่ายรัฐบาลเห็นชอบด้วย ยืนยันว่าไม่ได้มีความกังวลใจ ถ้าภาพจำจะเป็นผลงานของรัฐบาล เพราะหากย้อนไปตั้งแต่การก่อตั้งพรรคประชาชน รวมถึงพรรคก้าวไกล ที่ตั้งใจจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงสมัยที่พรรคประชาชนไม่ได้เป็นรัฐบาล เราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ ที่แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคประชาชนเป็นรัฐบาล พรรคประชาชนก็สามารถพยายามผลักดันและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปก่อนได้
ส่วนผลโพลที่คะแนนฝ่ายค้านลดลง มองว่ามีนัยสำคัญอย่างไร และจะมีการปรับเกมอย่างไรบ้างนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ผลโพลทุกสำนักเป็นข้อมูลประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่ต้องดูในรายละเอียดว่าเป็นผลโพลของสำนักไหน มีวิธีการถามคำถามอย่างไร และถามกับใคร ซึ่งทั้งหมดก็เป็นประโยชน์
“ท้ายที่สุด ผลงานของเรา ประชาชนจะพิพากษาอย่างไร ก็จะจบที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป หากเปรียบเหมือนเกมฟุตบอล ก็เป็นข้อมูลที่อาจจะช่วยให้เราสามารถปรับเกมระหว่างการแข่งขันได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคะแนนตอนจบเกมการแข่งขัน 90 นาที” โฆษกพรรคประชาชน ระบุ
เมื่อถามว่า ในการเมืองก่อนปิดสภา ซึ่งพรรคประชาชนอาจถูกมองว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ค้านไม่จริง เนื่องจากเคยเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยมาก่อน ทำให้การตรวจสอบไม่เต็มที่ นายพริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เราในฐแกนนำพรรคฝ่ายค้านใช้กลไกของสภาอย่างเต็มที่ ในการตรวจสอบรัฐบาลทุกเรื่องที่สังคมคาใจส่วนเรื่องข้อเท็จจริงที่คงปฏิเสธไม่ได้ คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเคยอยู่ในซีกพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน แต่ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลในปี 66 เป็นต้นมา เมื่ออยู่คนละขั้วกัน เราก็ทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบ ไม่มีฮั้ว ไม่มีการอ่อนข้อแน่นอน ตนเชื่อว่า ในอีก 2 ปีครึ่งข้างหน้า จะยิ่งตอกย้ำ และยืนยันภาพดังกล่าว
ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยตอบรับเรื่องการทำประชามติ 2 ครั้งนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องจำนวนของการทำประชามติ พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันมานานแล้ว ในเชิงความจำเป็นของกฎหมายว่า 2 ครั้งพอ เพียงแต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล พยายามจะใช้การยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายความให้เกิดความชัดเจนขึ้น ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 หมายถึงจำนวนการทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งเมื่อพอศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องดังกล่าวไปวินิจฉัย จึงทำให้ประธานสภา อาจวินิจฉัยหรือตีความเรื่องดังกล่าว ต่างจากพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย จนไปมองว่า ต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ส่งผลให้ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่ยื่นไปเมื่อต้นปี ดังนั้น ตนมองว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนสอดคล้องกันมาตลอด แต่มาถึงวันนี้ เราก็ต้องมาขบคิดกันว่าจะทำอย่างไร ให้แผนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาศัยการทำประชามติ 3 ครั้ง เกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตาม ยังมี 3 ล็อก หรือ 3 บุคคลสำคัญ ที่ต้องเข้าไปหารือ คือ 1.ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้บรรจุร่างดังกล่าวลงระเบียบวาระ 2.นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อทำให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบ โดยไม่นำคำวินิจฉัย 4/2564 มาเป็นข้ออ้างในการลงมติไม่เห็นชอบ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ขยายความให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และเดินตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มีการส่งหนังสือ เพื่อขอเข้าพบกับ 3 บุคคลดังกล่าวแล้ว เนื่องจากวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ทันกับการเลือกตั้งครั้งถัดไป ไม่เพียงแต่เป็นวาระที่ทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน เคยออกมาประกาศว่าเห็นตรงกัน แต่ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้กับประชาชนเช่นกัน เราก็อยากจะเห็นเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ
เมื่อถามถึงการทำหนังสือที่ส่งไป มีการตอบรับมาแล้วหรือยัง หรือมีการชี้แจงอย่างไรบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการตอบรับกลับมา เนื่องจากเราส่งไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว แต่เมื่อติดตามการให้สัมภาษณ์ของบุคคลในพรรคเพื่อไทยเรื่องนี้ ก็ฟังดูเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า ทางพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาล น่าจะพร้อมหารือ หาทางออกเรื่องนี้ร่วมกับเรา รอคำตอบจากทั้ง 3 ท่าน
เมื่อถามย้ำถึงความมั่นใจในการทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ถูกหยิบยกไปอ้างในการร้องศาลภายหลัง โฆษกพรรคประชาชน กล่าวย้ำว่า การพบ 3 บุคคลข้างต้น จึงมีความสำคัญ หรือเป็นตัวแปรสำคัญมาก ในการที่เราจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สส.จิรัฏฐ์' สู้คดีปลอมใบ สด.43 ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 17 ต.ค.68
"จิรัฏฐ์" สส.พรรคประชาชน สู้คดีปลอมใบ สด.43 นำพยานเบิกความสู้ 4 ปาก ขณะที่อัยการนำพยานเอกสารมัดตัว ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 17 ต.ค. ปีหน้า
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
'ไพบูลย์' เบรกหัวทิ่มมือกฎหมายเพื่อไทย คลอดประชามติ 2 ครั้ง
“ไพบูลย์” โต้ ”ชูศักดิ์“ ใช้คำวินิจฉัยส่วนตน 6 ตุลาการอ้างทําประชามติ 2 ครั้งไม่ได้ บอก ต้องยึดคําวิฉัยกลาง ชี้มีแค่แก้รายมาตราเท่านั้นไม่ต้องทำ
ประธานวิปรัฐบาล โทษเงื่อนประชามติทำรธน.สะดุด
“วิสุทธิ์" รับ หากกมธ.ตกลงไม่ได้เงื่อนไขประชามติ 2 ชั้น เสี่ยงแก้รธน.ไม่ทัน ยันไม่ใช่ความรับผิดชอบทำสะดุด
'นายกฯอิ๊งค์' กุมขมับ เรียกพรรคร่วมสุมหัวปมร้อนโหมใส่รัฐบาล
“แพทองธาร” เรียกพรรคร่วมถก 2 ปมร้อน เกาะกูด เรียกร้องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 - แก้รธน. ที่ทำเนียบฯพรุ่งนี้
ชัดเจน! พท.โยนขี้พ้นตัว แก้รธน.ไม่ทันไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรค
“เพื่อไทย" ชงกมธ.ร่วมลดเกณฑ์ประชามติ อ้าง ถ้าแก้รธน.ไม่ทัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค ชิ่งห้ามความคิดใครไม่ได้