'นิกร' หวั่นกม.ประชามติ ทำ 2 สภาฯแตกหัก เสนอทางสายกลาง ให้เสร็จทันปิดสมัยประชุม

“นิกร” เชื่อ กมธ.ร่วมถกประชามติ ทันก่อนปิดสมัยประชุม หากตกลงกันได้ เหตุมีปัญหาแค่มาตราเดียว ชี้หากสส.ยืนตามร่างเดิม อาจมีปัญหาระหว่างสองสภา แก้รธน.จะยากขึ้น

12 ต.ค.2567 - นายนิกร จำนง กรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีวุฒิสภายังไม่ส่งชื่อร่วมเป็นกมธ.ฯ อาจทำให้การพิจารณาล่าช้าว่า เนื่องจากทางวุฒิสภางดการประชุมทำให้เกิดความล่าช้าเพราะในวันที่ 30 ต.ค. ก็จะปิดสมัยประชุมแล้ว ทั้งนี้ความเห็นที่มีการเสนอให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณาดูเหตุผลแล้วถ้าจะเปิดวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ก็คงไม่เพียงพอ และถึงจะเปิดสมัยวิสามัญได้เวลาก็ไม่พอทำประชามติทันในการเลือกท้องถิ่นในเดือนก.พ. 68 เมื่อไม่ทันก็กลายเป็นปลายเปิด ไม่มีธง ไม่มีเป้าหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะต้องไปกำหนดวันทำประชามติเอาเอง

นายนิกร กล่าวต่อว่า เมื่อไม่ทันแล้วในทางการเมืองก็เหมือนเรื่องปล่อยจอย ปล่อยเลยตามเลย เพราะไม่มีธง ไม่มีเป้าหมาย ก็จะเกิดเหตุการณ์ว่าทางสภาผู้แทนราษฎร อาจจะรอให้ครบ 6 เดือน และที่จะเจรจาต่อรองกันก็ไม่มีเหตุต้องเจรจา เพราะไม่ต้องรีบแล้ว หมายถึงว่าทางสภาผู้แทนราษฎรอาจจะยืนตามร่างของตัวเอง หากเป็นอย่างนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าผ่าน แล้วให้ครม. กำหนดวันทำประชามติเอง จะทำให้ต้องจ่ายงบประมาณการจัดทำประชามติเต็ม 3 พันกว่าล้านบาท และคนออกมาใช้สิทธิ์เท่าไหร่ก็ได้อย่างไรประชามติก็ผ่านอยู่แล้ว แต่หากเป็นแบบนี้และถ้าไปถึงตรงนั้นก็แสดงว่ามีปัญหากับวุฒิสภา คล้ายๆกับมีการหักกัน ซึ่งจะทำให้คุยกันยากหากการทำประชามติผ่านแล้วทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะต้องกลับมาแก้มาตรา 256 อยู่ดี ซึ่งต้องใช้เสียงสว.สนับสนุน บางทีความขัดแย้งตรงนี้เท่ากับทั้งสองสภาหักกัน ซึ่งจะทำให้ยากมากที่จะได้เสียงสว. 1 ใน 3 หากไม่ได้ตรงนี้ก็จะทำให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย แม้แต่มาตราเดียวก็แก้ไม่ได้

“ดังนั้นจึงเห็นว่าในขณะนี้ถ้ามีการจูนกันอย่างเร่งด่วนเพราะถือว่าเรากลับไม่ได้แล้วสัปดาห์หน้าวุฒิสภาก็ไม่มีประชุมอยู่แล้ว และหากวันที่ 21 ต.ค. ที่ประชุมวุฒิสภาเคาะชื่อ กมธ.ร่วมฯ แล้วส่งมาที่สภาผู้แทนฯในวันเดียวกัน ก็สามารถนัดประชุมได้ในวันที่ 22 ต.ค. ในส่วนที่ 23 ต.ค. แม้จะเป็นวันหยุด กมธ.ฯก็สามารถประชุมได้ วันที่ 24 ต.ค. ก็พิจารณาเสร็จ เพราะมีมาตราเดียวถ้าตกลงกันได้ก็จบ”นายนิกร กล่าว

เมื่อถามว่ามองว่าทางวุฒิสภาจะยื้อหรือไม่เพราะทางพรรคภูมิใจไทยก็ดูจะไปทางวุฒิสภา นายนิกร กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีใครยื้อเพราะไม่รู้จะยื้อไปทำไม ทำให้เสียหายกันทุกฝ่าย ไปขึงจนตึงอาจทำให้มีปัญหาระหว่าง 2 สภาได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของการไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องอื่น และไม่เป็นผลดีต่อระบบนิติบัญญัติของประเทศ

ต่อข้อถามว่ามองว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า เขาจะใช้ตรงนั้นเป็นเครื่องมือเขาถือว่ากมธ.ร่วมฯ เป็นทูตสันถวไมตรี คือเป็นทูตของทุกฝ่ายแล้วที่จะคุยกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไปคุยกันที่ไหน ก็จะกลายเป็นว่าพรรคการเมืองไปแทรกแซง โดยเฉพาะวุฒิสภา แต่ในข้อเท็จจริงอาจจะรู้จักกันอยู่แต่ทุกอย่างจะต้องจบที่กมธ.ร่วมฯ จบตรงอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเวลาจะเหลือน้อยตนก็ยังมีความหวังอยู่ เพราะผลเสียรออยู่ข้างหน้าเยอะมาก ไม่ใช่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของทั้ง 2 สภา และจะมีปัญหาตามมาอีกมา

“หากทำอย่างไรกฎหมายประชามติก็ออกมาไม่ทันก็นำไปสู่การที่สภาผู้แทนราษฎรจะยืนตามที่เคยเสนอไว้ได้แต่ก็จะเป็นปัญหาข้างหน้าอีกเพราะกลายเป็นว่าเราไม่คุยกันเลยเท่าเรามองข้ามวุฒิสภาไปเลยก็ทำให้มีปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเรามองไกลๆก็น่าจะคุยกันได้ คงจะต้องถอยกันทั้งสองฝ่าย และในวุฒิสภาเขาไม่น่ากลัวอะไร เขายังมีดาบ 1 ใน 3 อีกเล่มหนึ่ง ดังนั้นผมจะเสนอทางออกสายกลางต่อ กมธ.ร่วมฯ เพื่อให้การพิจารณาเสร็จก่อนวันที่ 30 ต.ค. เป็น 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใช้เป็นเสียงข้างมาก โดยจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ หรือประมาณกว่า 18 ล้านคน ก็น่าจะมีน้ำหนักที่เป็นเสียงเกณฑ์ขั้นต่ำตามสมควร”นายนิกร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดชื่อ 18 กมธ.วิสามัญ แก้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา 'สว.พันธุ์ใหม่' ได้ 1 ที่

จากที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 415 เสียง ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... จากนั้นตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 18 คน โดยแบ่งเป็นสส.13 คน สว. 5 คน 

รัฐสภารับหลักการแก้ข้อบังคับฯ เปิดทางคนนอกร่วมแก้รธน. 'หมออ๋อง' คัมแบ็ค

ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

รัฐสภา ถกแก้ข้อบังคับ 'สว.-รทสช.' รุมค้านเปิดทาง 'คนนอก' ร่วมวงกมธ.แก้รธน.

ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บั

'วิสุทธิ์' วอน สว. 80-90 เสียง หนุนร่างแก้รธน. ตัดอำนาจวุฒิสภาให้ประเทศเป็นปชต.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น

'สว.พิสิษฐ์' เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน. หั่นเสียงวุฒิสภา ขัดปชต.-การถ่วงดุล

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

'วราวุธ' ย้ำแก้รธน. ไม่แตะหมวด 1,2 ตั้ง ส.ส.ร. ต้องสะท้อนถึงสังคมปัจจุบัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคยังยืนยันจุดเดิมคือ การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. โดยเฉพาะหมวด 1 หมวด 2 ที่