นายกฯ รุดกรมชลประทาน ถกบริหารจัดการน้ำ สั่งทำแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 ปี พร้อมวางโครงการระยะยาว แก้ไขปัญหาภัยพิบัติมีประสิทธิภาพ พร้อมฝากอนุทิน ดูแลขุดลอกแม่น้ำโก-ลก
5 ส.ค.2567 – เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อมาถึงนายกฯรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4% ขณะที่นายกฯกำชับให้ทางกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ
นอกจากนี้อธิบดีกรมชลประทาน ยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชลจังหวัดนครนายก มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปนายกฯได้กำชับนายอนุทินว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆประมาณเดือน พ.ย.
ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้มีแผนและอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย ทั้งนี้นายกฯยังได้เน้นย้ำและกำชับอีกว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมาเพราะทางมาเลเซียเดือดร้อนเนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้
จากนั้นนายกฯเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วปัญหาเรื่องน้ำเราเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนเองมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนคนไทยทุกคน ตนเองได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี และตลอดจนการพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
“ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ตนเองมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรี ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย
ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน
เอาแล้ว! เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มการระบายน้ำอีกระลอก
เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มระบายน้ำขึ้นอีกรอบ หลังฝนตกทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำสะแกกรัง เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด
เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา
น้ำทะเลหนุน! กรมชลฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ 7 พื้นที่เสี่ยงลุ่มเจ้าพระยา
กรมชลประทาน คาดการณ์ระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 3 วันล่วงหน้า (13-15 ต.ค. 67)
กรมชลประทานคุมเข้มบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูมรสุมภาคใต้
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 16 เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผนรับมือในพื้นที่ภาคใต้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝน
'เขื่อนเจ้าพระยา' ลดระบายน้ำต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จ. ท่วมน้อยลง
แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท