ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้ รายงาน กมธ.สารตั้งต้น นำไปสู่ นิรโทษกรรมเหมาเข่งมาตรา 112 เป็นการโยนหินถามทาง สับขาหลอก เตือนจะนำไปสู่ล่มสลายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
18 ต.ค. 2567 - สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เข้าสู่วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้รับฟังและอภิปรายแสดงความเห็น ก่อนจะลงมติว่าเห็นชอบส่งรายงานให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปหรือไม่
ล่าสุด ที่รัฐสภา ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ว่ารายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เป็นสารตั้งต้น พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งในข้อหาประทุษร้ายเสรีภาพต่อพระราชินี มาตรา 110 และข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 112
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าจะเห็นว่า ในข้อหาประทุษร้ายเสรีภาพต่อพระราชินี มาตรา 110 เกิดขึ้นในการขวางขบวนเสด็จฯพระราชดำเนินของพระราชินี หรือ ในความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 112 เป็นการกระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เป็นการกระทำของบุคคลเฉพาะบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น พอติดคุกและไม่ได้ประกันตัวก็ออกมาโวยวายผ่าน สส.บางพรรคการเมือง พยายามโยงให้เป็นคดีการเมือง เพื่อให้ได้รับอานิสงส์ นิรโทษกรรมเหมาเข่งด้วย ให้ประชาชนส่วนใหญ่พิจารณาว่า เหมาะสมและสมควรหรือไม่
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าหากย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือนิรโทษกรรมสุดซอย หรือลักหลับ จะเรียกอะไรก็ตาม ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะประชาชนออกมาต่อต้าน หากพิจารณาถึงเทคนิคช่องทางอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในสภาโ ดยเสนอเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม เป็นการโยนหินถามทาง โดยนำเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงานของ กมธ.วิสามัญฯหรือไม่
"เป็นเทคนิคใช้กลไกลสภาโดยใช้เสียงข้างมาก สับขาหลอกประชาชน โดยที่รัฐบาลแพทองธาร สามารถอ้างได้ว่า เป็นความเห็นของรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่เป็นการกระทำของฝ่ายบริหาร ตนเองไม่เกี่ยว เป็นการใช้สภาเสียงข้างมากในการเป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม ครั้นจะใช้วิธีการตราเป็น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ผ่านความเห็นและรายงาน ของ กมธ. จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างรุนแรง เพราะรัฐบาลบาลผสมแพทองธาร ชินวัตร ยังไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ"
นักกฎหมายมหาชนกล่าวว่าหากพิจารณาถึง คำว่า นิรโทษกรรม หมายถึง การกระทำในทางกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐนั้น ออกกฎหมายเพื่อลบล้างการกระทำความผิดและโทษในทางอาญาของบุคคลที่ถูกตัดสินให้มีความผิดให้กลับสู่ฐานะของผู้บริสุทธิ์พ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง ถือเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยต้องโทษนั้นมาก่อน ซึ่งผลของการนิรโทษกรรมนั้น จะมุ่งให้เกิดผลโดยตรงต่อผู้กระทำความผิดนั้น โดยถือว่าการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นการผิดกฎหมาย
ดังนั้น การนิรโทษกรรมซึ่งเป็นการยกเลิกกฎหมายจึงต้องออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด หรือกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่า เพราะถือเสมือนเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆ อันเป็นการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง แต่เป็นการออกกฎหมายย้อนหลังที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาจึงสามารถใช้บังคับได้ โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมายอาญา ซึ่งการนิรโทษกรรมนั้นมีความหมายกว้างกว่าการอภัยโทษโดยทั่วไป เพราะนิรโทษกรรมมีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดนั้น
ส่วนที่ถามว่า ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แถลงยืนยันว่า การเสนอรายงานนิรโทษกรรม ไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย และไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่สมควรมีการยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้ การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปเพื่อไม่ให้จมปลักอยู่กับความขัดแย้งนั้น
ดร.ณัฐวุฒิ มองว่า การเสนอรายงานนิรโทษกรรม เป็นการโยนหินถามทางและเป็นสารตั้งต้นในการตรา พรบ.นิรโทษกรรม โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบ โดยเสียงส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีการผลักดันไปสู่การออก พรบ.นิรโทษกรรม โดยอ้างความเห็นของรัฐสภาจาก รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม คำว่า รายงาน ไม่ใช่ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม สรุปง่ายๆ รายงาน เป็นการรับฟังความเห็น ไม่ใช่เป็นการตรากฎหมาย เป็นการเช็กเสียงในสภาว่า รัฐบาลผสมและฝ่ายค้าน พรรคการเมืองใด เอาด้วย ซึ่งจะนำไปประเมินว่าจะเดินต่อหรือหยุด เพื่อรอเวลาก่อน เพราะหากผลักดันเป็น พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง รวมมาตรา 112 ไปด้วย ระหว่างพิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร จะได้รับอานิสงส์ผลแห่งนิรโทษกรรมด้วย
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าให้จับข้อสังเกตว่า นายชูศักดิ์ มือกฎหมายของเพื่อไทย มานั่งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อชำแหละผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งนี้ หากรวมถึง คดีการเมือง คดีทุจริต ย่อมส่งผลต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เผ่นหนีไปตั้งหลักที่ต่างประเทศ กลับเข้าประเทศโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ จะลุกฮือต่อต้านรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แม้จะมี นโยบายกระตุ้นเศษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบาง แต่เป็นนำเงินภาษีประชาชนทุกคนมาแจก ไม่ใช่เงินของตระกูลชินวัตรหรือ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
"หากยังฝืนเดินหน้าเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่ พรบ.นิรโทษกรรม เพื่อยกเว้นความผิดให้แก่นายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในที่สุด" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว