'ชูศักดิ์' ยันรัฐบาลแพทองธาร พร้อมแก้รธน.บางมาตราที่เร่งด่วนควบคู่จัดทำฉบับใหม่

'ชูศักดิ์' ยัน 'รัฐบาลแพทองธาร' พร้อมเดินหน้า 'แก้ไข รธน.' บางมาตราที่เร่งด่วน ควบคู่จัดทำฉบับใหม่ ป้องปัญหาตีความเกินเลย ชี้ หากกฎหมายประชามติประกาศใช้เมื่อไหร่ ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งฉบับ ปชช. ขณะที่ 'ณัฐพงษ์' ขอบคุณ ที่ให้การยืนยัน ขอ ทุกพรรคการเมือง ร่วมยื่นร่าง มอง คำแถลงนโยบาย ควรระบุ เวลา-งบประมาณ ที่ชัดเจน

12 ก.ย.2567 - เมื่อเวลา 18.13 น. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปรียบเทียบการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับรัฐบาลนี้ และรัฐบาลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บอกว่า นโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีรายละเอียดดี กำหนดจำนวนเงิน กำหนดวันเวลา สถานที่ ว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่

โดยตนได้มีส่วนร่วมในแง่ของการจัดทำนโยบายในขณะนั้น ซึ่งเป็นการจัดทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญปี 50 มีในบทบัญญัติมาตรา 75 มาตรา 76 ที่กำหนดไว้โดยชัดเจนว่า รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า จะทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ด้วยเหตุนี้ในขณะนั้น เวลาจะทำนโยบายจึงมีความชัดเจน

แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ก็ไม่มีความชัดเจนแบบนั้น เนื่องจากมีการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว มีเพียงว่าต่อไปนี้ถ้าจะทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญปี 60 ต้องแถลงแหล่งที่มาของเงินรายได้ว่าเอามาจากไหน และเอากรอบยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดไว้ โดยกรอบยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากรัฐธรรมนูญ 60

นายชูศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่สมาชิกถามว่า ทำไมไม่จัดเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น เรื่องนี้ต้องย้อนไปในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการวิจารณ์ว่า นโยบายยืดเยื้อไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร จะทำอะไร เพราะนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา เขียนว่าจะแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ

แต่เมื่อมาถึงนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เขียนไว้สั้นๆ ว่าเร่งรัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชน และหลักการประชาธิปไตย ก็จริงอยู่ว่าไม่ได้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ก็มีคำว่าเร่งรัด และโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูนโยบายของ 2 รัฐบาลนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายของนายเศรษฐาขณะนั้น เกิดความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจว่า ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญจะสร้างใหม่ขึ้นมาได้โดยวิธีการใด เนื่องจากเรามีปัญหาสำคัญ คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่วินิจฉัยว่า ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นจากการทำประชามติของประชาชน ซึ่งรัฐบาลนายเศรษฐาเห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า ท้ายที่สุดจะมีการจัดทำอย่างไร จึงมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการทำประชามติว่า จะทำกี่ครั้ง จนมีการศึกษาและได้ข้อสรุป

ด้วยเหตุนี้ นโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร จึงเขียนไว้สั้นๆ เพราะรู้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปอย่างไร ซึ่งตนก็คิดว่าเราคงจะเดินตามนี้ แต่จะเดินตามนี้ได้ ก็เป็นเรื่องของรัฐสภาแห่งนี้ ที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และช่วยกันผลักดัน

นายชูศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราต้องการแก้ไขให้มีฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยนั้น พวกเรารับทราบดีว่า ที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาอย่างไร เป็นปัญหาอะไร เขาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง ตนไปดูแล้วปราบโกงในที่นี้ มีบทบัญญัติมากมายหลายมาตราที่เป็นปัญหา สามารถตีความได้เกินเลยไปจากความปกติธรรมดาที่ควรจะเป็น

นายชูศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า การตีความมาตรา 160 (4) (5) ที่เป็นปัญหาอยู่ คำว่า 'ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์' คำถามคือวิญญูชนจะเข้าใจได้อย่างไร ว่าอะไรประจักษ์ อะไรไม่ประจักษ์ ถ้าเป็นที่ประจักษ์หมายความว่า ไม่เคยทำอะไรผิดเลยใช่หรือไม่ เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องเลยตั้งแต่ต้นจนมาถึงปัจจุบัน อะไรคือพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เราก็ทราบกันดีว่าพฤติกรรมตรงนี้ นับตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ได้กำหนด เช่น ตั้งแต่เด็กแรกเกิด หรือตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ก็นับแล้วว่ามีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม เพราะไปเตะบอลแล้วโกงเขาอย่างนี้เป็นต้น ไม่มีข้อจำกัด

นายชูศักดิ์ กล่าวถึงการคุยกับฝ่ายค้าน ซึ่งเขาถามว่าระหว่างที่เรารอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราบางประเด็นที่คิดว่ามีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ให้เกิดปัญหาการตีความล้นเกิน ซึ่งเมื่อพวกตนมานั่งดูแล้วก็เห็นด้วยว่า เราควรจะทำ แต่จะทำด้วยวิธีการนี้ ก็คิดว่าดีที่สุด คือให้พรรคการเมืองทั้งหลายในขณะนี้ ช่วยกันทำในนามของพรรคการเมือง ตนทราบว่าพรรคประชาชนก็เสนอร่างมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้บรรจุวาระ

ขณะเดียวกัน พวกตนก็ยกร่างมาพอสมควร ซึ่งกำลังคิดอยู่ว่า ประเด็นที่ควรจะแก้มีอะไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่าง การที่พวกเราจะวินิจฉัยให้คนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่ง การที่จะวินิจฉัยให้คนใดคนหนึ่งสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สส.หรือสว. กระทั่งรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ใช้เสียงข้างมากเท่านั้นจะยุติธรรมหรือไม่

เช่น 1 เสียง ก็สามารถเอานายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งตนคิดว่าในอดีตเคยมีเสียงเอกฉันท์ หรืออย่างน้อยเสียง 2 ใน 3 หรือ 4 ใน 5 ก็กำลังคิดกันอยู่ และมีแนวความคิดเห็นด้วยว่า เราอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็น บางมาตราไปพร้อมๆ กันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็จะทำให้บ้านเมืองเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

นายชูศักดิ์ ย้ำว่า เรามีเจตนาแน่วแน่ว่า จะเร่งรัดรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พวกเราทราบดีว่า ต้องแก้กฎหมายประชามติ ซึ่งกฎหมายประชามติได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วไปอยู่ที่วุฒิสภา และกลังจากวุฒิสภาเสร็จ ก็คงจะต้องประกาศใช้ หลังจากมีกฎหมายประชามติแล้ว เราควรจะเริ่มต้นถามประชาชนได้ว่า จะสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมฉบับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลยินดี เร่งรัด จัดทำ และมีความชัดเจนว่า จะมุ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากนั้น เวลา 18.36 น. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ขอใช้สิทธิ์พาดพิง พร้อมขอบคุณ ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตนเชื่อว่าเป็นบรรยากาศที่ดีของสภาที่มีการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าการสื่อสารทางเดียว และขอขอบคุณที่ช่วยยืนยันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะไม่นำเรื่องการแก้ไขทั้งฉบับมาเป็นเงื่อนไขในการไม่ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา ซึ่งทั้งสองเส้นทางนี้ เราสามารถดำเนินการคู่ขนานกันได้ และตนก็เชื่อว่า ตัวท่านเองคงทราบเงื่อนเวลาว่าเราจะมีวาระการประชุมร่วมกันในเรื่องนี้ ประมาณช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.

ดังนั้น จึงอยากให้ตัวแทนของทุกพรรคการเมืองช่วยกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเดินหน้าต่อในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้เป็นไปตามหลักสากล

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการแถลงนโยบาย ซึ่งควรจะมีการระบุเรื่องเงื่อนเวลาและงบประมาณหรือไม่ ว่า แม้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 50 และปี 60 แตกต่างกัน แต่ถ้ามองในแง่ของประชาชน สิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อนักการเมืองทุกคน คือความชัดเจน ในการทำการเมือง บางครั้งการเปิดตัวเลือกไว้กว้างๆ ไม่ผูกมัดตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเรา แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนที่คาดหวังต่อนักการเมือง คือความชัดเจน

นายณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างว่า ก่อนการเลือกตั้ง สิ่งทึ่ประชาชนคาดหวังว่า จุดยืนทางการเมือง การจับขั้วทางการเมือง การนำเสนอนโยบายเป็นอย่างไร เพื่อให้เขากาลงคะแนนเสียงในคูหาได้อย่างถูกต้อง หลังการเลือกตั้ง สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง คือความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย สิ่งที่คุณได้หาเสียงไว้ คุณจะทำได้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งตนเชื่อว่าถึงแม้รัฐธรรมนูญ 60 จะไม่ได้ตีกรอบตามกฎหมายบังคับให้ต้องทำ แต่จะดีกว่านี้ ถ้านโยบายเร่งด่วน มีการระบุกรอบเวลา งบประมาณที่ชัดเจน เพราะผลประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สว.พิสิษฐ์' เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน. หั่นเสียงวุฒิสภา ขัดปชต.-การถ่วงดุล

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

'วราวุธ' ย้ำแก้รธน. ไม่แตะหมวด 1,2 ตั้ง ส.ส.ร. ต้องสะท้อนถึงสังคมปัจจุบัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคยังยืนยันจุดเดิมคือ การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. โดยเฉพาะหมวด 1 หมวด 2 ที่

'ธนกร' เห็นด้วยเลื่อนถกแก้รธน. ออกไป 1 เดือน แนะแก้ปัญหาประชาชนเป็นอันดับแรก

นายธนกร วังบุญคงชนะ  รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า จากการประชุมของคณะกรรมการประสานงาน (วิป 3 ฝ่าย) มีมติให้เลื่อนการพิจารณา การประชุมร่วมรัฐสภา

'เพื่อไทย' ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประกบฉบับ 'พรรคประชาชน' 8 ม.ค.นี้

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 8 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต่อรัฐสภา จะเสนอประกบไปกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'อนุทิน' ย้ำจุดยืนตลอดกาล! แก้รธน. ไม่แตะหมวด 1-2 ท่าทีส.ส.ภูมิใจไทย ไม่เกี่ยวสว.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสัญญาณกา