'ดุสิตโพล' ชี้คนเชื่อมั่นพรรคประชาชนอันดับ 1 แต่ล้มบ้านใหญ่ยาก

เลือกตั้งท้องถิ่น

8 ก.ย. 2567 – สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเฉพาะผู้ที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่อง “การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ” ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,149 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ร้อยละ 57.88 โดยอยากให้ผู้สมัครนำเสนอนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในชุมชน ร้อยละ 72.58 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร คือ นโยบายของผู้สมัคร ร้อยละ 67.42 ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยหากมองว่าผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งระดับชาติ ร้อยละ 52.13

สุดท้ายในการทำงานท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นในพรรคประชาชนมากที่สุด ร้อยละ 30.73 รองลงมาคือ เพื่อไทย ร้อยละ 22.38 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเมื่อวันที่ 9 – 12 กรกฎาคม 2567 พบว่า คะแนนของพรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม) ลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 32.53 เหลือร้อยละ 30.73 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.79 เป็นร้อยละ 22.38

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมองการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งระดับชาติมีทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกัน โดยอาจมีความเชื่อมโยงกันทางการเมืองและการสนับสนุนของพรรคและบทบาทของบ้านใหญ่ก็มีผลต่อการเลือกตั้ง ด้านพรรคประชาชนนอกจากมีกระแสในการเลือกตั้งระดับชาติแล้ว ก็ยังมีกระแสในการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นกัน แต่หากพรรคไม่สามารถล้มบ้านใหญ่ได้ก็อาจจะยากในสนามแข่งขัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัย สวนดุสิต อธิบายว่า การปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นการปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากที่สุด ดังนั้นในการเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนจึงมักจะเลือกโดยตัดสินใจจากความสัมพันธ์ระดับปัจเจกเป็นอันดับแรก ไม่ใช่กระแสของพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะการเลือกในระดับสมาชิก ผู้สมัครที่ได้รับเลือกต้องเป็นคนประเภทเรียกง่าย ใช้คล่อง เป็นพี่น้องพวกพ้องที่รู้จักกัน ส่วนการเลือกตั้งผู้นำองค์กรในตำแหน่งนายก มักพิจารณาจากบารมีส่วนบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าสามารถพึ่งพาอาศัยได้ในทุกสถานการณ์แบบใจถึง พึ่งได้ ยิ่งสถานการณ์ที่ระบบราชการมีอำนาจเข้มแข็ง แต่อำนาจของประชาชนในการต่อรองหรือแสดงความคิดเห็นมีน้อย ยิ่งทำให้ระบบบ้านใหญ่เติบโตเพราะประชาชนมักต่อรองผ่านอำนาจบารมีของบ้านใหญ่ในพื้นที่เป็นหลัก การทำงานผ่านกระแสพรรคหรือกระแสของการเมืองระดับชาติจึงไม่สามารถฝ่าด่านบ้านใหญ่ได้โดยง่าย แต่ต้องอาศัยการทำงานเชิงความคิดร่วมกับเครือข่ายหรือคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจึงเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สกลธี’ สอนมวยเลือกตั้งทั่วไปได้เยอะ ไม่ได้แปลว่าท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จ

เห็นบางคนหาเสียงแล้วยังเพลียเลยครับ เพราะยังไม่รู้ว่าอำนาจหน้าที่ท้องถิ่นกับระดับชาติต่างกันยังไง หาเสียงมั่วซั่วไปหมด

สรุปผลเลือกตั้ง นายกอบจ.ราชบุรี กำนันตุ้ย 242,297 คะแนน ชนะเด็กส้ม 175,353 คะแนน

ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี (กรณีผู้บริหารพ้นจากตำแหน่ง) วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2567

เปิดลึกเบื้องหลัง ‘พรรคส้ม’ แพ้ยับศึกเลือกตั้ง นายกอบจ.ราชบุรี

สำหรับผลการเลือกตั้ง นายกฯอบจ.ราชบุรี ที่ผลอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่านายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายกอบจ.ราขบุรี สมัยที่ผ่านมา ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

ดัชนีการเมืองไทย ส.ค. พบชื่อ 'แพทองธาร - เท้ง ณัฐพงษ์' โดดเด่นขึ้น

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,249 คน

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.