“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชำแหละ ยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม แตกต่างจากพรรคก้าวไกล ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ จะต้องฟังได้ว่า พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคขาดอิสระ
21 ต.ค. 2567 - สืบเนื่องจากกรณีนายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม
จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำและ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่า คำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จนั้น
ล่าสุดมีความเห็นที่น่าสนใจ จาก ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นควรรับคำร้องของผู้ร้อง ไว้สืบสวนหรือไต่สวน กรณียุบพรรคพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม กรณีพรรคการเมืองกระทำการตามมาตรา92 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง อาศัยระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 พิจารณาให้แล้วเสร็จนับแต่ยื่นคำร้องภายใน 7 วันวินิจฉัยว่าคำร้องที่ผู้ร้องหรือความปรากฎแก่นายทะเบียนมีมูลหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงมีมูล ตามระเบียบฯข้อ 7 เมื่อนายทะเบียนรับไว้เนินการ ให้นายทะเบียน อาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นเพื่อเสนอต่อนาทะเบียนโดยเร็ว แต่ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับเรื่องไว้ดำเนินการ หากไม่แล้วเสร็จ ให้รายงานพร้อมเหตุผลความจำเป็นต่อนายทะเบียน เพื่อขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปอีกครั้ง ไม่เกิน 30 วัน รวมกันแล้วไม่เกิน 67 วัน หรือเรียกว่ายุบพรรคติดเทอร์โบ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าในระเบียบฯ ข้อ 9 ให้นายทะเบียนฯพิจารณาและพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่ง พรป.พรรคการเมือง ให้เสนอต่อ กกต.พิจารณา โดยระเบียบฯกำหนดระยะเวลา ให้ กกต.พิจารณาภายใน 30 วัน หาก กกต.ไม่เห็นชอบ มีอำนาจยกคำร้อง หรือยุติเรื่อง แล้วแต่กรณี แล้วแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ระเบียบใหม่ หากนับเวลาที่ กกต.พิจารณา 97 วัน เท่านั้น เป็นการกระชับอำนาจของ กกต.ต่อการยุบพรรคการเมือง
ระเบียบข้อ 9 วรรคสอง หาก กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ระเบียบข้อ 9 วรรคสาม กรณี กกต.เห็นว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ตรงนี้ เปิดช่องให้ระยะเวลาขยายออกไปอีกได้ เพราะเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของ กกต.
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หาก กกต.วินิจฉัยชี้ขาดยุบพรรคเพื่อไทยและหรือ 6 พรรคร่วม จะต้องไปสู้กันในศาลอีกยกหนึ่ง ใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะศาลถือข้อเท็จจริงในสำนวนที่ กกต.สืบสวนและไต่สวนเป็นหลัก
ส่วนที่ถามว่า กกต.รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย จะใช้โมเดลเดียวกับพรรคก้าวไกล ขณะนั้นหรือไม่ ดร.ณัฐวุฒิ นักกฎหมายมหาชน อธิบายว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องที่ กกต.รับไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม มีเนื้อหาแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงยุบพรรคก้าวไกล ผู้ร้องนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ในคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล มาร้อง เพราะถูกมัดด้วยข้อกฎหมาย ในมาตรา 211 วรรคสี่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร โดย กกต.หยิบเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติมาเป็นเหตุในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงผู้ร้อง โดยข้อกฎหมาย พรป.พรรคการเมือง มาตรา 92 เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยไม่จำต้องแจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้ถูกร้องทราบ คำว่า “มีหลักฐานอันควรเชื่อ..” ตรงนี้ ที่ กกต.หยิบมาใช้ โดยที่พรรคก้าวไกล ขณะนั้น ดิ้นพล่านและแถลงปิดคดีนอกศาล โดยต่อสู้อำนาจฟ้องว่า กกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพราะ กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 93 ตามกฎหมายพรรคการเมืองก่อน โดยหยิบเอาคำวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์มาใช้แต่ข้อเท็จจริงต่างกัน ทำให้หงายเงิบ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าคดีพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม ชั้นสืบสวนหรือไต่สวน กกต.จะต้องปฏิบัติตาม ข้อ 7 วรรคสอง ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ประกอบมาตรา 93 แห่ง พรป.พรรคการเมือง ให้พรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม ผู้ถูกร้อง รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน เปิดช่องให้พรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม หายใจและดึงเกมสู้ในชั้น กกต. แตกต่างจากยุบพรรคก้าวไกล และพรรคไทยรักษาชาติ ในชั้น กกต.ใช้อำนาจยื่นยุบพรรคทันที ไม่ต้องแจ้งข้อหาและข้อเท็จจริง โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า กกต.ผู้ร้อง มีอำนาจฟ้องคดี
ถามว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เย็นวันนั้น นายทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พรรคร่วมรัฐบาลประชุมกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อชิงเกม เสนอบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการ ควบคุม ครอบงำ สั่งการหรือไม่ อย่างไร
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าตนคงไม่ไปชี้นำ กกต.ว่า เข้าเกณฑ์ มาตรา 28 ที่ว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองใดยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคขาดความอิสระ และในมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ
ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ แต่ตั้งข้อสังเกตและให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชนในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ในกฎหมายพรรคการเมืองสองมาตรานี้ ฝ่ายผู้ร้องจะต้องมีพยานหลักฐานและพิสูจน์ให้ชัดแจ้งว่า นายทักษิณ ชินวัตรนั้นมีการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำ พรรคเพื่อไทย อย่างไร และองค์ประกอบสำคัญทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ คำว่า ขาดอิสระ หมายความว่า กระบวนการตัดสินใจอยู่ที่คนคนเดียว ในชั้น กกต.ใช้ระบบไต่สวน กกต.อาจแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ จะอาศัยเนื้อหาข่าวตัดแปะ คงไม่ได้ ดังนั้น พยานหลักฐาน ฝ่ายผู้ร้องต้องพิสูจน์ถึงขนาดว่า ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ อย่างไร ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระด้วย กฎหมายสองมาตรานี้ เป็นการบัญญัติกว้างเกินไป ไม่เคยบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมืองมาก่อน
ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ฉันทามติบ้านจันทร์ส่องหล้าที่ปล่อยกระแสข่าวระบุว่า มติพรรคร่วมเสนอให้นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นว่าที่นายรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เมื่อพิจารณาถึง มติพรรคเพื่อไทย มติตรงกันข้าม เป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทยอ้างได้ว่า การเคาะผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเป็นไปตามพรป.พรรคการเมืองและข้อบังคบพรรคเพื่อไทยทุกประการ ตรงนี้ เป็นเกมสับขาหลอก ความเขี้ยว เล่ห์เหลี่ยมของนายทักษิณ ตรงนี้ ฝ่ายผู้ร้อง มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่า นายทักษิณเป็นควบคุม ครอบงำ สั่งการพรรคเพื่อไทยอย่างไรและทำให้พรรคเพื่อไทยขาดอิสระไม่ว่าทางตรงทางอ้อมอย่างไร
นากจากนี้ ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใน 6 พรรคการเมือง ขณะนั้น มีพรรคพลังประชารัฐร่วมด้วย ต่อมาโดนถีบมาเป็นพรรคฝ่ายแค้น ที่ถูกริบโควตารัฐมนตรี กว้างงูไม่พ้นคอ เมื่อถูกผลักเป็นฝ่ายค้าน ขณะเกิดเหตุ ตัวแทนพรรคพลังประชาชารัฐเข้าร่วมและไปด้วย พยานบุคคลที่ไปบ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย จะให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนอย่างไร ถือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต. โร่แจงระเบียบ 'ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง' สมาชิก-นายก อบจ.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
เพื่อไทยเปิดตัวบ้าน 'ม่วงศิริ' เข้าเป็นสมาชิกพรรค
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ถ.วิภาวดีฯ พรรคพท.นำโดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ฐานะแกนนำภาค กทม. นายจักรพงษ์ แสงมณี ที่ปรึกษานายกฯ นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพร
'วิโรจน์' เงิบ! กกต.โชว์หนังสือ กรณีให้ลูกจ้างใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.
สืบเนื่องจากกรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชนฝ่ายกิจการพิเศษ ได้แจ้งจะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ศูนย์
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ