“พริษฐ์” แถลงจุดยืน ปชน. ร่างรธน.ฉบับใหม่ เดินคู่แก้ไขรายมาตรา ชง 7 แพ็กเกจ ชูปฏิรูปกองทัพ-สิทธิปชช.-ปราบทุจริต ชี้ ทำพร้อมแก้ปัญหาศก.ได้ จี้ รบ. แจงโรดแมพประชามติให้ชัด ลั่น ปชช.ลงโทษได้ หากไม่ทำตามสัญญา เผย พักปมจริยธรรมไว้ รอข้อสรุปจากพรรคร่วมฯก่อน
26 ก.ย.2567 - เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่ขนานกับยื่นร่างแก้ไขเป็นรายมาตราว่า พรรค ปชน.ยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2 เส้นทางแบบคู่ขนาน นั่นคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับอีกเส้นทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อน ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาโดยตลอด โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่
แพ็กเกจที่ 1 “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ซึ่งได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1.1 ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับ คสช. ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นโดยมีคณะรัฐประหารเข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง ขาดความยืดหยุ่นเพราะใช้วิธีบรรจุกลไกเรื่องยุทธศาสตร์เข้าไปในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ อีกทั้งยังเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกัน เพราะเปิดช่องให้มีการลงโทษหน่วยงานรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยแนวทางการแก้ไขในส่วนนี้ คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นไปตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
1.2 ทลายเกราะคุ้มกันประกาศและคำสั่ง คสช. ด้วยการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของ คสช. และหัวหน้า คสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1.3 ป้องกันการรัฐประหารด้วยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร เช่น คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน เพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร และเพิ่มราคาสำหรับผู้ก่อการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องผู้ก่อการรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ ทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่ในอนาคต
แพ็กเกจที่ 2 “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ประกอบด้วย
2.1) ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เพราะถึงแม้จริยธรรมจะเป็นเรื่องนามธรรมที่แต่ละบุคคลตีความไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดในการนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม และมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
ในเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมีกระบวนการได้มาซึ่งยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง การผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำว่าสังคมมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่วันนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรไม่กล้าแต่งตั้งเพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากลับแต่งตั้งได้โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใดๆ
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขประเด็นนี้ พรรคประชาชนจึงเสนอให้แยกกลไกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมออกมาจากกลไกตรวจสอบเรื่องการทุจริตซึ่งมีนิยามและความรับผิดรับชอบทางกฎหมายอย่างชัดเจน ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร และกำหนดให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีจริยธรรม
2.2 ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องการจัดตั้ง การเติบโต และการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้พรรคการเมืองพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความยึดโยงกับประชาชน
พรรคประชาชนจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.ป. พรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมืองเกิดง่ายจากการรวมตัวกันของประชาชนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน (เช่น ลดเงื่อนไขเรื่องทุนประเดิมและธุรการเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ อำนวยความสะดวกประชาชนในการสมัครสมาชิก) ทำให้พรรคการเมืองดำรงอยู่ได้ทางการเงินจากการสนับสนุนของประชาชนในวงกว้าง เช่น ปลดล็อกให้ระดมทุนจากประชาชนและผู้บริจาครายย่อยได้ง่ายขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่าย และทำให้พรรคการเมืองตายยากโดยการทบทวนฐานความผิดและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน (เช่น ปรับโทษการยุบพรรคเป็นการลงโทษกรรมการบริหารรายคณะหรือรายบุคคลที่กระทำผิด)
แพ็กเกจที่ 3 “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” ประกอบด้วย
3.1 ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 236 ระบุว่า หากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนต่อประธานรัฐสภาว่า ป.ป.ช. ใช้อำนาจโดยมิชอบ ประธานรัฐสภามีสิทธิในการใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองก่อนว่าควรดำเนินการให้มีการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลและ ป.ป.ช. สมคบคิดกันเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ประธานรัฐสภา ซึ่งมักเป็น สส. จากฝั่งรัฐบาล ก็สามารถใช้อำนาจปัดตกทุกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ได้
พรรคประชาชนจึงเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกลไกการเข้าชื่อร้องเรียนกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยการตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นแค่ทางผ่านในการส่งทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
3.2 เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ประชาชนจะมีอำนาจในการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่หลายครั้งการดำเนินการของ ป.ป.ช. มักใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น พรรคประชาชนจึงเสนอเพิ่มอำนาจให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน 180 วัน
3.3 ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส (Open Data) เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้อย่างโปร่งใสเท่าที่ควร พรรคประชาชนจึงเสนอให้ปรับมาใช้หลักการว่าข้อมูลรัฐต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด รัฐต้องให้เหตุผลที่สมควรเท่านั้น เช่น เป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องเป็นความลับหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลรัฐในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น เป็นไฟล์ที่อ่านได้ด้วยคอมพิวเตอร์ (Machine Readable)
3.4 เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต (Whistleblower Protection) เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนหลายคนที่รับรู้เรื่องการทุจริตอาจจะยังไม่กล้าแจ้งเบาะแสหรือเปิดโปงการทุจริต เพราะกังวลต่อความปลอดภัยหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเอง พรรคประชาชนจึงเสนอให้เพิ่มสิทธิของประชาชนในการได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ในกรณีที่เปิดเผยหรือชี้แจงเบาะแสการทุจริตของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐ
แพ็กเกจที่ 4 “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน” ประกอบด้วย
4.1 สิทธิการศึกษา พรรคประชาชนเสนอให้ขยายสิทธิเรียนฟรีที่ถูกรับประกันในรัฐธรรมนูญจาก 12 ปี เป็นอย่างน้อย 15 ปี โดยครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
4.2 สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม พรรคประชาชนเสนอให้มีการยกระดับสิทธิของประชาชนในการดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับสิทธิของประชาชนในแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และกำหนดให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาให้ความเห็นต่อโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
4.3 สิทธิความเสมอภาคทางเพศ พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญรับประกันความเสมอภาคทางเพศภายใต้ความหลากหลายทางเพศ โดยปรับข้อความจาก “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มาเป็น “บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใด มีสิทธิเท่าเทียมกัน”
4.4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญยกระดับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับสิทธิการประกันตัว หากไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าจะหลบหนี และยกระดับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงทนายความที่รัฐจัดหาให้
4.5 เสรีภาพในการแสดงออก พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญยกระดับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน คุ้มครองการติชมด้วยความเป็นธรรมในทุกกรณี รวมถึงยกระดับเสรีภาพทางวิชาการ
4.6 เงื่อนไขการจำกัดสิทธิ พรรคประชาชนเสนอให้ปรับเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยรับประกันให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และตัดเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ความสงบเรียบร้อย” ที่อาจถูกตีความเกินขอบเขต
แพ็กเกจที่ 5 “ปฏิรูปกองทัพ” ประกอบด้วย
5.1 ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และให้การบังคับเกณฑ์ทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีภัยสงครามเท่านั้น
5.2 จำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร โดยกำหนดให้อำนาจศาลทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีการประกาศสงคราม
แพ็กเกจที่ 6 “ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา” ประกอบด้วย
6.1 ยกระดับกลไกกรรมาธิการ โดยปลดล็อกอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลภายนอกมาชี้แจง เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่กำลังพิจารณาศึกษา
6.2 ปรับนิยามฝ่ายค้าน โดยปลดล็อกความเป็นไปได้ที่ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
6.3 เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างการเงิน โดยปลดล็อกให้ สส. เสนอร่างกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยไม่ต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี หากรัฐบาลไม่เห็นด้วย สส. ฝ่ายรัฐบาลสามารถลงมติไม่เห็นชอบกับร่างดังกล่าวในสภาฯ ได้
และแพ็กเกจที่ 7 “ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วย
7.1 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ รวมถึงกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาชนนำเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบ และได้มีการเตรียมการไว้เป็น 7 ชุดประเด็นดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ พรรคประชาชนเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา หรือมาตรฐานทางจริยธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง ดังนั้น ในฐานะนักการเมือง พรรคประชาชนยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกประเด็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรค ปชน.ยืนยันว่า การแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้เพื่อตัวเองหรือเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้มาตรฐานจริยธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กระทบต่อทั้งเสถียรภาพและความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของระบบการเมือง และส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้ ดังนั้น พรรค ปชน.ยังมีความจำเป็นต้องอธิบายและยืนยันต่อสังคมว่าทำไมจึงควรจะยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่นๆ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรค ปชน.ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ยิ่งในวันนี้ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเสี่ยงจะเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคการเมืองยิ่งควรจะเห็นความจำเป็นในการร่วมมือกันเดินหน้าแก้ไขรายมาตราที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายพริษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างแก้ไขเหล่านี้จะถูกมองว่าสุดโต่งหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าแพ็คเกจเหล่านี้ ไม่มีเรื่องใดสุดโต่ง และเรื่องมาตราฐานจริยธรรม เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรนมนูญฉบับนี้
เมื่อถามว่า มองว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล มีความล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแมพให้ชัด ว่าการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร โดยตนพยายามคำนวนจากสิ่งที่ได้รับฟังจากรัฐบาลให้ใกล้เคียงที่สุด มองว่าถึงแม้หากทําตามกรอบเวลาอย่างรวดเร็วที่สุด ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทันการเลือกตั้งในปี 70 และหากมีตัวแปรอย่างอื่นเข้ามา เช่น การหาข้อสรุปของประชามติไม่ได้ จนไม่สามารถทำประชามติได้ทันตามที่วางแผนไว้ ก็ต้องเลื่อนกรอบเวลาออกไปอีก เพราะฉะนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมาคุยถึงการเดินคู่ขนาน คือการแก้ไขรายมาตรา และยืนยันว่าปัญหากาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะการมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ไม่ได้ทำให้เราไปแก้ไขปัญหาอย่างอื่นไม่ได้
เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลอย่างไร เพราะรัฐบาลเคยบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องให้ประชาชน ตัดสินผ่านคูหาเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายอะไรไว้ ก็ถือเป็นสัญาประชาคมกับประชาชน หากรัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญา ประชาชนก็สามารถลงโทษผ่านการเลือกตั้งได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปิยบุตร' ปักธงอุดรธานีเมืองสีส้ม ปชน. ขนแกนนำหาเสียงบุกฐานที่มั่นเพื่อไทย
แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน หาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ซึ่งพรรคประชาชนได้ส่ง นายคณิศร ขุริรัง หมายเลข 1 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อุดรธานีในการเลือกตั้งครั้งนี้
รองเลขาฯเพื่อไทย ฟาดกลับ 'ไอซ์ รักชนก' แซะแจกเงินหมื่นช่วงเลือกตั้งนายก อบจ.
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ใจเย็นๆ นิดนะคะ รัฐบาลตั้งใจส่งเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงมือกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุด
'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ
กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน
'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน
'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย
เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง