'คุยกับเศรษฐา' รัฐบาลน้อมนำโครงการพระราชดำริ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

20 ก.ค.2567 - นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 โดยกล่าวถึงการดำเนินโครงการหลัก 10 โครงการของรัฐบาล ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ว่า ถ้าเราเป็นเอกชนหรือเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ติดตามข่าว จะได้ทราบว่ามีโครงการอะไรบ้าง แต่พอลงพื้นที่จริงในฐานะนายกรัฐมนตรี ไปพร้อมคณะที่มีหลากหลายหน่วยงาน และหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการพระราชดำริ นั้น ๆ ได้มีการนำเสนอในเชิงลึก ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากที่เราจะต้องใส่ใจและใส่เงินลงไปและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปากท้อง การเปลี่ยนแปลงอาชีพ หรือการเปลี่ยนเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมายให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในแง่วิถีชีวิตในการทำกินให้เห็นชัดขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงเสด็จลงพื้นที่เยอะมาก เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่อาจจะมีความลำบาก อยู่ไกลความเจริญ ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของการประกอบอาชีพด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของน้ำ เรื่องการไม่รุกล้ำป่า เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุข การศึกษาต่าง ๆ สามารถจะร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน สามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในทุกมิติ

นายกฯ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราในฐานะพสกนิกรชาวไทยร่วมกันเฉลิมฉลองในปีมหามงคล โดยที่เราจะน้อมนำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า คน มาบรรจุเข้าไปในโครงการที่เราได้ทำขึ้นมา โดยทางรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันและคัดเลือกกว่า 600 โครงการ มาเป็น 10 โครงการหลัก ส่วนอีก 500 กว่าโครงการก็ทำอยู่ โดยมีโครงการหลัก 10 โครงการซึ่งทุกอย่างอยู่ร่วมกับ “ป่า น้ำ คน”

นายกฯ กล่าวถึงโครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอนและ Pocket Park 72 แห่ง ว่า บึงหนองบอนถ้าได้ไปดูในแผนที่กรุงเทพมหานคร จะอยู่ติดกับสวนหลวง ร.9 ซึ่งบึงหนองบอนมีพื้นที่หลายร้อยไร่ มีพื้นที่บึงอยู่แล้ว และทางรัฐบาลเองก็ได้ไปสำรวจมา อยากมีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่แห่งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีหลายท่านรวมทั้งตนเองได้ลงไปในพื้นที่ดู มีต้นไม้ มีสระน้ำที่ใหญ่ พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์สุขภาพได้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องประชาชน ถือว่าเป็นพาร์คที่ใหญ่ที่สุดใน 72 พาร์คที่จะทำ แต่ในบางพื้นที่ 72 พาร์ค บางพื้นที่อาจจะเป็นแค่พื้นที่ไร่เดียวหรือแค่ 2 งาน อยู่ตามพื้นที่ที่มีความแออัดสูง การที่เรามีพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นเหมือนกับที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุง ซึ่งในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมีความคับแคบ ก็จะเป็นที่ผ่อนคลายได้ มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีสวนสาธารณะเล็ก ๆ หรือมีสนามกีฬาเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไปได้มีการมาออกกำลังกายได้

นายกฯ กล่าวถึงโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่า ว่า เพราะสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแจกต้นกล้าซึ่งแต่ละหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีการทำไร่เลื่อนลอยต่าง ๆ เราพยายามที่จะแก้ไขตรงจุดนี้ควบคู่ไปกับเรื่องทำมาหากินด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการตัดป่าไป แต่เรามีการปลูกต้นไม้ทดแทนทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหน้าดิน หรือเป็นการทำให้เกิดฝนโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราแจกต้นกล้าไปปลูกเป็นเรื่องที่สำคัญ

นายกฯ ระบุว่าการพัฒนาหรือปรับปรุงสวนสาธารณะ ทั้งพาร์คต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งปลูกป่า ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นที่ประชาชนได้รับตรงแล้ว ยังจะเป็นการที่ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการรักษาหน้าดินที่ดี ทำให้เรามีฝนตกที่ดีพอ ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นมาได้อีก มีทุก ๆ มิติ ไม่ว่าเป็นมิติของดูแลสภาพแวดล้อม หรือเรื่องของเศรษฐกิจก็ตามที ซึ่งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมข้างต้น ล้วนเป็นการทำความดีให้กับสังคมและร่วมกันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลด้วย

นายเศรษฐา กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำของประเทศไทย ว่า ปัญหามีหลายมิติ เรื่องของไม่ท่วม ไม่แล้ง จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของรัฐบาล ทุก ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลนี้ก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น เราไม่ได้โฟกัสแค่การสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ อย่างเช่น สนามบิน หรือ แลนด์บริดจ์ ไม่ได้ดูแค่เรื่องเดียว เรื่องของการไม่ท่วม ไม่แล้งจะมีผลกระทบในเชิงบวกหรือลบ ถ้าไม่ทำพี่น้องประชาชนหลายสิบล้านคนจะเป็นอย่างไร เพราะเราพึ่งการเกษตรค่อนข้างจะเยอะ ถ้าเราดูแลให้ดีเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง ตนเองเชื่อว่าผลผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจจะมีอย่างมโหฬาร เพราะฉะนั้นในเรื่องของการดูแลในเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของการบริโภคน้ำด้วยเหมือนกัน

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า โครงการแรกที่รัฐบาลทำคือเรื่องของน้ำบาดาล ซึ่งจริง ๆ แล้วทำเยอะอยู่แล้ว แต่ว่าน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำที่ต้องพึ่งพาค่อนข้างจะเยอะ ตนเองลงพื้นที่ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เพื่อจะทำเรื่องน้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลไม่ได้แค่การขุดเจาะอย่างเดียว เรื่องของสายส่งก็เป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งที่ทำมา ทำมาหลายปีแต่สายส่งยังไม่มี ทางราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้บอกมาว่ายังขาดงบประมาณบางส่วน เราลงทุนเจาะน้ำบาดาลไปหลายสิบล้าน แต่เสียหายหลายร้อยล้าน อีกแค่ 19 ล้าน ก็ Cover ได้ 3-4 หมู่บ้าน ทำให้มีสายส่งไปที่โรงพยาบาล และโรงเรียนได้ ตรงนี้ก็จะทำคุณประโยชน์มโหฬารให้กับพี่น้องประชาชน น้ำบาดาลก็เป็นแหล่งน้ำหนึ่งที่เราทำอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดี มีแม่น้ำใหญ่ ๆ อยู่เยอะ เป็นสายเลือดที่สามารถหล่อเลี้ยงให้กับพี่น้องเกษตรกร และประชาชนคนไทยหลาย ๆ คนได้รับผลประโยชน์จากเรื่องของการมีน้ำอุปโภค บริโภค หรือเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวก็ดี แต่เรื่องของสายน้ำ หลาย ๆ สายน้ำ มีการตื้นเขิน ต้องมีการขุดลอกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ หรือว่าตะกอนที่สะสมมา ทำให้อาจจะไหลไม่ดี อาจจะไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ทำให้เกิดการตื้นเขินได้ง่าย เพราะฉะนั้นก็เป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่เราพยายามที่จะพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงสายน้ำทั้ง 72 สายน้ำนี้

นายกฯ ระบุว่า ในมิตินี้ คลองหลาย ๆ คลองที่ตนเองไปดูมากับท่านราชเลขานุการฯ ไม่ว่าจะเป็นคลองเปรมประชากรก็ตามที ที่มาจากทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ไปดูว่ามีการลอกคลอง เก็บขยะ ยิ่งพื้นที่ชุมชนที่อยู่ริมคลอง เราก็มีการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดเป็นส่วน ทำให้มีที่เดินได้ ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างมีความสุขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเข้ามาในตัวเมืองจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง หรือกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ลองไปดูวันนี้จะแปลกใจมาก เพราะคลองใสมาก และมีปลา ซึ่งทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี จริง ๆ แล้ว เราก็ทราบมาอยู่ว่าสมัยก่อนกรุงเทพมหานครเราเป็นเวนิสของภาคตะวันออกก็ว่าได้ แต่ว่าภาพลักษณ์ในช่วงหลัง ก่อนที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริมาให้ดูแลเรื่องคลองน้ำใส มันก็มีความขุ่น มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา การที่เรามาทำตรงนี้ก็สามารถทำให้คลองใสขึ้นมา ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมคลอง ไม่ใช่แค่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างเดียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ถ้าแถวคลองโอ่งอ่าง มีร้านอาหารอินเดีย มีร้านอาหารอร่อยอยู่หลาย ๆ ร้านเลยก็ว่าได้ ตรงนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี

นายกฯ กล่าวว่า การจัดระเบียบไปพร้อม ๆ กับวิถีชีวิตของผู้คน จะต้องมีการพูดคุยกัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะการที่มีชีวิตความเป็นอยู่ริมคลองอยู่แล้ว การที่เราไปขอให้เขาขยับขยาย ย้ายที่อยู่บ้าง ถึงแม้จะมีปัจจัยของเงินที่เข้ามาช่วยเหลือเขาก็ตามที ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราจะไปสั่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไปพูดคุยให้ทราบ ถ้าเกิดเราอยู่ด้วยกัน เราทำด้วยกันดี ๆ ทุก ๆ ครัวเรือนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นสัดเป็นส่วนขึ้น ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เสริมที่ดีขึ้นด้วย

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำว่า หัวใจสำคัญที่สุดจริง ๆ คือต้องเป็นความเข้าใจของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้นเหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของวิถีชีวิตในการดำรงชีวิต อย่างเช่น เรื่องของการทิ้งขยะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาเราไปบางประเทศอย่างที่มหานครเจนีวา น้ำใสแจ๋ว เราเองก็อยากให้คูคลองของเราเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งเราไปดูแล้ว ระยะหลังคูคลองของเราก็มีขยะน้อยลงไป เพราะเรามีการจัดเก็บที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีมาช่วย

นายกฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ผ่านมา ปัญหาที่สะท้อนให้เห็น หนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง คือ เรื่องสาธารณสุข เพราะฉะนั้นเรามีโครงการไปพัฒนาและเติมเต็มในแง่ของอุปกรณ์อาคารให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เราจะทำให้ในวันมหามงคล ทั้งนี้ ตนเองเพิ่งเดินทางไปที่จังหวัดสระแก้ว มีการเพิ่มอุปกรณ์และต่อเติมอาคารให้ และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ตนเองก็เดินทางไปโรงเรียนที่จังหวัดนนทบุรี ไปดูเรื่องการทำน้ำดื่มได้ในโรงเรียน

นายเศรษฐา กล่าวถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ว่า ปัญหาที่ดินทำกินยังคงเป็นปัญหา เพราะว่าสิ่งที่ทำกิน ที่ดินสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เป็นต้นทุนในการหากระแสเงินสดหรือการเลี้ยงชีพก็ได้ โดยรัฐบาลทำงานร่วมกับกองทัพไทยในการที่จะมอบที่ดิน 72,000 ไร่ให้กับประชาชน ซึ่งจะมีการ Kick off เร็ว ๆ นี้ ณ จังหวัดนครพนม

นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสำหรับกลุ่มคนพิการ โดยการจัดหากายอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ จำนวน 72,000 ชุด เพื่อให้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือทุพพลภาพ พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการบริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี
โดยเปิดให้มีการบริจาคโลหิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ ประชาชนที่สนใจอยากเป็นผู้ให้ก็สามารถไปบริจาคโลหิตได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และที่สภากาชาดไทย

นายกฯ กล่าวว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ รวมถึงโครงการอื่น ๆ ของรัฐบาลที่ได้เปิดกว้างและอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงห้างร้าน และเอกชนต่าง ๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในหลายสิบโครงการที่ได้มีการพูดถึง หรือโครงการย่อย ๆ อีก 500 กว่าโครงการ รัฐบาลขอเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมเข้ามาตรงนี้ ทั้งนี้ จากผลการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับการตอบรับด้วยดีจากทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท รัฐวิสาหกิจ เอกชนต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาสสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 10 โครงการหลักของรัฐบาล จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี และเชื่อว่าในวาระอื่น ๆ ในมิติอื่น ๆ รัฐบาลก็ยังเป็นผู้สนับสนุนเรื่องน้ำ เรื่องป่า และเรื่องคนต่อไป

“ผมเชื่อว่าการที่พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักท่านไม่ได้อยู่ในวังอย่างเดียว ท่านลงพื้นที่ค่อนข้างมาก มีการลงรายละเอียดแต่ละโครงการด้วยพระองค์เอง ทางเราเองก็มีการศึกษาติดตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เวลาที่ผมลงพื้นที่ต่างจังหวัดต่าง ๆ ได้มีการเข้าถึงและเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ที่พระองค์ท่านพยายามจะทำ รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจมีส่วนร่วมมาก และภาคเอกชน เราได้มีการพยายามเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อยอดในการทำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ” นายกฯ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพไท' เย้ยรัฐบาลเศรษฐา เป็นแค่รถเฟอร์รารี่เปลี่ยนเครื่อง

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "เทพไท-คุยการเมือง" ระบุว่า "รัฐบาลเศรษฐา : รถเฟอร์รารี่เปลี่ยนเครื่อง"

รอดูเลย รายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ เทปแรกนายกฯถอดสูทเปิดเบื้องหลังการทำงาน

‘จิราพร’ เผยรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ ออกอากาศตอนแรกเสาร์ที่ 22 มิ.ย. ทาง NBT แย้ม เทปแรกนายกฯถอดสูทเปิดเบื้องหลังการทำงาน