กมธ.ศึกษาฯนิรโทษกรรม แนะอย่าใจร้อน ชี้ล้างผิด112 สังคมเห็นต่างหวั่นเกิดขัดแย้ง

กมธ.ศึกษาการออกกม.นิรโทษกรรม แนะอย่าใจร้อน รีบออกกฎหมาย เตือนอาจเป็นระเบิดเวลา ชี้ล้างผิด 112  หากสังคมยังเห็นต่างกัน ชิงนิรโทษแบบไม่มีเงื่อนไข อาจเกิดความขัดแย้ง

14 ต.ค.2567-มีรายงานว่าวิปรัฐบาลจะให้การประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีนี้ 17 ต.ค. มีการพิจารณารายงานผลการศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ

นายยุทธพร อิสรชัย  อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฯ ในคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า ทางอนุกมธ.ฯชุดดังกล่าว ได้ข้อสรุปออกมาหลายส่วนเช่นนิยาม”แรงจูงใจทางการเมือง”ที่นิยามออกมาว่า” “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

รศ.ยุทธพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรอบเวลาที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ให้เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ขณะที่การจำแนกประเภทการกระทำในคดีที่มีเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง แยกได้เป็นสามส่วนคือ คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฯ เปิดเผยว่า สำหรับคดีหลักคือคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรงเช่น ถูกเอาผิดตามพรบ.การชุมนุมฯ  หรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนคดีรอง คือคดีที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้น เช่น ถูกดำเนินคดีตามพรบ.ความสะอาด ฯ พรบ.จราจร ฯ หรือกฎหมายส่วนคดีที่มีความอ่อนไหว คือคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 และคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อมนุษย์ โดยการจำแนกดังกล่าวใช้สถิติ ข้อมูล และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการจำแนก รวมถึงอนุกมธ.ฯ ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่นมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและเสริมสร้างความปรองดอง ที่ก็จะมีแนวทางที่มาจากกรณีในต่างประเทศ ที่เสนอว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เช่นการมีกระบวนการที่้จะต้องห้ามบุคคลบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปดำเนินการหรือไปทำความผิดในฐานความผิดเดิม

เมื่อถามว่า รายงานดังกล่าว พบว่าได้ให้ความเห็นไว้ว่า ควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข เหตุใดจึงเสนอแนวทางดังกล่าว นายยุทธพร กล่าวว่า กระบวนการในการที่เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากเราย้อนไปดูในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเด็น และข้อถกแถลงในสังคมการเมือง มีการขยับอยู่ตลอดเวลา จากเดิมเป็นเรื่องของตัวบุคคล ต่อมาก็เป็นเรื่องของแนวทาง แนวคิด ต่อมาก็เป็นเรื่องอุดมการณ์ ที่จะพบว่ามันก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆดังนั้น วันนี้หากเราไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเลย ในอนาคตมันจะยิ่งมีความแตกแยก การแบ่งขั้วทางการเมือง ที่มันร้าวลึกลงไปอีก เพราะฉะนั้นเราจะปฏิเสธการไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่สังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่มันซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็ได้

“วันนี้ หากเราจะพูดกันถึงเรื่องคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 หรือคดีที่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ คดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ก็ควรต้องมีเงื่อนไขในการให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้สังคมได้ตกผลึก ไม่ใช่บอกว่าให้นิรโทษกรรมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมันก็ไม่ได้ เพราะมันก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซับซ้อนตามมาอีก ดังนั้น ก็ต้องมีการพูดคุย โดยอาจจะให้มีการนิรโทษกรรมในเรื่องอื่นๆ ก่อนในคดีหลัก คดีรอง หรือคดีที่สังคมตกผลึกไปแล้วเดินหน้าไป แต่คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อาจต้องมีเงื่อนไข เช่นอาจให้มีเวทีพูดคุยกัน โดยอาจมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาจต้องมีการหารือแนวทางให้มันตกผลึกก่อน ที่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข”

ถามว่า ไทม์มิ่งการเมืองตอนนี้ เหมาะหรือยังที่ถึงเวลาสภาฯ จะพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เพราะที่ผ่านมา มีการเสนอร่างเข้าสภาฯมาแล้วหลายร่างแต่ยังไม่มีการพิจารณาเสียที นายยุทธพรกล่าวว่า หลักใหญ่ตอนนี้ ควรต้องทำให้มีกระบวนการของการนิรโทษกรรมเสียก่อน ผ่านการพูดคุยกันก่อน แล้วกฎหมายค่อยเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างปัจจุบันที่มีการเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม 4-5 ร่าง เสนอเข้าสภาฯไป แต่ยังไม่ชัดว่าจะเป็นไปตามร่างใด เพราะสุดท้าย สภาฯ อาจเห็นว่า ให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมใหม่ขึ้นมาใหม่เลยก็เป็นไปได้

โดยตรงนี้มันต้องมีกระบวนการพูดคุยกันก่อน เพราะถ้าไปเสนอกฎหมายเข้าสภาฯเลย สุดท้าย มันจะไม่จบ เรื่องนิรโทษกรรม แล้วจะทำให้เกิดปัญหาความซับซ้อนในเรื่องความขัดแย้งที่ตามมาอีกก็ได้ โดยกระบวนการพูดคุยดังกล่าว ก็คือ สภาฯ อาจเป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากแต่ละทุกภาคส่วนของสังคมว่า แนวทางการนิรโทษกรรมที่กมธ.ฯ ได้ศึกษาสรุปออกมาเป็นสามประเภทคดีคือคดีหลัก คดีรอง คดีที่มีความอ่อนไหว แต่ละภาคส่วนเห็นอย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ควรออกเป็นกฎหมายหรือไม่

หากออกเป็นกฎหมายอยากให้เนื้อหาในกฎหมายครอบคลุมอย่างไรบ้าง แล้วมันก็จะค่อยๆ จูนไปเรื่อยๆ เรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญของการนิรโทษกรรม หากเรามีกระบวนการ มีการใช้เวลาตรงนี้ร่วมกัน สังคมเราจะมีทางออกร่วมกัน แล้วกฎหมาย ค่อยมาว่ากันตามเข้ามาทีหลัง แต่ถ้าใช้วิธีให้กฎหมายนำมาก่อน ไม่คิดว่าจะเป็นทางออกได้

ถามย้ำว่า หากในสภาฯ ที่เหลือเวลาอีกสามปี ถ้าไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ถ้ายังมีการซื้อเวลา ไม่กล้าตัดสินใจ นายยุทธพร กล่าวว่า เราต้องมองกลับกันด้วยเหมือนกันว่า หากมีการไปออกกฎหมายโดยสังคมยังไม่ตกผลึก มันจะเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน กับการนิรโทษกรรม เราอย่าไปมองว่า การไม่ออกกฎหมาย คือการซื้อเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ การออกกฎหมายอาจกลายเป็นระเบิดเวลาได้เหมือนกัน เพราะการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสังคมยังเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง แต่เรื่องใดที่สังคมเห็นตรงกันแล้วก็ออกเป็นกฎหมายได้ เช่นการกระทำความผิดที่เกิดจากความขัดแย้งในอดีต ที่ทุกฝ่ายตกผลึกแล้ว แบบนี้ออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมได้

แต่อันไหนที่ยังไม่ตกผลึกก็ค่อยๆพูดคุยกัน หาทางแก้กันไปน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นเรื่อง คดี 112 ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด รอบด้าน ถ้านิรโทษกรรมแล้วสังคมไม่ปรองดอง มันก็ไม่เป็นประโยชน์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

'เพื่อไทย' เดินหน้าเต็มสูบ 'นิรโทษกรรม' งัดข้อประชามติชั้นเดียว

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' จ่อเข็น 'กม.นิรโทษฯ' ถกพร้อมร่างอื่น พ่วงเดินหน้า 'กม.ประชามติ' แนะ 'ประธานสภาฯ-วิป' เร่งหารือแนวทาง 'แก้ รธน.' เหตุ อาจเสียเวลาเปล่า

'ชูศักดิ์' ไม่รู้ 'ยิ่งลักษณ์' จะกลับไทยอย่างไร รับกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เสร็จง่ายๆ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ปีหน้า