อดีต สว.คำนูณ ชำแหละ MOU ไทย-กัมพูชา ปี 44 ชั่งน้ำหนัก 6 ข้อเสีย 2 ข้อดี

1 พ.ย.2567 - นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ติดตามเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา มาตลอด ให้ความเห็นเรื่อง MOU44 ผ่านทางเฟซบุ๊ก ไว้ดังนี้ ข้อเสียของ MOU 2544

1.ไทยไม่มีประเด็นใด ๆ จะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิเหนือเกาะกูด (อย่างน้อยก็ในส่วน “ตัวเกาะ”) เพราะเกาะกูดเป็นของไทยมา 127 ปีแล้วโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 คนไทยทุกฟากความคิดเห็นตรงกันในข้อนี้ รัฐบาลกัมพูชาเองก็เริ่มยอมรับ จึงปรากฎเส้นเว้ารอบตัวเกาะด้านทิศใต้เป็นรูปตัว U ในแผนผังประกอบ MOU 2544

2.อาจเข้าข่ายว่าตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544 ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยายซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ. 1972 ด้านทิศเหนือ ซึ่งประกาศโดยกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ทั้ง ๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้นไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะ “กฎหมายปิดปาก” หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต

หากมีวันนั้นในอนาคต อาจซ้ำรอยคดีพิะาทปราสาทพระวิหาร (ภาคแรก) พ.ศ. 2505 ในอดีต

- การได้รับแผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก เมื่อปีค.ศ. 1908 แล้วไม่ทักท้วงทันที หรือในหลายปีต่อมา
- สมเด็จกระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทพระวิหารเมื่อพ.ศ. 2472 พบเห็นการชักธงชาติฝรั่งเศส แล้วไม่ทักท้วง

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการตกลง รวมทั้งพฤติกรรมพฤติกรรมการแสดงออก ของคู่กรณี มากเป็นพิเศษ

ในบางกรณีให้ความสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำตามสนธิสัญญาเสียอีก

หมายเหตุ ข้อหักล้างข้อเสียกรณีที่ 2 นี้คือประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุการรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้ว (การเข้าแก้ต่างในคดีปราสาทพระวิหาร ภาค 2 เมื่อปี 2556 เป็นการตีความคำพิพาดคดีเดิมเมื่อปี 2505) และรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสินได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 แจ้งให้ทุกหน่วยงานในทุกกระทรวงทบวงกรมทราบว่าประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกกรณี หากมีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่มีบทเกี่ยวกับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้จัดทำ “ข้อสงวนไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ“ ไว้ในทุกกรณี ให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เรื่องนี้ผมได้ยื่นกระทู้ถามสดในวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นมาตอบยืนยัน ถือเป็นการบันทึกไว้ในวุฒิสภาแล้ว

3.สารัตถะใน MOU 2544 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนของข้อตกลง คือ ส่วนบนเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และส่วนล่างเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

ส่วนบนเส้น 11 - กัมพูชาที่เสียเปรียบในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 121 และข้ออื่น ๆ ชนิดแทบจะไม่มีประตูสู้ได้เลย เหลืออยู่ประตูเล็ก ๆ ประตูเดียวที่จะอ่างว่ากัมพูชายังไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982 กลับสามารถหยิบยกเป็นประเด็นมาต่อรองกับการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ส่วนล่างได้ โดยเป็นฝ่ายไทยเสียเองที่ยอมสละข้อได้เปรียบของประเทศตัวเอง

ส่วนล่างเส้น 11 - การกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน ทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS 1982 ที่ไทยได้เปรียบ แล้วไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตกโดยไม่หือไม่อือ

เท่ากับประเทไทยทิ้งความได้เปรียบในการเจรจาทั้งส่วนบนเส้น 11 และส่วนล่างเส้น 11 ไป

4.การยอมรับพื้นที่ส่วนล่างเส้น 11 เป็นพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด โดยนำเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตก ทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่ไม่สมควรจะได้รับ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่สมควรจะได้รับ

5.ทำให้การเจรจาจำกัดกรอบไว้ภายใต้รูปแบบเดียว ถ้าถึงทางตัน ก็ไปต่อไม่ได้

6.หากยึดสารัตถะรูปแบบการเจรจาตาม MOU ก็เท่ากับเป็นการเจรจานอกกรอบ UNCLOS 1982 ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก 1 ใน 160 ประเทศ

ข้อดีของ MOU 2544

1.ทำให้มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน

หมายเหตุ ข้อดีที่ 1 มีข้อหักล้างที่ว่าหากกรอบการเจรจานั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ จะนับเป็นข้อดีได้หรือ

2.ลักษณะ ”ล็อกตัวเอง“ ของ MOU 2544 ที่กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนบนเส้น 11 เจรจาแบ่งเขตแดน และส่วนล่างเส้น 11 เจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม ไป “พร้อมกัน“ และ ”ไม่อาจแบ่งแยกได้” ทำให้การเจรจาไม่มีทางสำเร็จได้ง่าย ๆ

“พร้อมกัน” - to simultaneously

“ไม่อาจแบ่งแยกได้” - as an indivisible package เพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการเจรจาแต่เรื่องปิโตรเลียม ไม่ต้องการเจรจาเรื่องเขตแดน ฝ่ายไทยแยกเป็น 2 ความคิด กระทรวงการต่างประเทศต้องการเจรจาเรื่องเขตแดนให้ลุล่วงไปด้วยชัดเจนพร้อมกันเลย อต่ฝ่ายการเมืองบางส่วนและหน่วยงานด้านพลังงานต้องการเจรจาเรื่องปิโตรเลียมให้ลุล่วงไปก่อน

เมื่อไม่สำเร็จ ประเทศไทยก็ยังไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าเขตแดน หรือปิโตรเลียม

หมายเหตุ 1 - นี่เป็น “ข้อดีในด้านกลับ” ที่พรรคพวกผู้รู้ของผมบางท่านเมื่อได้ฟังแล้วก็บอกว่านี่เป็นทำนองเดียวกับสำนวนฝรั่งที่ว่า blessing in disguise เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเอาแต่ MOU 2544 เราก็เฉยไว้ เพราะเดี๋ยวเราจะเจอ MOU ใหม่ที่ร้ายกว่าเก่า เช่นจะเจรจาเฉพาะเรื่องผลประโยชน์จากปิโตรเลียม

หมายเหตุ 2 - บางคนในฝ่ายสนับสนุนเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมตีความแบบศรีธนญชัยว่าที่ MOU 2544 ระบุให้เจรจา 2 เรื่องพร้อมกันและไม่อาจแบ่งแยกได้ ก็ไม่ได้บอกว่าต้อง ”เสรีจพร้อมกัน” นี่นา มีตรงไหนกำหนดไว้บ้าง

นำข้อเสีย 6 และข้อดี 2 มาชั่งน้ำหนักกันได้

คำนูณ สิทธิสมาน
1 พฤศจิกายน 2567

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน

ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ

พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44

ถึงบางอ้อ ดร.เสรี เผยเหตุ 'กัมพูชา' ยอมตกลง MOU44

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม MOU44 มีหรือจะพูดว่า MOU44 ไม่ดีสำหรับประเทศไทย เขาย่อมพูดว่าเป็นผลดี

‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที

‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44