ก้าวไกลดุ! ซัดปฏิญญาเขาใหญ่ถาม 'พีระพันธุ์' ทำงานรับใช้ใครแน่

'ศุภโชติ' จี้ 'รมว.พลังงาน' แก้ปัญาราคาน้ำมัน-ค่าไฟแพง แนะใช้ความกล้าคุยพรรคร่วมรัฐบาล ดึงงบกลางช่วยแฉแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ส่อซ้ำรอยความผิดพลาด ยกปฏิญญาเขาใหญ่ ถาม'พีระพันธุ์' ทำงานรับใช้ใครแน่

25 ก.ค. 2567 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 สมัยสามัญเป็นประจำปีครั้งที่ 2 นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งกระทู้สดด้วยวาจา เรื่องราคาพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ ได้มอบหมายนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เป็นผู้ตอบแทน

โดยนายศุภโชติ กล่าวว่า ประเด็นแรก ทุกวันนี้ประชาชนจ่ายค่าน้ำมันแพง แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละเกือบ 40 บาท ดีเซล 33 บาท เชื่อว่า สส. คงได้ยินเสียงก่นบ่นของประชาชนว่าราคาขนาดนี้เขารับไม่ไหว ล่าสุดรัฐออกมาตรการตรึงดีเซลไว้ที่ 33 บาทก็สร้างปัญหาอีก คือช่วยเหลือเฉพาะผู้ใช้ดีเซล ไม่ได้พูดถึงคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน และมาตรการนี้จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประเทศในระยะยาว จึงต้องถามว่ารัฐมนตรีไม่มีมาตรการที่ดีกว่านี้แล้วหรือ

นายศุภโชติ กล่าวต่อว่า ที่ต้องถามแบบนี้ เพราะรัฐมนตรีกำลังทำแบบเดิมๆ ที่ให้กองทุนน้ำมันเข้ามาแบกส่วนต่างทางราคา ขณะที่ตอนนี้สถานะกองทุนฯ ติดลบแล้วกว่า 110,000 ล้านบาท เรียกว่าสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายอย่างยิ่ง แม้จะให้กองทุนฯ ไปกู้ธนาคารพาณิชย์มาเพิ่มโดยให้กระทรวงการคลังเป็นคนค้ำ ต้องถามว่าธนาคารที่ไหนจะกล้าให้กู้ ถ้าหนี้ของกองทุนฯ ยังติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีแผนชำระหนี้เลย หรืออีกกลไกตามที่ รมว.พลังงาน ให้ข่าวว่าจะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่ทราบหรือไม่ว่าแค่สถานการณ์ปัจจุบัน กรมสรรพสามิตรายงานว่า 9 เดือนที่ผ่านมา เก็บรายได้พลาดเป้าไปแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท มาจากภาษีน้ำมันอย่างเดียวก็ 25,000 ล้านบาท ถ้ายังใช้กลไกเดิมด้วยการลดภาษีสรรพสามิต ประเทศจะเก็บรายได้ได้น้อยลงอีก ลองถามพรรคร่วมรัฐบาลหรือยังว่าถ้าประเทศมีรายได้ลดลง แล้วเงินที่พรรคแกนนำจะเอาไปทำดิจิทัลวอลเล็ต จะเพียงพอหรือไม่

นายศุภโชติถามรัฐมนตรีว่า นอกจากกลไกกองทุนน้ำมันหรือการลดภาษีสรรพสามิต มีมาตรการหรือวิธีการอื่นอย่างไร ที่จะช่วยลดราคาน้ำมันให้พี่น้องประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มพี่น้องผู้ใช้น้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ปากท้องผูกไว้กับราคาน้ำมันเบนซิน จะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไร

คำถามที่สอง เรื่องค่าไฟแพง เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศว่าค่าไฟมีสิทธิ์ขึ้นไปที่ 4.60 หรือแย่ที่สุด 6 บาทต่อหน่วย แต่ความจริงแล้วต้นทุนค่าไฟจริงๆ อยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วยเท่านั้น แต่ที่ กกพ. เรียกเก็บ 4.60 บาทเป็นอย่างน้อย เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้จากมาตรการของรัฐบาลในอดีตที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. แบกรับหนี้ก้อนนี้ไว้ กลายเป็นดินพอกหางหมู จนปัจจุบันหนี้อยู่ที่ 110,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่มีมติให้ชำระหนี้ก้อนนี้ พูดง่ายๆ คือยืดหนี้ออกไปอีกเพื่อตรึงค่าไฟให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เหตุที่ต้องพูดประเด็นนี้ เพราะหากยังใช้วิธีแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคตหนี้อาจขยายเป็น 150,000-200,000 ล้านบาท เนื่องจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ คำถามคือเราจะทำอย่างไรกับหนี้เก่าและหนี้ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น

นายศุภโชติกล่าวอีกว่า รมว.พลังงาน ต้องกล้าคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องตั้งงบกลาง เพื่อช่วยลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชน ถ้าแบ่งงบกลางมา 30,000 ล้านบาท จะสามารถคงค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แถมสามารถใช้หนี้ให้ กฟผ. และ ปตท. ได้ด้วย หรือถ้ากล้ายิ่งกว่านี้ คือของบกลางมา 40,000 ล้านบาท จะช่วยลดค่าไฟลงได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยด้วยซ้ำ คำถามคือท่านพีระพันธุ์กล้าคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนร่วมงานของท่านหรือไม่

“แทนที่จะเอาเงินตรงนี้ไปทำดิจิทัลวอลเล็ต ลองเอาเงินมาลดค่าไฟ ลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน อย่าให้เขาใช้งบกลางไปทำนโยบายของพรรคเขาเพียงคนเดียว ในเมื่อเป็นงบกลางที่ควรเป็นของทุกพรรคร่วมรัฐบาล ก็ควรแบ่งมาลดค่าไฟ มาทำนโยบายที่ท่านหาเสียงบ้าง ช่วยกันครับ รัฐบาลถึงไปต่อได้”

นายศุภโชติ กล่าวอีกว่า หากพรรคใหญ่ดึงดันไม่ให้ใช้งบกลาง แนะนำว่า รมว.พลังงาน ต้องหันกลับมาคุยในพรรคของท่าน คุยกับนายทุนพลังงานเจ้าของโรงไฟฟ้าเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เชื่อว่ารัฐมนตรีมาถึงวันนี้คงเข้าใจแล้วว่าประชาชนต้องจ่ายเงินฟรีๆ ให้กับโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วแต่ไม่ได้เดินเครื่อง เนื่องจากในอดีคเคยพยากรณ์ว่าต้องใช้ร้อย ก็เลยสร้างร้อย แต่ความจริงใช้แค่ 80 อีก 20 ที่เกินมาประชาชนต้องแบกรับ ต้องจ่ายค่าไฟแพงเพื่ออุ้มโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไว้ ต่อปีคิดเป็นเงินหลักหมื่นล้านบาท

นายศุภโชติ กล่าวด้วยว่า หากรัฐมนตรีบอกว่ายกเลิกสัญญาไม่ได้ อย่างน้อยควรเข้าไปเจรจาขอยืดระยะเวลาสัญญาให้นานขึ้น ยืดการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายนี้ออกไป จากเดิมเราต้องจ่ายเงินฟรีๆ สำหรับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน คิดเป็นยูนิตละ 1 บาท และต้องจ่ายอย่างนี้ไปอีก 20 ปี อาจเจรจาขยายเป็น 25 ปี จากค่าไฟที่แพงขึ้นยูนิตละ 1 บาท จะได้ลดเหลือ 60 สตางค์ต่อหน่วย

“การแก้ไขเรื่องค่าไฟในระยะสั้น รมว.พลังงานแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่ใช้อำนาจรัฐมนตรีที่มีคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล คุยกับนายทุนพลังงาน น่าจะคุยได้เพราะรูปที่ออกมาที่เขาใหญ่ก็ดูสนิทกันดี ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน จึงขอถามรัฐมนตรีว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะใช้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของประเทศนี้ แก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน”

นายศุภโชติกล่าวอีกว่า ประเด็นที่สาม เรื่องแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะยาว เนื่องจากปัญหาค่าไฟค่าน้ำมันที่ตนกล่าวไป คือผลพวงจากการวางแผนที่ผิดพลาดในอดีต จากการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น จากการวางแผนให้ภาคพลังงานของประเทศขึ้นอยู่กับก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ถ้าเราจะแก้ไขไม่ให้ซ้ำรอยเดิม รัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้า ควรคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น เพื่อลดจำนวนการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

นายศุภโชติ ย้ำกว่า เพื่อความเป็นธรรม ปัญหาที่กล่าวมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันไม่ได้เป็นคนสร้าง แต่จะเป็นปัญหาแน่ถ้ารัฐมนตรีไม่ได้เรียนรู้จากอดีตเลย เพราะถ้าไปดูร่างแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนก่อน ท่านกำลังทำผิดพลาดเหมือนเดิม เริ่มที่สมมุติฐาน ที่คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริงอีกแล้ว โดยประมาณการจีดีพีสูงเกินจริงไว้ที่ 3.7% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่าจะโตแค่ 1.9% หรือเรื่องจำนวนประชากรที่แผนตั้งสมมุติฐานว่าจำนวนประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ใครๆ ก็ทราบว่าประชากรไทยกำลังลดลง อัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด การตั้งสมมุติฐานแบบนี้ กำลังทำให้ประเทศมีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นเพิ่มขึ้น

นายศุภโชติ กล่าวในแง่กระบวนการที่ผิดพลาด ร่างแผนพลังงานชาติที่ออกมาควรครอบคลุมทั้งหมด แต่หลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงพลังงานก็ประกาศแผนซ้อนแผน มีโครงการ Direct PPA ซึ่งจะทำให้เรามีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้มากขึ้นไปอีกในอนาคต และสุดท้ายผลลัพธ์ของแผน ที่บอกว่าประเทศจะมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นอีก 8 โรงในอีก 13 ปีข้างหน้า ดังนั้นเห็นได้ว่า ร่างแผนที่ออกมากำลังนำพาประเทศไทยไปในทิศทางที่เลวร้ายกว่าเดิม ค่าไฟแพงขึ้นทุกครัวเรือนแน่นอน มีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากขึ้น ลดการปล่อยมลพิษไม่ได้ตามที่ประกาศต่อประชาคมโลก

“แม้แผนที่ออกมายังเป็นแค่ร่าง ยังแก้ไขได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันจะถูกแก้ไข และเชื่อว่าแผนพลังงานชาติคงเป็นอีกหนึ่งหัวข้อหลักที่มีการพูดคุยในปฏิญญาเขาใหญ่ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน จากรูปที่ออกมาว่อนโซเชียลมีเดีย ประชาชนกำลังสงสัยว่าแผนพลังงานชาติจะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้หรือไม่ หรือจะถูกแก้ไขเพื่อเอาใจนายทุนพลังงานเหมือนเดิม เขายังสงสัยอีกว่าใครคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่แท้จริง”

นายศุภโชติ ทิ้งท้ายว่า ขอให้ รมว.พลังงาน ยืนยันกับสภากับประชาชนที่กำลังฟังอยู่ ว่าท่านคือรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของประเทศไทย และกำลังทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เอาประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ทำงานเพื่อกลุ่มทุนใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' มองทักษิณ-อนุทิน ร่วมก๊วนกอล์ฟ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่รู้ปฏิญญาเขาใหญ่คืออะไร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย ปม 40 ส.ว. ยื่นคำร้องการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

'พีระพันธุ์' ยันเป็นรัฐมนตรีพลังงานแต่ปัญหาหมักหมมมาก่อนนั่งเก้าอี้!

'พีระพันธุ์' ย้อน 'ศุภโชติ' ยัน เป็น 'รมว.พลังงาน' มีหน้าที่กำหนดภาษี แต่คลังเป็นคนเก็บ เหตุกฎหมายกองทุนฯ ตัดอำนาจออก ต้นตอรัฐบาลติดหนี้กว่าห้าหมื่นล้าน ชี้เป็นปัญหาหมักหมมตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง

'ธนกร' ยกนิ้วหนุน 'เศรษฐา-พีระพันธุ์' สานต่อลุงตู่ตรึง 'ค่าไฟ-น้ำมัน'

'ธนกร' หนุน 'นายกฯ-พีระพันธุ์' คงมาตรการตรึงค่าไฟ-ดีเซล ช่วยกลุ่มเปราะบางและปชช.ต่อเนื่อง ย้ำ รทสช.ร่วมเดินหน้า พยุงค่าพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทยได้ดีช่วงวิกฤต