‘รัฐบาล’ ลั่นงบกลางมีพอรับมือน้ำท่วม เหตุกันไว้หลายพันล้าน มั่นใจไม่เท่าปี54

รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยันงบกลางมีพอรับมือนํ้าท่วม เพราะกันไว้หลายพันล้าน ระบุ นํ้าไม่มากเท่าปี 54 กำชับ ปภ.-ดีอี อำนวยความสะดวกประชาชน หลังไม่ได้รับแจ้งเตือนภัย-สัญญาณเน็ต

26 ส.ค.2567-ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์นํ้าท่วมถึงกรณีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือว่า วันนี้ทางสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ว่าเป็นอย่างไร และจะประเมินว่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จะมีฝนเข้ามาหรือไม่ จะได้ประเมินสถานการณ์ถูก และจะได้เร่งรัดโครงการที่ทาง สนทช.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม และอีก 2 โครงการเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ว่าทั้งหมดดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และจะหารือกันว่า จะมีวิธีการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบขณะนี้อย่างไร ในส่วนงบประมาณ เราจะดูว่ามีงบส่วนไหนที่จะช่วยประชาชนในช่วงนี้

ถามว่า ประชาชนเป็นห่วงงบกลาง ว่าเพียงพอที่จะช่วยเหลือหรือไม่ เพราะสถานการณ์นํ้าค่อนข้างหนัก นายจักรพงษ์ กล่าวว่า เรามีงบกลางเพียงพอ เพราะเราได้กันในส่วนนี้ไว้แล้วเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ เมื่อถามว่า จะมีการช่วยเหลือแบบพิเศษ มากกว่าที่ผู้ประสบภัยต้องได้รับตามปกติหรือไม่ นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ต้องคุยกันก่อน ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน ซึ่งความจริงเรามีเงินอยู่หลายส่วนที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องรอประชุมถึงจะสรุปได้ว่า จะนำเงินส่วนไหนไปใช้ในภารกิจอะไรบ้าง

ซักว่า มีการประเมินหรือไม่ว่า นํ้าจะมากเหมือนตอนปี 54 หรือไม่ และจะมีมาตราการรองรับอย่างไรบ้าง นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้น ปริมาณนํ้าจะไม่เท่ากับตอนปี 54 แน่นอน ซึ่งการประชุมวันนี้ ได้เชิญกรมอุตุนิยมวิทยามาด้วย เพื่อประเมินให้เกิดความแน่นอน ว่าจะมีฝนมาอีกหรือไม่ เพราะเรื่องสภาพภูมิอากาศต้องประเมินเรื่อยๆ เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา ทำให้ปริมาณน้ำมีมากขึ้นหรือน้อยลง

เมื่อถามว่า มีประชาชนร้องเรียนว่าไม่มีการแจ้งเตือนภัย และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ประสบภัย รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ได้หารือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แล้ว เพราะ 2 หน่วยงานนี้มีศูนย์แจ้งเตือนอยู่แล้ว ซึ่งเราจะกำชับไปให้มากขึ้น ให้ระบบสามารถทำงานได้ ส่วนสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทางกระทรวงดีอี คงจะมีการเสริมอุปกรณ์ลงไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ต สามารถมีเครื่องโมบายไปตั้ง เพื่อใช้ในภารกิจเฉพาะได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที

‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44