“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ “ล้มล้างการปกครอง” สารตั้งต้นนำไปสู่ยุบพรรคเพื่อไทย ต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ กำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
17 ต.ค.2567 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวถึงกรณีการยื่นคำร้องใน 6 ประเด็นของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย หยุดการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ว่า บทบัญญัติการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมมาตรา 49 คำว่า ล้มล้างการปกครอง หมายความว่า
(1)การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไปไม่ให้ดำรงอยู่ หรือมีอยู่อีกต่อไป เป็นการกระทำที่ไม่ห่างไกล จนเกินเหตุตามสภาพการณ์สังคม
และ (2) ต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น จำง่ายๆว่า เป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้า (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2563, คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 39/2555, ที่ 71/2555) ผลของคำวินิจฉัยและสภาพบังคับ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลสั่งเลิกการกระทำหรือสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าหากพิจารณาถึงสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นหลักสำคัญของการประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน การประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าว ต้องมีกลไกลเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้ใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ไปในทางที่ไม่สุจริต รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกที่เป็นข้อห้ามของการใช้สิทธิและเสรีภาพไปในทางที่ไม่สุจริต ประกอบด้วยคำว่า “เป็นปฏิปักษ์” และ “ล้มล้าง” การปกครอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติใช้คำว่า คำว่า “เป็นปฏิปักษ์” ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 มาตรา 35 รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2511 มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 มาตรา 53 รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2521 มาตรา 45 และรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2534 มาตรา 49
ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติใช้คำว่า คำว่า “ล้มล้างการปกครอง” ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการสำคัญในการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ตามแนวคำวินิจฉัย ดังนี้
(1) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 โดยวางหลักไว้ว่า การกระทำจะต้องกำลังดำเนินการอยู่และยังไม่เกิดผล ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้ เพราะหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้
(2) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 โดยวางหลักไว้ว่า “ล้มล้าง” หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่ หรือมีอยู่อีกต่อไป ส่วนคำว่า “ปฏิปักษ์” นั้น ไม่จำต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำต้องถึงขนาดตั้งตน เป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแต่เป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้าหรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผล เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้
(3) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2563 โดยวางหลักไว้ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงเป็นหลักการสำคัญที่มุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วม ในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มั่นคง สถาพร มิให้ถูกล้มล้างหรือเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ไปโดยไม่ชอบ
นักกฎหมายมหาชนผู้นี้ กล่าวอีกว่าการพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการรปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรางเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้นถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
ทั้งนี้แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตนได้นำมาจากความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน ได้เขียนไว้ในคำวินิจฉัยที่ 14/2564 เป็นการให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชน ในการติดอาวุธทางปัญญาว่า เหตุที่ทนายธีรยุทธ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ให้หยุดครอบงำ ครอบครองพรรคเพื่อไทย ให้หยุดล้มล้างการปกครอง จะเข้าองค์ประกอบมาตรา 49 หรือไม่
"ผมขอตั้งสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่เหวี่ยงแห ถึง 6 ประเด็นที่ทนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้นถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ