'รังสิมันต์-มาริษ'โต้เดือดปมธนาคารไทยมีเอี่ยวช่วยซื้ออาวุธให้รัฐบาลเมียนมา!

'โรม' จี้ถามจุดยืนประเทศ หลังมีแฉธนาคารในไทย เอี่ยวใช้ธุรกรรมการเงินฆ่าชาวเมียนมา ซัด รบ.ต้องชัดเจน ด้าน 'รมว.กต.'โต้ไม่พบหลักฐานธนาคาร-รัฐบาลไทยเข้าไปเอี่ยว รับการคว่ำบาตรเป็นเรื่องยาก

18 ก.ค.2567 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาเป็นประธานการกระชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามนายกรัฐมนตรี โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ชี้แจงแทน กรณีนโยบายของรัฐบาลต่อบริษัทที่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้สภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ตีพิมพ์รายงานชื่อ Banking on Death Trade How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญคือระบบธนาคารของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในประเทศเมียนมา และเมื่อเราไปพิจารณาถึงเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าวจะพบว่ารายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเมียนมา ได้มีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจนสามารถซื้ออาวุธไปใช้ในการสังหาร ประชาชนชาวเมียนมาผ่านระบบธนาคารของประเทศไทย โดยแต่เดิมธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างธนาคาร MFTB และ MICB ธนาคารเหล่านี้จะถูกสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศของกระทรวงการคลังสหรัฐ หรือ OFAC คว่ำบาตรไปตั้งแต่เดือนต .ค. ปี 2023 ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถจะทำธุรกรรมเหล่านี้ได้อีกต่อไป เนื่องจากการทำธุรกรรมจากเมียนมาซึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ตามประกาศของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงินระหว่างประเทศ (FATF) ธุรกรรมต่างๆที่ทำระหว่างไทยกับเมียนมา จะต้องมีการทำมาตรการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (EDD) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งหลักเกณฑ์หนึ่งคือธนาคารจะต้องหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อประเมินว่าธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ได้มีการยอมรับว่าบัญชี SND ที่ OFAC ประกาศคว่ำบาตรตลอดจนข้อมูลการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆเช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรืออียู ธนาคารจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาความเสี่ยงในการทำธุรกรรม

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานของปี 2024 คือมีธนาคารหนึ่ง โดยธนาคารนี้มีมูลค่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีอีกธนาคารหนึ่ง ไม่ใช่ทุกธนาคารของประเทศไทย ที่ธุรกรรมเหล่านั้นจะลดลง ดังนั้นจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะหากเราพิจารณาจากข้อมูลความคว่ำบาตรซึ่งเป็นไปตามระเบียบของ ปปง. ธนาคารฝั่งประเทศไทยจะต้องปฏิเสธการทำธุรกรรมและยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทดังกล่าว และการที่กระบวนการตรวจสอบ EDD ของธนาคารไทยมีความลักลั่น ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้ จะส่งผลต่อมาตรฐานทางการเงินของไทยหรือไม่ ทั้งที่ในปี 2027 ประเทศไทยจะต้องถูก FATF ประเมินว่าระบบธนาคารของไทยยังได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้เปลี่ยนมาใช้บริษัทที่ยังไม่ถูกคว่ำบาตรจาก OFAC เพื่อมาทำธุรกรรมกับธนาคารของประเทศไทย รวมทั้งเปิดบริษัทนายหน้า ซึ่งในรายงานปี 2024 ก็ได้บอกว่าบริษัทไทยอย่างน้อยสองบริษัท อาจเป็นนอมินีของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และในส่วนของธนาคารก็ปรากฏชื่อของธนาคาร MEB และ MADB ที่รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกใช้บริการแทนธนาคารที่ถูกคว่ำบาตร โดยที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่เป็นธนาคารของประเทศไทยได้ยอมรับใน กมธ.ความมั่นคงฯ ว่า บัญชีของ MEB ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน แต่มีมูลค่าไม่มาก ซึ่งเรื่องมีมูลค่ามากหรือน้อยไม่สำคัญ เพราะสิ่งสำคัญคือมีการใช้ธุรกรรม ลักษณะนี้ในการไปเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ผ่านระบบธนาคารของพวกเรา

“ประเทศไทยจึงไม่ควรที่จะมีความสัมพันธ์ หรือสานสัมพันธ์ เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ฉะนั้นคำถามคือ ความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้จุดยืนคืออะไร และในการประชุมกมธ.ความมั่นคงฯ ที่ผ่านมา เราได้รับสัญญาณบวกจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเราพบว่าหลายหน่วยงานมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ และเป็นการส่งสัญญาณที่บวกมาก และประเด็นปัญหาคือแม้จะมีความตั้งใจ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำยืนยันหรือมีข้อสั่งการที่ชัดเจนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนกฎเกณฑ์ที่มี หน่วยงานต่างๆก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็นได้“นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าหน่วยงานของรัฐพร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมา ใช้ธุรกรรมทางการเงินของประเทศไทยซื้ออาวุธไปใช้สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรต่อจากนี้ รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว และได้มีการตรวจสอบไปแล้วหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วมีผลการตรวจสอบอย่างไร

นายรังสิมันต์ถามต่อว่า ก่อนที่จะเกิดรายงานฉบับดังกล่าวขึ้นมีรายงานฉบับหนึ่งได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นของปี 2023 แต่เป็นข้อมูลของ 2022 ซึ่งในขณะนั้นสิงคโปร์เป็นแหล่งจัดซื้ออาวุธที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 3 ให้แก่รัฐบาลเมียนมา แต่หลังจากที่มีการตรวจสอบโดยรัฐบาลสิงคโปร์ส่งผลให้การจัดซื้ออาวุธที่เคยได้ทำผ่านบริษัทผ่านสิงคโปร์ จากเดิมคือราวๆ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือแค่เพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งเป็นการลดลงกว่า 90% และสัดส่วนการทำธุรกรรมของ รัฐบาลทหารเมียนมาที่ทำผ่านสถาบันการเงินของสิงคโปร์ในปี 2022 จากเดิมสัดส่วนกว่า 70% เหลือเพียง 20% ในไตรมาสแรกของปี 2023 ดังนั้นถ้าเราจะพิจารณาจากตัวเลขของประเทศไทย ซึ่งจริงๆแล้วต้องให้ความเป็นธรรมกับนายมาริษ เพราะตอนนั้นยังไม่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งการที่มีรายงานฉบับแรกออกมา เราควรที่จะมีการกระตือรือร้นในการดำเนินงานแก้ปัญหานี้ แต่ในเมื่อมีรายงานฉบับที่สองออกมาแล้วเราก็ควรทำหน้าที่นี้ให้เกิดขึ้นสำเร็จได้แล้ว เพราะถ้าเราไปดูตัวเลขที่ออกมาจากเดิมการจัดซื้ออาวุธ ที่ทำผ่านบริษัทไทย เดิมคือ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2022 ปรากฏว่าเพิ่มขึ้น 100% เป็น 130 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2023 โดยมีธนาคารประมาณ 5 แห่งของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วเคยงดออกเสียงให้กับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ เมื่อปี 2021

“แน่นอนว่าจุดยืนลักษณะแบบนั้น ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วประเทศไทยในวันนี้ในรัฐบาลใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน จะมีจุดยืนอย่างไร และท่านเองก็มีนโยบายว่าอยากให้ประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ถ้าเรายังเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างประชาชนผู้บริสุทธิ์แบบนี้ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และอยากให้ความชัดเจนว่าจุดยืนของรัฐบาลนี้ในการที่จะไม่สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาจะเป็นจุดยืนแบบนี้ใช่หรือไม่”นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายมาริษชี้แจง ว่าในเรื่องความชัดเจนของนโยบายและจุดยืนในการสนับสนุน รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนและขอยืนยันว่าเราไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ธุรกรรมของธนาคารไปในการกระทำการที่เป็นการขัดต่อกฎบัติขงองค์การระหว่างประเทศหรือสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามเราเคารพในการที่เรามีความสัมพันธ์กับประเทศทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ในส่วนเรื่องการดำเนินการและติดตามทางกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง และได้ดำเนินการสอบถามไปแล้ว

นายมาริษ กล่าวต่อว่าในกรณีที่เอกสารรายงานของนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา จัดทำขึ้น เป็นเอกสารประกอบการประชุม และมีการระบุอย่างชัดเจนในรายงานดังกล่าวว่า ไม่พบหลักฐานที่ระบุว่าธนาคารไทยที่ถูกอ้างถึงในรายงานรับรู้ว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็นการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ หรือมีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สุดท้าย และไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้เกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าว แม้ในรายงานที่เป็นเอกสารประกอบการประชุม และไม่มีหลักฐานระบุว่าสถาบันการเงินของไทยรับรู้เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และทางการไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และออกคำแถลงชี้แจงหลายครั้ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และปปง. แถลงว่ามีมาตรฐานทางการเงินและไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธ ให้แก่องค์กรทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน ห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธ ที่จะไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และอธิบดีกรมสารนิเทศน์และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ โดยย้ำท่าทีตามคำชี้แจงอละแถลงการณ์ของ ธปท. และปปง. รวมทั้งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งด้วย

รมว.การต่างประเทศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เอกอัคราชทูตผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา ได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำท่าทีตามถ้อยแถลงของ ธปท.ปปง.และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของไทย รวมทั้งได้ยืนยันนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนษยชน ไม่สนับสนุนการใช้ธุรกรรมของธนาคาร ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไปสังหารประชาชนประเทศใดก็ตาม รวมทั้งผู้แทนถาวรไทยฯได้แจ้งให้ทราบด้วยว่าหากผู้เสนอรายงานพิเศษให้ข้อมูลของบริษัทหรือธุรกรรมที่ชัดเจน ทางการไทยก็พร้อมตรวจสอบเพิ่มเติม นอกจากนั้นผู้เสนอรายงานพิเศษยอมรับเองด้วยวาจาการตรวจสอบทางการเงินดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และแสดงความยินดีที่ทางการไทยรับทราบและมีคำชี้แจงอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายไทยเกี่ยวกับแนวทางในการตรวจสอบหากมี และหากนายทอม แอนดรูว์ส มีข้อมูลเพิ่มเติมทางการไทยก็ยินดีรับฟัง และนำมาใช้ในการตรวจสอบ

“ผมขอเรียนว่าเคยมีหลายกรณีที่มีการร้องเรียนจากต่างประเทศ และผู้ร้องเรียนมีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินธุรกรรมของบริษัทในประเทศไทย ที่เข้าข่ายการทำธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือใช้ไปในการซื้อขายอาวุธ หรือสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดใดๆก็ตาม รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมา และมีการตรวจสอบ ขอให้บริษัทดังกล่าวระมัดระวังการกระทำนั้นๆ ซึ่งในกรณีนี้ได้มีการเรียกประชุมและได้มอบหมายให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะธนาคารของไทยที่ได้รับคำร้องขอ ได้ตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดได้ทำตามกระบวนการตามมาตรฐานสากลเรียบร้อย อย่างไรก็กระทรวงการต่างประเทศเรียกประชุมในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้น รวมทั้งจะมีการตรวจสอบและตักเตือนให้ระมัดระวังการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อไป”นายมาริษ กล่าว

นายมาริษ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องของผู้เสนอรายงานพิเศษที่มีนัยยะมุ่งสู่เป้าหมายที่ให้มีการยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับลูกค้า วิสาหกิจ หรือธนาคารที่ทางการเมียนมาเป็นเจ้าของ หรือมีการติดต่อด้วย เป็นเสมือนข้อเรียกร้องให้ไทยมีมาตรการคว่ำบาตร แซงชั่น ทางการเมียนมา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเราก็ไม่ต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอนาคต จึงขอเรียนว่าประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องของมนุษยธรรม คำนึงถึงผลกระทบของการคว่ำบาตร ต่อประเทศเมียนมา เนื่องจากใช้มาตรการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชนชาวเมียนมา ที่ประสบความยากลำบากมากอยู่แล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ มีการค้าขายชายแดนระหว่างกัน จึงต้องรักษาความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

“เมื่อในรายงานไม่มีการพบหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่าธุรกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการซื้อขายอาวุธโดยตรงหรือมีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ และไม่มีหลักฐานระบุได้ว่ารัฐบาลไทยมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว แต่เป็นเพียงการอนุมาณสร้างสมมุติฐานของผู้เสนอรายงานเท่านั้น ดังนั้นหน้าที่ของผมในฐานะรมว.การต่างประเทศ ก็ต้องชั่งน้ำหนักและดำเนินการใดๆเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย และธนาคารไทย รวมทั้งรักษาสิทธิและเกียรติภูมิของประเทศ เมื่อไม่มีหลักฐานชี้ชัดผมก็ต้องปกป้องผลประโยยช์ของพี่น้องชาวไทยอย่างเต็มที่ และจะพยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใสที่สุด”นายมาริษ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรม' หวังปาฏิหาริย์ไม่กี่ชั่วโมง ก่อน 'คดีตากใบ' หมดอายุความ

นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

'ปชน.'ซัดภาษีรถติดเหมือนหาเงินให้เอกชน 'รมช.คมนาคม' โต้อย่ามองหาเงินให้ใคร

เด็ก ปชน. ตั้งกระทู้ถามสดเก็บภาษีรถติดซื้อคืนรถไฟฟ้า กังขา 'เพื่อไทย' หาเงินให้เอกชน ด้าน 'รมช.คมนาคม' แจงนายกฯมอบศึกษารูปแบบ-วิธีการ ลั่นเอื้อนายทุนไม่ได้ เหตุมีกลไกตรวจสอบเพียบ