'ศิริกัญญา' กาง 4 เหตุผลตัด 'งบดิจิทัลวอลเล็ต' เหลือหมื่นล้านบาท เหน็บจะเล่นแร่แปรธาตุอย่างไรก็ตามแต่ดอกเบี้ยไม่หลอกใคร จวกเกินเลยไปมากเอาค่าน้ำค่าไฟรวมเป็นรายจ่ายลงทุน
31 ก.ค.2567 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22แสนล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้แปรญัตติ อภิปรายว่า ขอตัดลดงบในส่วนนี้เหลือ 1 หมื่นล้านบาท ด้วย 4 เหตุผลคือ 1.เราไม่ควรกู้เงินเพิ่มอีกแล้ว เพราะด้วยฐานะทางการคลังของประเทศวันนี้ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่ยังปริ่มเพดาน ไต่ขอบไต่เส้น และหนี้สาธารณะท่านจะเล่นแร่แปรธาตุอย่างไรก็ตาม แต่ดอกเบี้ยไม่หลอกใคร ทั้งนี้ เราทราบดีอยู่แล้วว่าในปีงบ 2567 และปี 2568 มีการตั้งงบชำระดอกเบี้ยไม่พอที่ตั้งไว้ ขณะที่ปี 2569 ก็มีการตั้งเฉพาะดอกเบี้ยไว้ที่ 3.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12%ของรายได้รัฐบาล หากถึงปี 2571 ก็จะขึ้นไปเกือบ 5 แสนล้านบาท เราไม่ต้องทำอะไรแล้วหากรายได้ได้เท่าไหร่ หรือเก็บภาษีได้เท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยหมด ซึ่งหากรวมเงินต้นด้วยก็จะขึ้นไป 20 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นปัญหาที่จะผูกพันเราไปอีกในอนาคต
“ดิฉันจึงเสนอว่าไม่ควรกู้เพิ่มอีกแล้ว แถมยังเป็นการกู้ที่สุดเพดานไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดว่าจะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า กรรมาธิการได้สอบถามบ้างหรือไม่ว่าประมาณการรายได้ของปี 2567 ได้ประมาณการใหม่ไว้หรือไม่ เราจะจัดเก็บพลาดเป้าเดิมจากที่สภาฯ เคยอนุมัติไว้เมื่อต้นปีที่เท่าไหร่ แม้จะมีการสอบถามแค่ตัวแทนจากกระทรวงการคลังก็บอกว่าได้มีการประมาณการรายได้ใหม่ไว้แล้ว แต่ไม่บอกว่าเท่าไหร่ ไม่แค่ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วว่าสุดท้ายจะไม่มีปัญหา ซึ่งกรมสรรพสามิตก็เคยออกมาแถลงแล้วว่าจัดเก็บพลาดเป้าไปเกือบ 6 หมื่นล้านบาท แต่เราก็ยังจะมากู้เพิ่มจนสุดเพดาน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นกับระบบการคลัง ยืนยันว่าจะให้งบเพิ่มเติมได้เท่าที่หารายได้อื่นมาเพิ่มได้คือ 1 หมื่นล้านบาท” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า 2.แม้จะกู้ได้ แต่ก็ต้องใช้ในปีงบประมาณตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าการลงทะเบียนจะเข้านิยามของหนี้ตามมาตรา 4 ยกเว้นจากการอื่นใด แต่การจะเป็นหนี้ได้ต้องมีระเบียบมารองรับต่อไป และจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดต่อไป กรรมาธิการได้มีการสอบถามหน่วยงานที่มาชี้แจงหรือไม่ว่าเป็นหนี้หรือสัญญาประเภทใด ซึ่งอยู่ในห้องนั้นก็เห็นว่าไม่มีหน่วยงานใดที่จะตอบได้ว่าเป็นสัญญาเอกเทศประเภทใด ทั้งนี้ หากเป็นสัญญาให้ไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้ เพราะฟ้องร้องกันไม่ได้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า 3.แม้จะกู้ได้ แต่ต้องทำสัดส่วนลงทุนรายจ่ายถูกต้อง ซึ่งท่านเคยชี้แจงในห้องกรรมาธิการงบประมาณว่าทำไมจึงคิดว่ารายจ่ายของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% แต่เมื่อมาชี้แจงในห้องคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีแล้วว่า 80% เป็นรายจ่ายลงทุน แต่ใช้การวิเคราะห์ที่ทำให้เกิดดอกผลและไม่เกิดดอกผล รวมถึงบอกว่าการก่อให้เกิดดอกผลเป็นการลงทุน โดยในมาตรา 20 (1) ระบุว่าเราต้องมีรายจ่ายลงทุนมากกว่าที่กู้เพื่อชดเชยขาดดุล แต่การกู้ครั้งนี้ท่านกลับเอาค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคตามปกติครัวเรือนมาบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายลงทุน
“ดิฉันคิดว่าเกินเลยไปมาก ซึ่งท่านจะไม่ทำก็ได้แค่บอกกับสภาว่ารายจ่ายรอบนี้จะไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย โดยมีเหตุผลที่เราจำเป็นที่จะต้องรักษาชื่อเสียงที่เราสั่งสมมานานเพื่อทำเรือธงของตัวเองให้ได้ ให้ท่านบอกเหตุผลกับสภามา และเสียงข้างมากก็คงยอมให้ท่านทำได้ แต่ท่านกลับพยายามที่จะบิดกฎหมายที่ยังไงก็ได้ขอแค่ให้เป็นรายจ่ายลงทุนโดยที่ไม่ได้ ซึ่งจะถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคตกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังต่อไป” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า 4.แม้จะกู้ได้ แต่ก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำ เพราะแหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่จะมีการเติมเงินเข้ามาใหม่ในระบบ 3.5 แสนล้านบาท จากการกู้ 3 แหล่งคือ กู้ชดเชยขาดดุล 2567, กู้ชดเชยขาดดุล 2568 และกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ตอนนี้เหลือเพียงแค่กว่า 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น จากที่เคยประเมินเอาไว้ว่าจะโต 1.2-1.8% ตัวเลขตอนนี้จะไม่เท่าเดิมอีกต่อไป แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเขาก็บอกว่าประเมินให้ใหม่แล้วเพราะแหล่งที่มาของเงินลดลงแล้วก็จะเหลืออยู่ที่ 0.9% แต่พอแถลงข่าวรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังก็กลับไปใช้ตัวเลข 1.2-1.8% ขอใช้ตัวเลขสูงไว้ก่อน
“ยิ่งสะท้อนว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการประเมินความคุ้มค่าไว้ล่วงหน้า ท่านอาจจะบอกว่าโครงการนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ เลยไม่รู้ว่าจะประมาณการอย่างไร แต่เราสามารถจะประเมินขั้นต่ำขั้นสูงกันได้อยู่แล้ว ถ้าโครงการนี้มันมีการประเมินอย่างรอบคอบ รอบด้าน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบนี้ สรุปว่าไม่รู้จะใช้ตัวเลขไหนกันแน่ และเอกสารงบประมาณก็ไม่ได้มีการระบุตัวเลขไว้อย่างชัดเจน ดิฉันจึงไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง
คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ