ที่ปรึกษาของนายกฯ โผล่ทำเนียบฯ สแกนแล้ว​ไม่มีม็อบการเมือง มีแต่ม็อบปากท้อง


28 ต.ค.2567 - ​ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ​ ใสยเกื้อ​ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงได้มีโอกาสเข้ามาที่ทำเนียบฯหลายครั้งเพื่อมาพูดคุยกับทีมงาน แต่ยังไม่ได้พบกับนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯได้มอบหมายให้มาดูประเด็นอะไร นายณัฐวุฒิ บอกว่า จากในคำสั่งแต่งตั้ง ตนคงจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งเรื่องการติดตามประเมินสถานการณ์ ประสานงานทางการเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆ​ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงานส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนั้นก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี​ จะมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติม

เมื่อถามว่านายกฯได้ให้มาดูเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆด้วยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง​ ยังไม่ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง​ ส่วนผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหรือประสบความเดือดร้อนจากปัญหาการทำกินหรือการดำรงชีพต่างๆ ก็มีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานงานความคืบหน้าอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า​ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุม สถานการณ์ตอนนี้คิดว่าจะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวหรือไม่​ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ ความเคลื่อนไหวจริงๆมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ อดีตนายกรัฐมนตรี​ ทั้งในรูปแบบการชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ​ หรือรูปแบบการรวมตัวและแสดงความคิดเห็นต่างๆ​ แต่ในขั้นของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่​ หลักหมื่น​หลักแสนคนเป็นเวลานานๆ​ อย่างที่เราเคยเห็นหลายครั้งในรอบ 20 ปีมานี้ เข้าใจว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น​

ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้มีหน่วยงานหรือปฏิบัติการอะไร​ ที่จะติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ​ เพราะเราเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมุ่งเน้นการผลักดันผลงาน​ การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า​

เมื่อถามว่า​หลังจากได้รับแต่งตั้งมา 3 สัปดาห์แล้ว ได้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำอะไรกับนายกฯบ้างหรือยัง นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ​ เราใช้การพูดคุยกันในวงของคณะทำงาน ตนคงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรถึงรัฐบาล​ หรือนายกฯผ่านสื่อตรงนี้​ หากเราเห็นว่าเรื่องนี้มีมุมมองอย่างไร หรือมีทัศนะประเมินสถานการณ์แบบไหน ก็นำเรียนไปตามช่องทาง

ถามถึงเรื่องของนิรโทษกรรม จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบถึงรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้นิรโทษกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน​ ในส่วนที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันไม่มีข้อโต้แย้ง คือเห็นชอบว่าควรจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการลดความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา​

ส่วนที่ยังเห็นต่างกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะออก​มาจะครอบคลุมถึงความผิด หรือการดำเนินคดีข้อหาใดบ้าง​นั้น ความจริงมาตรา 112 ยังเห็นต่างกันอยู่​ แต่ตนเห็นว่าสภากำลังจะปิดสมัยประชุม​ และจะมีการพิจารณากฎหมายนี้หรือไม่อย่างไร​ ก็อยู่ที่สมัยประชุมหน้า​ ดังนั้น​ ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการประชุมสภา​ฯ​ เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ตลอดจนกลุ่มก้อนภาคประชาชนที่ได้เคลื่อนไหว​ คงจะได้มีการปรึกษาหารือกัน​ และการที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ หลักการคือจะต้องไม่ไปขยายความขัดแย้งใดๆเพิ่ม​

นายณัฐวุฒิ​ กล่าวต่อว่า ตนจึงคิดว่าการรักษาบรรยากาศ ไม่ให้ช่วงเวลานี้ ไปมีเงื่อนไขความขัดแย้งอะไร​ หากจะพูดคุยกัน​ เช่น​ ทางพรรคเพื่อไทย​ โดยนายภูมิธรรม​ เวชย​ชัย​ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม​ บอกว่าจะมีกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการบริหาร​ จะหารือและมีข้อสรุปว่าจะมีร่างออกมา​ประกบหรือไม่​ รวมถึงส่วนอื่นๆก็เช่นเดียวกัน​ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาคุยกันภายใน​ ถึงเวลาก็ต้องเอาไปคุยกันในสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา ที่จะไปพูดคุยกัน​

"ส่วนจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้ ผมได้แสดงความเห็นไปหลายที ยังคงมีจุดยืนเดิม และนี่เป็นจุดยืนส่วนตัวที่พูดมาตลอด​ ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ และหวังใจเวลาที่ยังเหลืออยู่ ข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างต่างๆ แต่ละฝ่าย​ ที่กำลัง​คิดไม่เหมือนกัน​ น่าจะยังมีเวลาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกันได้" นายณัฐวุฒิ​ กล่าว

เมื่อถามว่ามีชนวนใดที่จะทำให้จุดม็อบได้ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ การไม่ไปเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้ง กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือเป็นเรื่องหลักที่ทุกรัฐบาลไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว​ และจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา​ ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี จนกระทั่ง น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีท่าทีทำนองนี้ ขณะนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาล​คือพยายามผลักดันนโยบาย​ หรือเนื้องานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ​ แต่การจัดบรรยากาศ การจัดเวที​ในการดำเนินการเรื่องนี้​ มันมีความละเอียดอ่อน คิดว่าควรให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสภาว่ากัน​ ใครมีความคิดเห็นแบบไหน ก็แสดงออกกันด้วยท่าทีและเวทีที่เหมาะสม น่าจะดีที่สุด

ถามว่าตั้งแต่มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ นพ.เหวง​ โตจิราการ​ อดีตแกนนำ​ นปช.​ ออกมาเตือนว่า​สักวันสิ่งที่ นายณัฐวุฒิ​เคยทำหรือพูดไว้​ อาจจะกลับมาทำลายตัวเอง​ นายณัฐ​วุฒิ​ กล่าวว่า​ ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกันเป็นทางการ​ แต่ตนก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ​ มีวิถีทางในการเลือกเดิน และยังแน่ใจว่าความเป็นตนเองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน​ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง​ วิธีการคิดและเดิน​อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างไปตามสถานการณ์​ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากเพื่อนมิตรและพี่น้อง ตนเลือกที่จะเงียบและทำตามในสิ่งที่เชื่อ เดินตามทางที่เลือก ให้เวลามันอธิบายเรื่องทั้งหมดดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายดิจิทัลรวมถึงงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ดูเหมือนจะยากขึ้น ต้องมีอะไรออกมาเพื่อเติมหรือไม่​ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น​และเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป​ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า​ ทุกนาทีรัฐบาลเร่งทำงานกันอยู่แล้ว​ แต่ยังมีเวลาอยู่เกือบ 3 ปี เรื่องอะไรก็ตามที่สื่อมวลชนบอกว่ายาก​ มันอาจจะคลี่คลายง่ายขึ้น​ และมีผลที่ปฏิบัติได้ การทำงานทางการเมืองในรัฐบาลผสม​ ไม่มีอะไรที่จะเดินไปได้ก้าวใหญ่ๆและเร็วทุกเรื่องอยู่แล้ว เรื่องที่เห็นด้วยและเรื่องที่เห็นต่าง​ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาทางและมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้เดินไปต่อได้ เมื่อพรรคเพื่อไทย​ตัดสินใจ​ ที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ความรับผิดชอบทั้งหลายต่อปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็ต้องทำกันให้เต็มที่​ นโยบายและการแก้ไขปัญหาต่างๆจะปรากฏชัด​ ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ​

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จสิ้นได้เดินไปไหว้ที่รูปของนางยุวดี ธัญญสิริ หรือเจ๊ยุ นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว พร้อมกล่าวว่า เห็นภาพเจ๊ยุ แล้วจุกเลย ตนกำลังจะบอกพอดีว่า มาที่รังนกกระจอกแล้วคิดถึงแก เพราะตอนที่ตนเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกคอยอบรมอยู่ตลอด เวลาตนให้สัมภาษณ์เสร็จแล้ว ตนก็มานั่งพูดคุยกับแกอีก แต่นักข่าวที่นี่ทุกคนก็น่ารักที่ยังเอารูปแกติดไว้ที่รังนกกระจอก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองเลขาฯเพื่อไทย ฟาดกลับ 'ไอซ์ รักชนก' แซะแจกเงินหมื่นช่วงเลือกตั้งนายก อบจ.

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ใจเย็นๆ นิดนะคะ รัฐบาลตั้งใจส่งเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงมือกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุด

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง