สว.พันธุ์ใหม่ เสนอตั้งคำถามประชามติให้ชัด เห็นด้วยแก้รธน. หมวด 1,2 หรือไม่

ฉลุย! วุฒิสภารับหลักการร่างแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ "สว.พันธุ์ใหม่" เสนอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ไม่แตะหมวด 1,2 ชี้เป็นคำถามเชิงซ้อนเข้าใจยาก ควรทำคำถามแยกออกมา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหมวดใดๆ

27 ส.ค.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ในการอภิปรายของสว. พบว่ามีความเห็นไปในทางสนับสนุนการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่มีรายละเอียดที่ยังเห็นแย้ง โดยเฉพาะเกณฑ์การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก ที่สภาฯ แก้ไขให้ใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้น

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขเนื้อหาของมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่ตัดเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งชั้นที่ 2 ว่าด้วยเกณฑ์ให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ เพราะหากมีการออกเสียงประชามติ มีคนใช้สิทธิ 10 ล้านคนจากประชาชนที่มี 52 ล้านคน และเห็นชอบแค่ 5 ล้านหนึ่งเสียง เท่ากับผ่านประชามติ แต่เมื่อคิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์พบว่าเป็น 10% เท่านั้น

“การปลดล็อคเสียงสองตนไม่เห็นด้วย ควรใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีใช้สิทธิจะอีกว่า เพื่อใหัความเป็นธรรมกับคนไทยทุกคน ส่วนที่ใครจะมองว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า ผมมองว่าใช่แต่จะรีบร้อนอะไร เพราะกรณีนี้ควรแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก” นายพิสิษฐ์ กล่าว

ด้านพล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนนายพิสิษฐ์ ทั้งนี้เรื่องประชามติสำคัญระดับประเทศควรคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยให้คงเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

ขณะที่นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากแบบธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ช่วงต้นถกเถียงจะใช้เสียงข้างมากสองชั้น แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เสียงข้างมากธรรมดาเพราะเกรงว่าไม่ผ่าน ซึ่งการทำประชามติเราผ่านมาแล้ว จะชักบันไดหนีหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่จะใช้เสียงข้างมากธรรมดา สำหรับการกำหนดเสียงข้างมากแบบสองชั้นในต่างประเทศพบปัญหา เพราะจะทำให้หมดแรงจูงใจออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีข้อเสนอแนะของสว. ต่อการตั้งคำถามประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย โดยนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. กลุ่มสื่อมวลชน อภิปรายสนับสนุนพร้อมระบุว่าการตั้งคำถามประชามติ ไม่ควรเป็นคำถามเชิงซ้อน อย่างที่มีข้อเสนอให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นคำถามเชิงซ้อน ดังนั้นขอให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯทบทวนมติ แก้ไขคำถามประชามติเชิงเดี่ยว และหากอยากรู้ความคิดเห็นประชาชนขอให้ทำคำถามแยก

ขณะที่น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. แกนนำกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ อภิปรายเสนอแนะให้แก้ไขคำถามที่มีลักษณะซ้อนคำถามไม่สามารถตอบได้ด้วยคำตอบเดียว เช่น หากตนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเว้นการแก้ไขหมวดใด จะเลือกคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ดังนั้นควรตั้งคำถามที่ไม่ยากต่อความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่สว.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ได้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

ทั้งนี้ในการพิจารณาวาระสองนั้น พบว่ามีการเสนอญัตติให้ใช้การตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาฯ โดยนายเทวฤทธิ์ เสนอเพราะมองว่าหากพิจารณาไม่เสร็จทันสมัยประชุมที่จะหมดลงเดือนต.ค. อาจทำให้การทำประชามติครั้งแรกไม่ทันเดือนก.พ.2568 ขณะที่สว.เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 25 คนพิจารณา ในกรอบเวลา 60 วัน ทำให้มีการโหวตเพื่อชี้ขาด โดยมติข้างมาก 146 เสียงให้ตั้งกมธ. พิจารณาในกรอบเวลา 60 วัน ไม่เห็นด้วย 34 เสียง และ งดออกเสียง 6 เสียง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สว.พันธุ์ใหม่' รอดูโฉมหน้า 'ครม.อิ๊งค์' ยันไล่เช็กบิลแน่

'นันทนา' สวน 'ทักษิณ' อ้างเพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง เหตุ 'อิ๊งค์' ลาคลอด ให้ถามประชาชนดีกว่า เชื่อสาธารณชนรับรู้ ใครคือ 'นายกฯ ตัวจริง' สว.รอดูโฉมหน้า ครม.ใหม่ ยันไล่เช็กบิลแน่

สว.นันทนา ออกโรงเตือนองค์กรอิสระอย่าใช้อำนาจเหนือประชาชน

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่คำแถลงต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า เราทุกคนต้องช่วยกันมองความเป็นไปในบ้านเมืองอย่างมีสติและวุฒิภาวะ

'พันธุ์ใหม่' โวย! เจอกำแพงสีน้ำเงิน กินรวบตั้ง 15 กมธ.ตรวจสอบองค์กรอิสระ เต็มแผง ไม่แบ่งใคร

ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา นักโต้วาทีอันดับต้นๆของประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประชุมสว.วันแรก ก็เจอกำ

'สว.พันธุ์ใหม่' แจงวอล์คเอาท์ ไม่ร่วมสังฆกรรมพวกเสียงข้างมากลากไป

แกนนำสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่และกลุ่มอิสระ ร่วมกันแถลงภายหลังวอล์กเอาท์จากห้องประชุมวุฒิสภา ระหว่างที่มีการลงคะแนนคัดเลืกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.)

วุฒิสภาระอุ! 'สว.พันธุ์ใหม่-สีขาว' เปิดศึกสายสีน้ำเงิน แย่งเก้าอี้ กมธ.สอบประวัติอัยการสูงสุด

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ