เคลียร์ชัด 'เอกนัฏ' แจงแล้ว กรณีให้ปากคำคดี 112 ทักษิณ

27 ส.ค.2567 – เมื่อวันที่ 26 สค.รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า คุณวัชระ เพชรทอง ออกมาให้ข่าวว่า คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มีชื่อเป็นพยานให้คุณทักษิณ ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว จากนั้นสำนักข่าวต่างๆ ต่างก็รายงานข่าวกันอย่างกว้างขวาง

ฟังรายงานข่าวแล้วค่อนข้างสับสน บางสำนักรายงานว่า การไปเป็นพยานแต่ละฝ่ายคือโจทก์และจำเลยจะต้องระบุรายชื่อพยานทางฝ่ายตัวเองยื่นต่อศาล แสดงว่าคุณทักษิณเสนอชื่อคุณเอกนัฏเป็นพยานฝ่ายจำเลย จึงมีคำถามว่า เหตุใดคุณทักษิณจึงเลือกคนที่เป็นศัตรูไปเป็นพยาน หรือเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อคุณเอกนัฏเป็นรัฐมนตรี ทำให้คนที่ไม่ได้ตามข่าวอย่างละเอียดเข้าใจไปต่างๆนาๆ

จนกระทั่งคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ออกมาให้ข่าวแทนคุณเอกนัฏว่า ที่คุณเอกนัฏไปเป็นพยานนั้น เป็นการให้ปากคำในชั้นการสอบสวนของตำรวจ ตำรวจมีหมายเรียกให้ไปให้ปากคำ ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ต้นปี จึงไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด

หลังจากนั้นก็มีการตอบโต้คำอธิบายของคุณอรรถวิชช์จากฝ่ายต่างๆว่า ตำรวจจะไม่เรียกตัวไปให้ปากคำเองโดยไม่มีการระบุชื่อจากโจทก์หรือจำเลย ดังนั้นคุณทักษิณจะต้องระบุชื่อให้คุณเอกนัฏเป็นพยานฝ่ายจำเลยอย่างแน่นอน การที่คุณอรรภวิชช์ให้ข่าวเช่นนั้นจึงน่าจะไม่ใช่ความจริง

ในฐานะที่ผมเคยมีประสบการณ์ให้ปากคำกับตำรวจในคดีความผิดตามมาตรา 112 มาครั้งหนึ่ง จึงขอให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงดังนี้

เมื่อมีผู้ไปร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ที่กระทำสิ่งที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน จะทำการรวบรวมพยานหลักฐาน และถามความเห็นจากบุคคลต่างๆ ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นปี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความมั่นใจในพยานหลักฐานแล้วก็จะส่งต่อไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด หากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ก็อาจไม่ส่งไปยังอัยการ และคดีก็จะจบลงในชั้นตำรวจ

  1. ในชั้นการสืบสวนของตำรวจ ยังไม่มีโจทก์หรือจำเลย มีแต่ผู้ถูกกล่าวหา จึงยังไม่มีการเสนอรายชื่อพยานในชั้นนี้ไม่ว่าฝ่ายใด
  2. กรณีคุณทักษิณ เรื่องผ่านการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไปถึงอัยการ และอัยการสูงสุดสั่งฟ้องไปแล้ว เรื่องในขณะนี้อยู่ที่ศาล และมีการนัดตรวจสอบพยานหลักฐานไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการสืบพยานแต่อย่างใด จะมีการสืบพยานครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีหน้า

การที่คุณอรรถวิชช์ให้ข่าวว่าคุณเอกนัฏได้ไปให้การกับตำรวจไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว น่าจะคลาดเคลื่อนเพราะจากที่เป็นข่าว คดีนี้ผ่านจากตำรวจไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดหลายปีแล้ว แต่ที่ยังไม่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นเพราะตัวคุณทักษิณอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมาฟังคำสั่งของอัยการได้ แต่ก็อาจป็นไปได้ว่าตำรวจ ได้เชิญคุณเอกนัฏไปให้ความเห็นในคดีคุณทักษิณหลายปีมาแล้ว ซึ่งคุณเอกนัฏเท่านั้นที่สามารถบอกได้

ผมเองเคยได้รับการติดต่อจากตำรวจซึ่งเป็นรองผู้กำกับจากกองคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อไปให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ถูกร้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่เป็นหมายเรียก และเราสามารถปฏิเสธไม่ไปก็ได้ แต่ผมก็ไป เมื่อไปถึงท่านรองผู้กำกับก็นำโพสต์ของบุคคลหนึ่งใน social media ซึ่งมีคำว่า “เจ้านาย” ว่าอ่านแล้วคิดอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องอ่านข้อความทั้งหมดเสียก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ เพราะคำว่า “เจ้านาย” จะหมายถึงใครย่อมขึ้นอยู่ว่าอยู่ในบริบทไหน ความเห็นเราจึงอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกร้องก็ได้ ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆกับคดีคุณทักษิณที่มีคำว่า “palace circle” ที่จะต้องตีความว่า หมายถึงใครบ้าง

ดังนั้นหากคุณเอกนัฏไปให้ความเห็นต่อตำรวจในลักษณะที่ผมเคยไป ก็แสดงว่าคุณเอกนัฏไม่ได้เป็นพยานให้แก่คุณทักษิณแต่อย่างใด เพียงไปให้ความเห็นต่อตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีคุณทักษิณเท่านั้น

อย่างไรก็ดี คุณเอกนัฏควรต้องออกมาแถลงด้วยตัวเองว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันจนเลอะเทอะ และทำให้เสียชื่อเสียงไปโดยใช่เหตุ

หวังว่าที่ยังเงียบอยู่คงไม่ใช่เป็นเพราะคุณเอกนัฏมีชื่อเป็นพยานให้จำเลยคือคุณทักษิณในชั้นศาลจริงๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเป็นการให้ความเห็นในชั้นตำรวจอย่างที่คุณอรรถวิชช์ให้ข่าว หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

ต่อมานายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้เข้าไปตอบในคอมเมนต์ว่า “ขอบคุณครับอาจารย์ที่ช่วยขยายความ ขออนุญาตเพิ่มเติมครับ ตำรวจออกหมายเรียกโดยอ้างว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ไปสอบเพิ่มเมื่อต้นปีจริงครับ ช่วงเดือนมีนาคม ผมไม่เคยเจรจา ซักซ้อมใดๆครับ ในหมายเรียกไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์ช่วงไหน ระบุแต่ผู้ถูกกล่าวหา ข้อหา แต่ไม่ได้บรรยายพฤติกรรมครับ

ซึ่งไม่นานมานี้ผมเคยถูกเชิญโดยตำรวจไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีอื่น เราก็ไปตามหนังสือ ส่วนว่าจะต้องไปเป็นพยานในชั้นศาลหรือไม่นั้น ถึงวันนี้ ไม่ทราบเลยครับ ทราบแต่ว่าอัยการได้ส่งฟ้องไปแล้วครับ”

จากนั้นได้มีคนเข้าไปตั้งคำถามว่า นายเอกนัฏ ควรชี้แจงตั้งแค่ตอนโดนกล่าวหาแล้วนะครับ ด้านนายเอกนัฏ ตอบกลับว่า “ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องครับ ไปให้การเป็นประจำ ทั้งศาลและเจ้าพนักงาน “

นอกจากนี้ ยังมีการถามนายเอกนัฏ ว่า เรื่องตำรวจออกหมายเรียกหรือจะไปเองก็เรื่องนึง แต่สังคมอยากรู้ว่าคุณเอกนัฎพูดประโยคนี้ “…(การ)บอกว่าคำพูดของทักษิณไม่เข้ามาตรา 112 นั้น” ตามที่วัชระ เพชรทอง กล่าวหา ว่าเป็นความจริงหรือป่าวก็แค่นั้นเอง ด้านนายเอกนัฏ ตอบว่า “ไม่เคยพูดประโยคนี้ครับ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ

จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2

จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย