'ลูกชายบัญญัติ' ค้าน ปชป. ร่วมรัฐบาล ไปเป็นนั่งร้าน ยังไงประชาชนก็ไม่ยอมรับ

20 ส.ค.2567 - นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายนายบัญญัติ บรรทัดฐาน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ผมอยู่บ้านเลี้ยงลูก รับหน้าที่พ่อบ้านเต็มตัวมาหลายปี ด้วยเงื่อนไขด้านสุขภาพอย่างที่หลายๆ ท่านพอทราบกัน อาจจะมีบ้างที่แวะไปช่วยงานพรรคประชาธิปัตย์ เป็นครั้งคราวตามอัธยาศัย

ที่ว่าตามอัธยาศัย เพราะหลังเลือกตั้งปี 62 ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีความเปลี่ยนแปลง จากพรรคที่เคยมั่นอกมั่นใจในแนวทางของตนเอง กล้านำเสนอความคิดอันแหลมคมต่อสังคม คิดอ่านอะไรมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก กลายเป็น ”พรรคกลัวแพ้“ ทำอะไรก็กลัวจะกระทบความรู้สึกฐานเสียงที่ในเวลานั้นเหลืออยู่น้อยลงมากอย่างมีนัย ครั้นพอคิดว่าทำอะไรแล้วดี มีประโยชน์แก่บ้านเมือง ก็ไม่ค่อยๆพูดค่อยๆจา อย่างมีเหตุผล อธิบายสิ่งต่างๆ อย่างเป็นหลักการเหมือนในอดีต แต่กลับรนรานละล่ำละลักตีปี๊บ ป่าวประกาศ เหมือนกลัวคนจะไม่รู้ว่ายังมีตัวตน จนกลายเป็นยัดเยียดเรื่องเล็กๆให้ดูใหญ่ เหมือนเด็กเพิ่งหัดเขียน ก.ไก่ ได้ แต่ดีใจเหมือนสอบได้ที่1 ส่งผลให้คนดูคนฟังมองเป็นตัวตลก

แนวทางการทำงาน จะมองพื้นที่และการรักษาพื้นที่เสียเป็นส่วนมาก ทำนโยบายก็เป็นนโยบายที่ยึดโยงฐานมวลชนเป็นหลัก มากกว่าที่จะมองคาดการณ์ทิศทางอนาคตในมิติต่างๆ และวางแนวทางให้สอดรับอย่างมีความกล้าในวิสัยทัศน์ นั่นล่ะครับสภาพ “พรรคกลัวแพ้”

ดังนั้นจึงมีทิศทางบางประการที่ผมเห็นไม่ตรงกับพรรคฯ แต่ด้วยความรักที่มีต่อพรรคฯ และความนับถือที่มีต่อผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน อะไรที่เขามอบหมายมาแล้วไม่ฝืนความรู้สึก และเขามองว่าเรายังพอทำประโยชน์ได้ จึงยังไปช่วยงานอยู่บ้าง และตัดสินใจไม่ลงสมัครเลือกตั้งปี 66

อะไรที่ผมเห็นไม่ตรงกับพรรคฯ ?
เรื่องที่ชัดเจนที่สุดและผมเคยแสดงความเห็นไว้ตั้งแต่ตอนนั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรเข้าร่วมรัฐบาล ผมให้เหตุผลไว้ว่า พรรคฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ รธน.60 และไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เมื่อกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 เรื่อง เข้ามาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล จึงไม่เป็นการสมควรที่พรรคฯ จะเข้าร่วมรัฐบาล
ประการที่สอง พรรคฯ แพ้เลือกตั้ง!! สะท้อนว่าประชาชนเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคฯ โดยสิ้นเชิง จึงยิ่งสัมทับเหตุผลของการไม่ควรร่วมรัฐบาล

หลังเลือกตั้งปี 66
ไอ้ที่ว่า “กลัวแพ้” กลายเป็น “แพ้ซ้ำซาก” และ “ย่อยยับกว่าเดิม”
เหตุผลที่เคยเป็นข้อถกเถียงว่า ประโยชน์ของการไปร่วมรัฐบาลประยุทธ์ อาจส่งผลในแง่ดีที่ประชาชนจะได้เห็นเจตนาและผลงานและกลับมาพิจารณาเราเป็นตัวเลือก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง!!

พรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่เพื่อฟื้นฟูพรรคฯ ผ่านพ้นมาเกือบหนึ่งปี ผมในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ก็ยังเฝ้ารอท่าทีที่พรรคประชาธิปัตย์จะมีแนวทางที่กลายเป็นพรรคที่ประชาชนจะตั้งความหวัง ประเทศชาติฝากผีฝากไข้ได้

อย่างไรก็ดีท่าทีที่ผมติดตามจากสื่อ และมีคอการเมืองมาพูดคุยด้วย มักจะยังวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ร่วมรัฐบาล”
ทุกครั้งที่มีคนถามความเห็น ผมก็ยังยืนยันเหตุผลบนหลักการเดิม คือ เราแพ้เลือกตั้งแบบราบคาบ ประชาชนไม่ได้มองเราเป็นที่พึ่งที่หวัง และการร่วมรัฐบาลไม่ได้เป็นเหตุผลให้เราได้รับการยอมรับมากขึ้น (พิสูจน์แล้วในปี62)

ตัวเลขการเลือกตั้ง มันบอกแล้วว่าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้คือ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง เป็นปากเสียงให้ประชาชน เสนอแนะรัฐบาลในสิ่งที่เหมาะสมเท่านั้น
แล้วก็ทำภารกิจสำคัญคือปรับโครงสร้าง ฟื้นฟูพรรคให้กลับมายืนอยู่บนหลักการ มีวิสัยทัศน์ที่แหลมคม เป็นหลักทางความคิดให้สังคม เปิดหูเปิดตามองโลกให้กว้างกว่าแค่พื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตรของเขตเลือกตั้ง เพื่อจะได้คิดอ่านสำหรับอนาคต

ผมมักจะตอบกับผู้คนที่มาพูดคุยด้วยเสมอว่าเชื่อว่า กรรมการบริหารและบุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์คงจะตระหนักได้ว่าไม่ควรคิดไปเป็นนั่งร้าน เก็บเบี้ยใต้ถุนลาน ให้ขั้วอำนาจไหนทั้งสิ้น ถ้ายังต้องการจะเป็นประชาธิปัตย์…แทร่ๆ!!!

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.