อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองและความจำเป็นในการคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่มิใช่ความคิดกษัตริย์นิยมล้นเกิน
6 ส.ค. 2567 – เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ที่ผ่านมาได้มีการแถลงการณ์ปิดคดีนอกศาล โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกลและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งมีการชี้แจงเนื้อหาและสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดีที่พรรคก้าวไกลได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ทำการนัดประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดี ในวันที่ ๗ สิงหาคม ที่ใกล้จะถึงนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ (๑) และ(๒) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๓/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๗ โดยมติเอกฉันท์ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคขณะนั้นและพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง
หลังจากได้ฟังคำแถลงปิดคดีของพรรคก้าวไกลดังกล่าว ที่ได้ชี้แจงข้อต่อสู้ในคดี ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ ๙ ข้อ นั้น มีประเด็นทางวิชาการที่สมควรจะอธิบายโต้แย้งให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นทางกฎหมายมหาชนซึ่งสำคัญ ที่ดูเหมือนจะเป็นความพยายามของพรรคการเมืองที่จะชี้นำความคิดของสังคมไทยให้คล้อยตาม จนอาจทำให้เกิดความใจผิดในการทำหน้าที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตุลาการในการพิทักษ์หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยเอาไว้ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่เป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสากลที่บุคคลและพรรคการเมืองที่ชอบอ้างว่าตนเป็นผู้เคารพศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยยิ่งกว่าพรรคการเมืองอื่นกลับไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง
เบื้องต้นมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ถึง ความเป็น “พรรคการเมือง” และ“กฎหมายพรรคการเมือง ” ที่เป็นกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมือง เสียก่อน ซึ่งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของ พรรคการเมือง หมายความว่า “คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นนิติบุคคลที่กฎหมายจัดตั้งรับรอง และกำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๔ (๕) ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษในกรณีพรรคการเมืองกระทำผิดกฎหมายที่กำหนดไว้ โทษร้ายแรงอาจถึงขั้นยุบพรรคการเมืองก็ได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีประเทศที่ได้มีการกำหนดโทษยุบพรรคการเมืองไว้ด้วยและมักจะให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง เช่น เยอรมนี เป็นต้น ทั้งนี้เหตุในการยุบพรรคการเมืองของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของพรรคการเมืองในประเทศนั้นๆที่มี
สำหรับประเทศไทยการกำหนดความผิดและโทษในการยุบพรรคการเมืองนั้น มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ แต่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคไป ๓๓ พรรค ด้วยความผิดในกรณีที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรตุลาการผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ซึ่งมีความเป็นกลางและความเป็นอิสระที่ต้องพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อพิจารณาถึงคำแถลงการณ์ปิดคดีของพรรคก้าวไกล ทั้ง ๙ ข้อ ข้อต่อสู้หลักที่สำคัญโดยสรุปมีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งปรากฏในข้อ ๑ ถึง ๕ ได้แก่ ประการที่ ๑ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง เพราะไม่มีเขตอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่สามารถอ้างเขตอำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ ประการที่ ๒การยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการยุบพรรคการเมือง ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงข้อกล่าวหาและ กกต.ได้มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่อยู่ในกระบวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ดังนั้นเมื่อกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถรับเรื่องไว้พิจารณาได้ ประการที่ ๓ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓/๒๕๖๗ ไม่ผูกพันกับคดีที่เป็นเหตุยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนี้เพราะเป็นข้อเท็จจริงคนละกรณีกัน ประการที่ ๔ พรรคก้าวไกลได้ยืนยันเสียงแข็งว่าการใช้สิทธิยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดเป็นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ตลอดจนการที่สมาชิกพรรคการเมืองได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๒ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเป็นนายประกันตัวผู้ต้องหาที่เป็นจำเลยในคดีมาตรา ๑๑๒ หลายราย ถือเป็นการกระทำส่วนตัวของบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลเพราะไม่ได้มีมติพรรคให้ไปกระทำการดังกล่าว และ ประการที่ ๕ การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อพิจารณาตามสภาวะวิสัยและความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป การกระทำที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด
ในส่วนข้อต่อสู้ในคำแถลงการณ์ปิดคดี ข้อ ๖ ถึง ๙ ของพรรคก้าวไกล นั้นวิญญูชนทั่วไปถ้าได้อ่านแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ดูไม่เหมือนเป็นข้อต่อสู้ เพราะดูจะเป็นข้อต่อรองกับศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ข้อต่อสู้ก่อนหน้านี้ยืนยันมาโดยตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ข้อ ๖ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ระบอบประชาธิปไตยบางประเทศจะสามารถยุบพรรคการเมืองได้ แต่ต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง และต้องเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ ภายใต้หลักความพอสมควรแห่งเหตุ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเครื่องมือการทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย สำหรับการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงยุบพรรค และไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกล ข้อ ๗ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากจะมีการจำกัดสิทธิต้องเป็นกระทำตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ข้อ ๘ ระยะเวลาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคนผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางเอาไว้ ไม่สามารถจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิได้ เพราะต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หากศาลเห็นว่ามีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง แต่การกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ต้องอยู่บนหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิน ๕ ปี ไม่ใช่ ๑๐ ปีตามที่กกต.ร้องขอ และ ข้อ ๙ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเท่านั้นโดยไม่รวมกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้”
ในความคิดเห็นส่วนตัวทางวิชาการและเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เห็นในทางเดียวกันว่า การออกแถลงการณ์ปิดคดีดังกล่าวนอกศาลของพรรคก้าวไกล ก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ประชุมกันเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยคดีในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗ เพียงไม่กี่วัน นับเป็นสิ่งที่น่าสงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริงซึ่งไม่น่าจะสุจริตใจนัก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยระบุไว้ในเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ด้วยว่า “ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล”
นอกจากนี้ยังปรากฏการเข้าพบทูตต่างประเทศหลายประเทศของประธานที่ปรึกษาพรรค อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมันเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติประชาธิปไตยในขณะนี้ ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่สู่สังคมทางออนไลน์ด้วย รวมถึงยังมีการให้สัมภาษณ์ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ที่สังกัดพรคก้าวไกล บอกว่า “ การยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ มีสิทธิ์ มีเสียง เพราะประชาชนให้การสนับสนุน ดังนั้นหากพรรคการเมืองถูกทำลายลง ไม่สามารถมีพื้นที่ต่อไปในสังคม หรือในวงการเมืองได้ ก็ควรจะมาจากการที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้น ขอให้การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นโดยประชาชน การยุบพรรคโดยกระบวนการศาล สำหรับ พ.ศ. นี้ ควรจะหมดไปได้แล้ว เราควรให้ประชาชนเป็นคนวินิจฉัยเองว่า นโยบายแบบไหน พรรคการเมืองแบบไหนที่เขาต้องการ ” อีกทั้งยังมีการลงประกาศเชิญชวนประชาชนในเฟซบุ๊คของพรรคอย่างเป็นทางการให้มาร่วมฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ณ ที่ทำการพรรค ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐น ถึง ๒๑.๐๐ น.
พฤติกรรมทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานี้ แม้จะบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลและพรรคการเมืองที่จะสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างกระแสชี้นำความคิดทางสังคม ที่อาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เตือนคู่กรณีไว้แล้วก่อนหน้าที่จะนัดทำคำวินิจฉัยว่าไม่ควรกระทำ แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสิ่งที่พรรคได้ทำทั้งหมดเป็นการสื่อสารไปยังคนที่สนับสนุนนิยมชมชอบในพรรคก้าวไกล ให้เชื่อว่า “พรรคไม่ควรถูกยุบ พรรคไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่กฎหมายยุบพรรคการเมืองมันผิด ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการยุบพรรคการเมือง กระบวนการทั้งหมดของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมและโอกาสในการต่อสู้คดี เป็นการฝ่าฝืนหลักการประชาธิปไตยสากล คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ที่เคยตัดสินว่าพรรคก้าวไกลมีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญ ไม่ผูกพันกับคดีนี้เพราะเป็นข้อเท็จจริงคนละกรณีกัน และที่สำคัญเป็นการยืนกระต่ายขาเดียวว่า พรรคไม่ได้มีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง การเป็นนายประกันแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา ๑๑๒ การเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องต่างๆที่เกี่ยวข้อง การกระทำดังกล่าวป็นเรื่องส่วนบุคคลของสมาชิกพรรคเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ทำได้ ไม่ได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด และสิ่งที่พรรคทำคือการรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคนที่กล่าวหาเป็นพวกกษัตริย์นิยมล้นเกินมากกว่า ”
เหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่รวบรวมมาข้างต้นนี้ คือสิ่งที่หลายคนในสังคมไทยอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า คือ ความพยายามที่จะปลุกระดมใช้ “กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายใช่หรือไม่” โดยเฉพาะกฎหมายนั้น คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศและผ่านการลงประชามติโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียงข้างมากของประเทศไทยที่มีมากกว่า ๑๔ ล้านเสียง ซึ่งสมาชิกพรรคการเมืองนี้มักจะชอบอ้างว่าเป็นประชาชนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง จึงไม่ควรถูกยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นตุลาการเพียง ๙ คนที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชน ก็อยากจะบอกว่า พรรคการเมืองใด ไม่ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งมากมายจะกี่สิบล้านก็ตาม ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกยุบพรรคการเมืองได้เป็นปกติธรรมดา และผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองนั้น คงไม่ได้เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อสนับสนุนให้ไปทำในสิ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นแน่แท้
ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบถึงประเด็นทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวข้องในคดีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกลอย่างครบถ้วนโดยไม่หลงเชื่อไปตามคำแถลงการณ์ปิดคดีดังกล่าวอย่างง่ายๆ จึงมีประเด็นทางกฎหมายและความเห็นทางวิชาการที่จะอธิบายให้เห็นดังต่อไปนี้
๑ .ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจในการรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นลักษณะคดีประเภทหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๑๓) คือ คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล แม้จะไม่มีบททบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดไว้ก็ตาม และการกำหนดอำนาจหน้าที่ซึ่งนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถเขียนเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ได้ทั้งหมดอย่างครบถ้วน ซึ่งตามหลักเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปในต่างประเทศ ก็จะปรากฏอยูในสองส่วน คือ รัฐธรรมนูญของประเทศนั้น และกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นมารองรับ
อนึ่ง ตาม มาตรา ๒๑๑ วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๗ วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ บัญญัติว่า “เมื่อศาลรับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว ตุลาการผู้ใดจะปฏิเสธไม่วินิจฉัยโดยอ้างว่าเรื่องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลมิได้ ” ฉะนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของ กกต.ที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกลไว้พิจารณานั้น ย่อมเป็นการยืนยันแล้วว่า ศาลเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงรับไว้พิจารณาได้ เพราะถ้าไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาล ศาลรัฐธรรมนูญก็จะปฏิเสธไม่รับคำร้องมาตั้งแต่ต้น
๒.สำหรับประเด็นข้อต่อสู้ว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการสอบสวนและให้โอกาสพรรคการเมืองได้ชี้แจงต่อสู้ข้อกล่าวหา เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า กกต.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคการเมือง ส่งผลให้กระบวนการสอบสวนและยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริงการที่กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ที่ได้วินิจฉัยไว้ว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสอง ( คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรคก้าวไกล) ที่ได้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง
จากผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๑ วรรคท้าย ได้บัญญัติชัดเจนว่า “ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ” ฉะนั้น กกต.จึงต้องยึดถือคำวินิจฉัยดังกล่าวที่มีผลผูกพันในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระเพื่อดำเนินการต่อในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่รับผิดชอบดูแลกฎหมายฉบับนี้อยู่ เนื่องจากแม้ กกต.จะไม่ได้เป็นคู่กรณีในคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ก็ตาม แต่ผู้ที่ถูกร้อง คือ หัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคการเมือง คือ พรรคก้าวไกล จึงเป็นกรณีที่ กกต.จะต้องเข้ามาดำเนินการต่อตามกฎหมายพรรคการเมืองที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้พรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
ปัญหาที่น่าพิจารณาต่อไปว่า แล้ว กกต.จะต้องเริ่มทำกระบวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานใหม่ และเรียกให้พรรคการเมืองมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่จะส่งคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป โดยถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ หากไม่ได้ดำเนินการจะส่งผลร้ายแรงทำให้คำร้องที่ยื่นไปไม่ชอบตามกฎหมายไปด้วยหรือไม่
สำหรับประเด็นนี้ เห็นว่าการปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้น เป็นกรณีซึ่งมีข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่ยังไม่มีความชัดเจนจากพฤติการณ์ที่อาจมีการร้องเรียนพรรคการเมืองมายัง กกต. หรือ ที่ กกต. ได้ปรากฏเห็นด้วยตาตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณารวบรวมพยานหลักฐาน การให้โอกาสชี้แจงต่อสู้คดีก่อนมีมติ ว่ามีการกระทำที่เป็นเหตุในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล เป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ตัดสินไว้แล้วว่า พรรคก้าวไกล มีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง การที่ กกต.จะให้โอกาสมาชี้แจงจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยข้อเท็จจริงตามสภาพด้วยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วผูกพันอยู่ การไม่ให้โอกาสพรรคการเมืองมาชี้แจง และรับฟังพยานหลักฐาน จึงไม่ใช่เหตุที่จะส่งผลให้การยื่นคำร้องของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงหลักกฎหมายปกครองทั่วไปของไทย การไม่ให้สิทธิแก่คู่กรณีที่อาจถูกกระทบสิทธิในการจะได้โต้แย้งมาชี้แจงแสดงพยานหลักฐาน นั้น ถือว่าเป็นข้อยกเว้นของหลักการฟังความทุกฝ่ายที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งในความเห็นส่วนตัว มองว่า กรณีของ กกต.นี้ นอกจากเป็นลักษณะของการไม่สามารถให้โอกาสได้ตามสภาพข้อเท็จจริงของเรื่อง ก็ยังถือได้อีกว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เข้าลักษณะตามมาตรา ๓๐ (๑) ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไทย เพราะตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า มีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หากปล่อยให้เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรผู้มีอำนาจวินิจฉัยล่าช้าออกไปอีก ประเทศชาติย่อมจะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการกระทำของพรรคการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๓. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้อย่างชัดเจน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๑ วรรคท้าย ที่ได้บัญญัติว่า “ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ” ซึ่งแน่นอนว่ายอมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ด้วย
ทั้งนี้ข้ออ้างที่ กกต. กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ไม่ได้ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะ กกต.ได้ถือเอาคำวินิจฉัย ดังกล่าวว่าการกระทําของผูถูกรองทั้งสอง ( คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล) ที่ได้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เปนการใชสิทธิหรือเสรีภาพเพื่อลมลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเปนประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง เป็นเหตุในการยื่นคำร้องครั้งนี้ ซึ่งก็จะเข้าลักษณะตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา ๙๒ (๑)และ (๒) ว่าเมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยเหตุตามคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญของ กกต. ในคดีนี้มีสองกรณีคือ
(๑) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ
(๒) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
๔.พรรคก้าวไกลได้ยอมรับอย่างชัดเจนในคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า การเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำของพรรคการเมือง ที่ปรากฏใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปที่ผ่านมา โดยข้อเท็จจริงสังคมไทยก็รับทราบจากการเผยแพร่ในเวบไซต์ของพรรคก้าวไกล และแม้ปัจจุบันจะมีการนำเนื้อหาออกไป หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินให้หยุดการกระทำดังกล่าวที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่พรรคก้าวไกลปฏิเสธว่าการกระทำอื่น ๆ ตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่ สส.เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี ๑๑๒ หรือการแสดงออกส่วนตัว พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการหรือบงการ ทั้งหมดไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองที่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ
ปัญหาว่าสาธารณชนโดยทั่วไปที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะเชื่อหรือไม่ตามคำแก้ตัวดังกล่าวของพรรคก้าวไกลว่า พรรคไม่ได้มีมติให้ไปทำ ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนบุคคล พรรคไม่ได้ทำผิด สำหรับประเด็นข้อพิจารณาสำคัญน่าจะอยู่ที่บทบัญญัติของกฎหมายพรรคการเมือง ที่ได้มีการกำหนดทั้งข้อปฏิบัติและข้อห้ามให้พรรคการเมืองต่างๆได้ยึดถืออย่างเคร่งครัดซึ่งมีอยู่หลายมาตราโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง คือผู้ที่มีบทบาทในการควบคุมดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองและสมาชิกที่สังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ได้แก่
มาตรา ๒๐ ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง
มาตรา ๒๑ พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทําด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดําเนินกิจกรรม ทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตําแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๒๑วรรคท้าย ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทําการแทนก็ได้
มาตรา ๒๒ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการ
มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทําการอันเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายพรรคการเมืองข้างต้น พรรคการเมืองจึงไม่ได้มีการกระทำเฉพาะในส่วนที่ต้องมีการประชุมปรึกษาหารือและมีมติพรรคออกมาให้ไปดำเนินการแต่ละเรื่องเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงคงไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะมีการประชุมและมีมติให้ไปกระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ และนำมติดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานมัดคอตนเอง แต่การฝ่าฝืนกฎหมายในความเป็นจริงก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการละเลยต่อหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลสมาชิกพรรคให้ดี ปล่อยให้ไปกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่มีการดำเนินการแก้ไขที่เหมาะสม ซ้ำร้ายหากมีการสนับสนุนให้ท้าย ไม่ว่ากล่าวตักเตือนใด ถ้าเป็นเช่นนี้จะบอกว่าพรรคการเมืองไม่ได้กระทำผิด ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องคงไม่ได้ ถ้าพูดในภาษากฎหมายอาญา นี้คือ “การกระทำโดยการงดเว้นการกระทำ”นั่นเอง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่า พรรคก้าวไกลเกี่ยวข้องโดยตรงและต้องรับผิดชอบในการกระทำของสมาชิกพรรคการเมือง โดยจะอ้างว่าพรรคไม่เกี่ยวข้องเพราะไม่ได้มีการประชุมออกมติพรรคการเมืองให้ไปดำเนินการคงไม่ได้
นอกจากนี้เมื่อพูดถึงตัวแทนของพรรคการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองย่อมถือว่าเป็นบุคคลสำคัญอันดับหนึ่งและเป็นตัวแทนพรรคการเมืองในกิจการภายนอกตามที่กฎหมายรับรองไว้ โดยความเข้าใจของผู้คนภายนอกที่รับรู้ ปรกติทั่วไปเมื่อหัวหน้าพรรคทำอะไร หรือให้สัมภาษณ์อะไร สาธารณชนย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นเจตจำนงของพรรคการเมืองในเรื่องนั้นๆที่กระทำผ่านหัวหน้าพรรคการเมือง หากไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้านมาจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนอื่น ซึ่งในกรณีพรรคก้าวไกลก็ไม่มีสมาชิกคนใดออกมาคัดค้านเลย
ฉะนั้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนทั่วไป และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้ปัจจุบันหัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะที่เกิดเหตุในคดี คือ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกคนสำคัญต่างๆจำนวนมาก ได้แสดงออกในการสนับสนุนให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยการเข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ โดยถอดออกจากหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และยังมีการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าว และที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ในต่างเวลาและต่างโอกาสกัน มีการเคลื่อนไหวทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และเข้าร่วมชุมนุมกับภาคประชาชน ถือป้ายข้อความต่างๆที่เป็นการยกเลิกมาตรา ๑๑๒
มากยิ่งไปกว่านั้น ส.ส.ที่สังกัดพรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่ง ก็ต้องเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีมาตรา ๑๑๒ มีทั้งที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดและให้ประกันตัวสู้คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี พยานหลักฐานทั้งหมดปรากฏให้เห็นอยู่ในโลกออนไลน์แม้ในปัจจุบันก็สามารถสืบค้นย้อนกลับไปได้ แม้จะมีบางคนได้ลบเนื้อหาออกไปแต่ก็มีผู้เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานยืนยัน แม้จะอ้างว่าศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดี แต่พรรคก้าวไกลก็เปิดรับบุคคลเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและส่งสมัครรับเลือกตั้งจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หลายคน และการแสดงออกต่างๆของสมาชิกพรรคที่ไปเป็นนายประกัน พรรคก้าวไกลจึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคลของสมาชิกพรรคการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลได้รับประโยชน์จากคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสนับสนุนที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ การเป็นพรรคการเมืองจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับทั้งผิดและชอบ
๕.การที่พรรคก้าวไกลต่อสู้ว่า การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อพิจารณาตามสภาวะวิสัยและความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป การกระทำที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด ข้อต่อสู้นี้เป็นการยืนกระต่ายขาเดียวอีกครั้งของพรรคก้าวไกลที่น่าเห็นใจซึ่งมีผู้เคยกล่าวว่าถ้าคุณจะโกหกให้คนเชื่อก็จะต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ
ในความเห็นส่วนตัวมองว่าข้อต่อสู้ในประเด็นนี้ดูเลื่อนลอยมาก เพราะว่าได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ได้ตัดสินชี้ขาดไว้ด้วยมติเอกฉันท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ ท่าน ถึงการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคขณะนั้นและพรรคก้าวไกลที่ได้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเท้าความถึงคำวินิจฉัยสำคัญในอดีตซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคําวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๖๔ กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งมีการเสนอข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ๑๐ ข้อ ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้นก็มีการให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ด้วย ว่า “การกระทําที่มีเจตนาทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้งเป้น การเซาะกร่อนบ่อนทําลาย การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ” ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงดํารงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทําใด ๆ ทั้งการส่งเสริม หรือทําลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดํารงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทําลาย เป็น เหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะเป็นการล้มลเางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
อีกทั้งถ้าพิจารณาตามหลักกฎหมายอาญาที่สำคัญว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ก็ยอมจะสามารถนำมาใช้เพื่อค้นหาเจตนาภายในของพรรคการเมืองที่แสดงออกผ่านตัวแทนของพรรคการเมืองได้ว่ามีความมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างไรกันแน่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าวิญญูชนโดยทั่วไปที่พรรคก้าวไกลอ้างถึง คือวิญญูชนที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปจริงๆ หรือคนที่ถูกปลุกปั่นด้วยข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลวงต่างๆจนเกิดเชื่อตามว่ามาตรา ๑๑๒ มีปัญหาปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและขัดกับหลักความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ทั้งที่จริงแล้วมิใช่ตามนั้น เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ไม่สมบูรณ์และถูกจำกัดได้โดยอำนาจกฎหมาย
ท้ายที่สุด เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคท้าย ได้บัญญัติว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการ ตามวรรคหนึ่ง (เหตุในการยุบพรรคการเมืองตั้งแต่(๑)ถึง (๔))ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น” ในการพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญนี้ มิใช่การกำหนดให้มีการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยตามหลักการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาในการลงโทษในความผิดตามกฎหมายอาญา แต่เป็นกระบวนพิจารณาแบบไต่สวน ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้โดยไม่ได้ผูกพันเฉพาะพยานหลักฐานที่คู่กรณีได้ยื่นเข้ามาในคดี เท่านั้น อีกทั้งถ้าคดีใดเป็นประเด็นข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจาณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕๘ ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นในการพิจารณาคดีคำร้องของกกต.ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗ ที่จะถึงนี้ จึงเป็นการพิจารณาที่ศาลได้ให้โอกาสต่อสู้คดีแก่ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมแล้ว การไม่เปิดไต่สวนจึงมิใช่กรณีการเร่งรีบหรือไม่ให้ความเป็นธรรมแต่อย่างใด อีกทั้งก็ปรากฏว่าศาลได้ให้เวลาพรรคก้าวไกลยื่นเอกสารพยานหลักฐานต่างๆโดยขยายเวลามาถึง ๓ ครั้ง แล้ว และในคดีนี้มีประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายตามาตรา ๙๒ (๑) หรือ (๒) หรือไม่ และมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนจะต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจาย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์
อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
——————————————
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
ยุ่งแล้ว! ‘สนธิญา’ ชี้ ‘ทักษิณ’ รับเองแกนนำพรรคร่วมหม่ำมาม่า เข้าทางร้องยุบ พท.
‘สนธิญา’ ชี้ ทักษิณรับเองแกนนำพรรคร่วมหม่ำมาม่า มัดตัวเข้าหายอมให้ครอบงำ ชี้นำเข้าทางคนร้องเรียนยุบพรรคเพื่อไทย เห็นใจนายกฯอิ๊งค์ ปัญหารุมเร้า เชื่อหาก แม้ว หยุดจ้อ-รัฐบาลพูดน้อย เน้นทำงานน่าจะดีกว่า
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หอบหลักฐานยุบ 6 พรรค มัด 'ทักษิณ' ครอบงำ ท้า 'พท.-ชินวัตร' สาบานวัดพระแก้ว
'พิราบขาว' หอบหลักฐาน แจง กกต. คำร้องยุบ 6 พรรค ยันสัมพันธ์ชัด 'ทักษิณ' ครอบงำสั่งการ บี้นายกฯอิ๊งค์เปิดภาพแค่กินข้าวจริงหรือไม่ ท้า 'พท.-ชินวัตร' สาบานวัดพระแก้ว
‘นิพิฏฐ์’ ห่วง ปชป. โดนข้อหาทักษิณครอบงำพรรค มืดแปดด้านไร้นักกฎหมายสู้คดี
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “การเมือง-การศาสนา” มีเนื้อหาดังนี้