พรรคประชาชน อัดทั่นประธาน สั่งปิดประชุมกะทันหัน ยื้อร่างรายงานนิรโทษกรรม

17 ต.ค.2567 - เมื่อเวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา สส.พรรคประชาชน นำโดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังประธานในที่ประชุมสภาฯ ปิดประชุม ขณะที่กำลังถกเถียงว่าจะโหวต รับหรือไม่รับรายงานผลการศึกษาของกมธ.นิรโทษกรรม

โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่ประธานสภาฯ ชิงปิดการประชุมก่อน เนื่องจากการพิจารณาควรจะเสร็จในวันนี้ (17 ต.ค.) เพื่อให้สภาฯ ได้พิจารณาวาระอื่นๆ ที่มีอยู่ต่อไป เพราะตนเข้าใจว่า ได้มีการคุยกันไว้ก่อนแล้วว่าจะมีญัตติด่วนกรณีการร้องเรียนบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป และยังมีวาระอื่นๆ ที่ควรจะรีบพิจารณาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่จะสมัยประชุมจะปิด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะเห็นว่ากมธ.แทบไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย ขนาดนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกมธ. ก็ได้แจงเพียงภาพกว้าง ก่อนจะเปิดให้ สส.ได้แสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งกมธ. มีความตั้งใจว่า เมื่อฟัง สส.อภิปรายจนครบหมดแล้ว จะลุกขึ้นชี้แจงเนื้อหาสาระที่สำคัญของข้อเสนอ รวมถึงประเด็นที่ สส.ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เสียโอกาสที่สภาฯจะได้ผลักดันวาระที่สำคัญ และไม่รู้ว่า สุดท้ายจะมีปัญหาจนกระทั่งไม่สามารถพิจารณารายงานฉบับนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ได้หรือไม่

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า หากครั้งหน้ามีประเด็นปัญหาอีกก็น่าเสียดาย เพราะไม่ว่ารายงานกมธ.ฯ นี้จะผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือไม่ ในการเปิดสมัยประชุมสภาหน้า ก็จะมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจ่อรออยู่แล้ว 4 ฉบับ ซึ่งเมื่อเช้านี้ ตนได้ดูวาระแล้วว่าร่างของอดีตพรรคก้าวไกลอยู่ในลำดับที่ 6 อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น ไม่ควรมีการเตะถ่วงการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกพรรค รวมถึงรัฐบาลรีบนำข้อสรุปความเห็นที่ สส.และสาธารณะ ได้ฟังสาระสำคัญของกมธ. นำไปเสนอร่างกฎหมายของตัวเอง เพื่อมาพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายอื่นๆ ที่รอเข้าสภาฯ อยู่แล้วในต้นสมัยประชุมหน้า ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตกลงแล้วความชัดเจนของรัฐบาลต่อการนิรโทษกรรมจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องยอมรับว่าหากดูตามรายงานจะมีเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นข้อสรุป แต่เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าควรรวมมาตรา 112 หรือไม่ควรรวม และยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการ ที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย และการที่รายงานฉบับนี้ล่าช้าออกไปทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลแล้วตกลงจะเอาอย่างไร และแน่นอนว่าการปิดประชุมเป็นอำนาจของประธานสภาฯ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อำนาจนี้ก็ถูกมองได้ว่า เป็นจุดยืนของรัฐบาลหรือไม่ที่ไม่ได้ต้องการให้เรื่องนี้มีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และอยากให้สังคมตั้งคำถามดังๆ ต่อรัฐบาลว่าตกลงแล้วจะเอาอย่างไร โดยรายงานฉบับนี้พยายามหาจุดที่จะประนีประนอมคุยกันได้ วันนี้สิ่งที่เราอยากจะได้ความชัดเจนที่สุดคือแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการถอนฟืนออกจากกองไฟ แต่ถ้าบรรยากาศของสภาฯเป็นเช่นนี้ เราจะถอนฟืนออกจากกองไฟได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อทำให้สภาฯ เป็นที่แห่งความพูดคุยเพื่อคลายความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ และยิ่งยากมากขึ้น

ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากติดตามการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประธานได้ปิดประชุมก่อนเวลาที่วิป 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ และไม่มีครั้งไหนที่เราสามารถดำเนินการประชุมตามที่วิป 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ หากเราติดตามกันตั้งแต่สภาฯชุดที่แล้ว จะเห็นว่ามีรองประธานสภาฯ ที่เป็นมือปิด มักจะเป็นตัวแทนมาจากพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือกลัวองค์ประชุมล่ม จะทำให้ประชาชนเห็นว่าฝั่งรัฐบาลอยู่ไม่ครบองค์ประชุม และไม่สามารถประชุมต่อได้ แต่วันนี้พรรคประชาชนแสดงอย่างชัดเจนว่าเราไม่ล่มองค์ประชุมอย่างแน่นอน พร้อมที่จะโหวตไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรกับรายงานฉบับดังกล่าว เพราะถือเป็นวิถีทางประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ตีตกไป สภาฯว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า อีกสัญญาณหนึ่งที่ส่งผ่านมาจากการปิดประชุมคือเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล โดยในวันนี้พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติก็ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะลงมติ ตนมั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ทราบว่าวันนี้องค์ประชุมครบและไม่ล่มอย่างแน่นอน

“การปิดประชุมหนีแบบนี้ ก็อาจจะเป็นการไม่อยากให้ทางสาธารณะได้เห็นภาพความขัดแย้ง ของพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง ที่อาจจะส่อถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เริ่มจะงัวเงียง่อนแง่น สถานการณ์แบบนี้ครั้งที่แล้ว เกิดขึ้นช่วงปลายรัฐบาล ที่พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่องและเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง ต้องปิดการประชุม เพราะองค์ประชุมล่มกันบ่อยครั้ง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า การปิดประชุมในวันนี้ไม่มีประโยชน์เพราะวันที่ 24 ต.ค. ก็ต้องกลับมาพูดคุยกันเรื่องนี้อีกครั้ง ส่วนการที่มีสมาชิกระบุว่าให้ปิดการอภิปรายเลยนั้น ต้องเข้าใจว่าสภาฯ แต่งตั้งกมธ.ขึ้นมา เป็นตัวแทนไปพิจารณาเรื่องที่เราสนใจ และได้ผลการศึกษากลับมา การอภิปรายของสส. ควรให้เกียรติกมธ.ที่ไปศึกษารายงานฉบับดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและขจัดความเข้าใจผิด หากจะพูดกันแค่ในสส. และไม่ให้กรรมาธิการอธิบาย ประชาชนอาจจะเข้าใจผิดในบางประเด็น

“ เท่าที่ผมฟัง สส.หลายคนก็อภิปรายโดยที่ ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริง บางท่านอภิปรายเลยไปถึงเป็นการพิจารณาการแก้ไข มาตรา 112 หรือการพิจารณาพ.ร.บ. นิรโทษกรรมโดยตรง จะจบมีผลบังคับใช้วันนี้เลย ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น ทางกรรมาธิการก็มีหลายตัวเลือก เพื่อครม. นำความเห็นนี้ไปเป็นประโยชน์ในการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในอนาคตเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งที่รุนแรงที่ผ่านมา” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการปิดประชุมบ่อยจะต้องมีการคุยนอกรอบกับพรรครัฐบาลหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุขึ้นอีก นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราคุยมาตลอดแล้วเมื่อเช้าตนรับรู้ถึงสัญญาบางอย่าง ซึ่งได้พยายามเจรจาแล้ว แต่ก็เข้าใจดีว่าการเจรจานั้นอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ซึ่งต้องยอมรับกันตามตรงว่าอำนาจในการปิดประชุมเป็นของประธานในที่ประชุมโดยแท้ แต่กระบวนการเจรจาก็สำคัญเช่นเดียวกัน แต่อยู่ที่เหตุผลที่ปิดเพราะเหตุผลอะไร ตนมองว่าประชาชนและสื่อมวลชนต้องกดดันให้สภาฯ สามารถดำเนินวาระต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าที่จะมีการเสนอญัตติ หรือวาระอื่นแทรก เพื่อยื้อเวลาไม่ให้เกิดการลงมติ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นทางหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ในวาระนี้จะเป็นวาระลำดับแรกของเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว หากมีอะไรมาแทรกจะต้องเป็น รายงานของหน่วยงานต่างๆที่จะต้องรายงานต่อสภาฯ เมื่อหมดเรื่องเหล่านั้น วาระนี้ก็ต้องเป็นวาระแรก หากจะขยับก็ต้องขอเลื่อนวาระ อาจจะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาซึ่งแน่นอนว่าเราไม่เห็นด้วยเพราะเรื่องนี้จะจบแล้ว แค่ให้กมธ.ชี้แจงในประเด็นต่างๆ และลงมติกัน ก็ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้น และยืนยันว่าหากไม่ทันสมัยประชุมนี้ รายงานดังกล่าวจะไม่ตก สมัยหน้าเปิดประชุมมาก็ยังพิจารณาได้

ถามถึงว่า ในวันที่ 21 ต.ค. พรรคร่วมรัฐบาลนัดรับประทานอาหารค่ำ น่าจะคิดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวไปถกหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งกมธ.นี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีผลการศึกษาก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมาย ยิ่งยื้อไปก็ยิ่งเปล่าประโยชน์ ทำให้กมธ. ไม่มีความหมายอะไรเลย เมื่อกฎหมายเข้ามาเราก็ยังมีการผ่านการตกผลึกใดๆเลย ซึ่งนายชูศักดิ์ ก็อยู่ในครม. คิดว่าคงมีการพูดคุยกันตลอดอยู่แล้ว โดยในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหาทางออกว่าความเห็นต่างในพรรคร่วมรัฐบาลจะจัดการอย่างไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

'พิธา' คุยพรรคประชาชนแข่งเลือกตั้งมีแต่ชนะกับพัฒนา ไม่มีคำว่าแพ้

ที่จ.อุดรธานี แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก องค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​ (อบจ.)​ อุดรธานี ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย. 2567 ซึ่งพรรคประชาชนได้ส่ง คณิศร ขุริรัง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก

ดร.ณัฏฐ์ ชี้เลือกนายกอบจ.อุดร เพื่อไทยชนะไม่ขาดจะกระทบสนามใหญ่ เตือน 'ทักษิณ' ปากพาซวย!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' ยกทัพไปช่วยหาเสียงนายกอบจ.อุดรธานี แม้เกณฑ์คนไปฟังเยอะ คะแนนสวนทาง หากไม่ชนะขาด กระทบต่อสนามใหญ่ ยกวาทะ 'ถ้าจะเลือกทักษิณ ให้เลือกเบอร์ 2' ระวังทำคนหลงผิดโทษถึงคุก! 

'อนุสรณ์' โวลั่น 'อุดรธานี' ยังคงเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.)ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี